ภารกิจที่เชียงราย

จังหวัดเชียงราย – เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมแถลง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 : ภาคเหนือ” และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับพัฒนาการทางการศึกษา” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รวมทั้งได้ไปพบปะสนทนากับคณาจารย์และลูกหลานนักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม และโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย



เปิดการประชุมแถลง เรื่อง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579: ภาคเหนือ


เวลา 09.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธานเปิดการประชุมแถลง เรื่อง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579: ภาคเหนือ” และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการศึกษา” โดยมีนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา, รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด, คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.), ผู้บริหารสถานศึกษา, ครูอาจารย์, หัวหน้าส่วนราชการ, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, นักวิชาการ ตลอดจนเครือข่ายประชารัฐด้านการศึกษา เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน ณ โรงแรมโพธิ์วดลรีสอร์ทแอนด์สปา อำเภอเมืองเชียงราย



ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวแสดงความยินดีที่ได้เดินทางมาพบปะผู้บริหาร ครู คณาจารย์ ลูกหลานนักเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายอีกครั้ง ซึ่งเป็นจุดที่ 4 ของการแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 โดยมียุทธศาสตร์ดำเนินงาน 6 ประการ คือ 1) การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ 2) การผลิตและพัฒนากำลังคน งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 3) พัฒนาศักยภาพคนในทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 4) การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา 5) การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี


ในโอกาสที่ได้มาพบปะครั้งนี้ ขอฝากแนวคิดและประเด็นต่าง ๆ ให้ช่วยขบคิด เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าทันสมัยในหลายประเด็น ดังนี้




  • การน้อมนำศาสตร์พระราชา “ความเพียร” สู่สังคมการศึกษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานคำสอนในเรื่องของ “ความเพียร” ไว้ หากเราได้น้อมนำไปปฏิบัติในการที่จะหมั่นขวยขวายและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาตราบเท่าชีวิตของเรา ก็จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมของนักการศึกษา ที่มุ่งมั่นแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งกันและกัน และเมื่อนำมาผนวกกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โซเชียลมีเดีย ด้วยแล้ว ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ และเกิดนวัตกรรมการศึกษาที่เข้าถึงได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น



  • แปลงแผนการศึกษาชาติไปสู่การปฏิบัติ ขอฝากให้ทุกคนนำแผนการศึกษาแห่งชาติแปลงเป็นแผนปฏิบัติ ที่มีตัวชี้วัด มีการติดตาม และมีการประเมินผลที่ชัดเจน เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ พร้อมย้ำให้ช่วยปลูกฝังคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมการศึกษาเป็นลำดับแรก ๆ เพราะคุณธรรมจะเป็นส่วนช่วยยกระดับสิ่งอื่น ๆ ตามมาโดยปริยาย ทั้งการศึกษาที่มีมาตรฐาน การเรียนรู้ด้วยความตั้งใจสุจริตใจ สามารถนำความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติ ตลอดจนการบริหารจัดการสถานศึกษาให้อยู่ในความเรียบร้อยและโปร่งใส



  • เน้นอบรมบ่มสอน “รู้เท่าทันสื่อ”  จากข้อมูลพฤติกรรมการอ่านในปัจจุบัน พบว่าเยาวชนอายุ 15-24 ปี จะใช้เวลาในการอ่านมากที่สุด 94 นาทีต่อวัน รองลงมาคือเด็กอายุ 6-14 ปี จะใช้เวลาอ่าน 71 นาทีต่อวัน โดยส่วนใหญ่อ่านข้อความจากสื่อออนไลน์มากที่สุด ร้อยละ 83.3 ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับด้านความบันเทิง สันทนาการ เกมส์ ที่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมทักษะด้านการคิด ด้านการวิเคราะห์แต่อย่างใด อีกทั้งยังนำไปสู่คดีอาชญากรรม การล่อลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย จึงขอฝากให้เป็นหน้าที่ของครูอาจารย์ ที่จะต้องอบรมบ่มสอนให้ลูกหลานมีวิจารณญาณ รู้เท่าทันเทคโนโลยี มีภูมิคุ้มกันในการใช้สื่ออย่างถูกทิศทางด้วย



  • ฟื้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ขอให้ช่วยขบคิดพิจารณาฟื้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน (Life Learning) ทั้งพิพิธภัณฑ์ในระดับจังหวัดและระดับชาติ สถานที่สำคัญ หรือแหล่งศึกษาในท้องถิ่นในจังหวัดของตนเอง ซึ่งระยะหลังห่างหายไปมาก โดยผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่าง ให้ลูกหลานนักเรียนได้ทำตาม เพื่อจะได้ซึมซับประวัติศาสตร์ รู้ที่มาที่ไป ทำให้เกิดความรู้สึกรักและหวงแหนถิ่นที่อยู่ บุพการี และครูอาจารย์ จนนำไปสู่การมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตนตามวิถีทางที่พอจะทำได้



  • การจัดทำฐานข้อมูลบุคลากร  ขอให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลของครูและนักเรียนด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่สามารถเข้าถึงและสืบค้นได้โดยง่าย ทั้งประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษาและการทำงาน การพัฒนาและฝึกอบรม การลา การประเมินผล เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตลอดจนรางวัลเชิดชูเกียรติ และอื่น ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และมีความปลอดภัยสูงด้วย



  • ควรเรียนรู้บทเรียนในอดีตเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา  ท้ายสุดนี้ฝากให้ช่วยกันเรียนรู้อดีตที่ผ่านมา เพราะประเทศเราเผชิญปัญหาและได้รับบทเรียนจากหลากหลายเรื่องราว ควรนำประสบการณ์ต่าง ๆ มาแก้ไขปรับปรุงเพื่อประโยชน์กับลูกหลานนักเรียน ทั้งด้านการศึกษา ด้านการสอนศีลธรรมจรรยา ที่จะทำให้บ้านเมืองเราและสังคมเป็นสุข และหวังที่จะเห็นทุกคนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่อย่างพอเพียง (Simple Life) รักใคร่สามัคคี มีความเรียบร้อยทั้งทางความคิดและการกระทำ เพื่อให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น เมื่อนั้นเด็กที่คอยเฝ้ามอง คอยเลียนแบบผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็จะได้เห็นแบบอย่างที่ดีให้ได้ทำตาม



พบปะสนทนาและมอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม ที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม และโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์


ในวันเดียวกัน ช่วงเวลาหลังเคารพธงชาติ (8.00 น.) ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้พบปะสนทนากับผู้บริหาร ครู และนักเรียน และมอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม ที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จากนั้นในช่วงบ่าย (13.00) ได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม และบรรยายพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการศึกษา” ที่โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ อำเภอเมืองเชียงราย


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า มีความยินดีที่มีโอกาสมาเยือนโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายอีกครั้ง ด้วยความระลึกและคิดถึงเสมอ มาครั้งนี้ต้องการย้ำเกี่ยวกับการทำดีเพื่อพ่อหลวง คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเหน็ดเหนื่อยตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย ดังนั้น ลูกหลานในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง ต้องเร่งทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล โดยให้ความร่วมมือกับครูอาจารย์และโรงเรียนในการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณธรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามพระราชประสงค์ของพระองค์


ทั้งนี้ เชื่อว่าด้วยบุคลิกของคนไทยแล้ว การทำความดีเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก หากเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจ หมั่นศึกษาขวนขวาย และทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ความเจริญรุ่งเรืองก็จะเกิดขึ้นกับตัวเรา นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของบุพการีและครูอาจารย์


ขอฝากข้อคิดไว้กับลูกหลาน ในเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ การสร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้ตามความถนัด มากกว่าเพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากจะช่วยริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ จากจุดแข็งที่เรามีคือ ความคิดสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยยกระดับความงดงามของท้องถิ่น ชุมชน จังหวัด ตลอดจนของประเทศชาติ ออกสู่สายตาสาธารณชนในวงกว้างมากขึ้น





“โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม” ได้รับจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2451 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนประจำจังหวัดเชียงราย สามัคคีวิทยาคม” ณ เชิงดอยวัดงำเมือง โดยเปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษา ต่อมาในปี 2480 เปิดสอนวิชาสามัญถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบเพิ่มเติม จากนั้นในปี 2512 ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนมัธยมศึกษาแบบประสม พร้อม ๆ กับโรงเรียนได้มีการพัฒนาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและอาคารสถาน ที่มีพัฒนาการมาตามลำดับ จนกระทั่งปี 2542 ได้รับอนุญาตหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และริเริ่มดำเนินโครงการหลักสูตรพิเศษภาคภาษาอังกฤษ


ปัจจุบันโรงเรียนตั้งอยู่ที่ 159 ถนนบรรพปราการ ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มี ดร.ธวัช ชุมชอบ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน โดยมุ่งจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูวัฒนธรรม เลิศล้ำวิชาการ ตามมาตรฐานสากล ตาม Motto ที่ว่า “Samakkhiwitthayahom School is the smartest school through excellence, and beyond.”

ปรัชญา: เรียนเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม นำพัฒนา รู้รักสามัคคี มีความรู้คู่คุณธรรม สอนศิษย์เลิศล้ำ นำชาติพัฒนา
คติธรรม: สามัคคีคือพลัง
อัตลักษณ์: มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ มุ่งสู่สากล
เอกลักษณ์: เป็นเลิศวิชาการ สืบสานวัฒนธรรมล้านนา
สีประจำโรงเรียน: สีขาว-น้ำเงิน




“โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย” เดิมชื่อโรงเรียนสตรีจังหวัดเชียงราย “ดำรงราษฎร์สงเคราะห์” เป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดทำการสอนตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2476 ต่อมาในปี 2502 ได้อนุมัติให้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ โดยจัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา นับเป็นโรงเรียนแรกของจังหวัดเชียงรายที่เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา (มัธยมศึกษาตอนปลาย) และในปี 2524 ได้เปิดสอนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจนถึงปัจจุบัน


ปัจจุบันโรงเรียนเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีจำนวนนักเรียน 2,981 คน มีผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ รวม 216 คน มีนายอดุลย์ นันท์บัญชา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน


วิสัยทัศน์: เป็นผู้นำในการพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพและเทียบเคียงมาตรฐานสากล มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ บนพื้นฐานความเป็นไทย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ
ปรัชญา: ความรู้ดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
เอกลักษณ์: คุณธรรมนำชีวิต พัฒนาศิษย์ด้วยจริยธรรม
สีประจำโรงเรียน: สีน้ำเงิน-เหลือง



นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
30/6/2560