เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์ของพระราชา” ในกิจกรรมสัปดาห์หนังสือและวรรณกรรม ครั้งที่ 34 ณ หอประชุม 100 ปี โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ โดยนายพูลศักดิ์ จิตสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ตลอดจนประธานคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองนักเรียนและเครือข่าย ผู้แทนมูลนิธิโรงเรียนวัดนวลนรดิศ คณะครู และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนกว่า 400 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า มีความยินดีเป็นอย่างมาก เมื่อได้รับเชิญมาบรรยายเรื่อง “ศาสตร์พระราชา” และยิ่งดีใจและเกิดความภาคภูมิใจมากขึ้นไปอีกเมื่อได้รับชม-รับฟังการนำเสนอของนักเรียนเกี่ยวกับนิทรรศการศาสตร์พระราชา พระราชกรณียกิจ และพระราชดำรัสคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งนักเรียนสามารถอธิบายได้อย่างฉะฉานด้วยความเข้าอกเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ เพียงเท่านี้พระองค์ก็จะสถิตเสถียรอยู่กับเราตลอดไป แต่หากพูดด้วยความไม่เข้าใจหรือละเลยที่จะนำไปปฏิบัติ เมื่อนั้นคำสอนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขานเท่านั้น
ขอชื่นชมโรงเรียนที่จัดกิจกรรมสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการอ่านครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่าโรงเรียนเองก็มีความภาคภูมิใจ ทั้งในความเป็นโรงเรียนเก่าแก่ สามารถอบรมสั่งสอนลูกหลานนักเรียนให้เติบใหญ่เป็นผู้มีการงานอาชีพที่เจริญก้าวหน้า และอยู่ในตำแหน่งสำคัญของประเทศ อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นในวันนี้คือ ความรู้ความสามารถของนักเรียน ทั้งในเรื่องภาษาต่างประเทศ ความสนใจทางด้านงานวิชาการ รวมทั้งการเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนและหมั่นอ่านเขียน โดยเฉพาะเรื่องของการอ่านหนังสือ เป็นศาสตร์ของการเรียนรู้ที่ควรดำรงคู่สังคมไทย เพื่อสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป เพราะการอ่านจะทำให้เรารู้ เกิดความเข้าใจ และจดจำเรื่องต่าง ๆ ได้โดยตลอด อีกทั้งยังสามารถจดบันทึกหรือทำสัญลักษณ์เตือนความจำเมื่อกลับมาอ่านอีกครั้ง ในขณะที่การอ่านจากสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการอ่านอย่างสั้น อ่านแบบผ่าน ๆ อาจไม่สามารถจดจำได้ครบทุกเรื่อง
ดังนั้น การรณรงค์การอ่านหนังสือของโรงเรียนวัดนวลนรดิศ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการปลูกฝังให้นักเรียนรักการอ่าน และหากเป็นไปได้ ต้องการให้เกิดสังคมแห่งการอ่านเช่นนี้ในหมู่ของเด็กและเยาวชนโรงเรียนอื่น ๆ ด้วย
ม.ล.ปนัดดา ได้กล่าวฝากถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลายด้วยว่า เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “ครู” ย่อมหมายถึงผู้มีพระคุณ มีความเมตตากรุณาต่อศิษย์ทุกคน ตลอดจนมีความเสียสละอดทน เพื่อสั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดี เติบโตเป็นกำลังสำคัญเพื่อไปสร้างชาติในอนาคต โดยที่ในอดีตเป็นธรรมชาติของครูที่ต้องใช้ไม้เรียว เพื่อกำราบเด็กไม่ให้ทำผิด ให้อยู่ในระเบียบวินัย มีความเคารพครูบาอาจารย์ ตรงต่อเวลา แต่งกายสุภาพเรียบร้อย ต้องเรียนลูกเสือเนตรนารีเพื่อฝึกฝนความมีวินัย ให้มีความรักความสามัคคีกัน เป็นต้น อีกทั้งเป็นการทำโทษเพื่อป้องปราม จะไม่มีความรุนแรงแต่อย่างใด หากจะเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา เช่น ตีเพราะท่องสูตรคูณผิด ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่ส่งการบ้าน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องยอมรับว่า กลับกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความดีงามด้านต่าง ๆ ให้เด็กสามารถก้าวเดินไปสู่ทิศทางที่ควรจะเป็นและถูกต้อง แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า การทำโทษเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถใช้ไม้เรียวได้แล้ว รวมทั้งมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังที่เป็นข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ มิใช่ทำโทษเพื่อป้องปราม แต่เป็นความรุนแรงเสมือนการนำอารมณ์มาปล่อยกับลูกศิษย์ของตน
ดังนั้น ในเรื่องนี้เราต้องช่วยขบคิดร่วมกันและทำความเข้าใจให้ได้โดยทั่วกันถึงวัตถุประสงค์และขอบเขตของการทำโทษ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอีกต่อไป
นางสาวพิไลลักษณ์ ชุมสาย ณ อยุธยา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้กล่าวถึงเรื่อง “ศาสตร์พระราชา” เกี่ยวกับการนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวคิดในการจัดกิจกรรมสัปดาห์หนังสือและวรรณกรรมในครั้งนี้ว่า “ได้นำความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวันและจัดเป็นนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ให้เพื่อน ๆ ในโรงเรียนได้มาดูมาศึกษา ซึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักคิดในการแบ่งพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยตามอัตราส่วน โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน (อัตราส่วน 30:30:30:10) โดยส่วนที่ 1 ขุดเป็นบ่อน้ำ เก็บไว้ใช้เพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี ส่วนที่ 2 ใช้สำหรับปลูกข้าว ส่วนที่ 3 ใช้สำหรับการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสวน พืชไร่ และสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหาร เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และนำไปขายได้เมื่อมีมากเพียงพอ ส่วนสุดท้าย ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย”
นายเศรษฐศาสตร์ ศิริกุลวิวัฒน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กล่าวว่า “จากการรับฟังบรรยายในครั้งนี้ ยิ่งรู้สึกประทับใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่ตัวผมจะสามารถนำไปเล่าให้คนอื่นฟัง ว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับประเทศไทย ส่วนเรื่องของศาสตร์พระราชา สิ่งที่จะนำมาปรับใช้ก็คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งที่บ้านของผมก็ปลูกพืชผักสวนครัว และนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้อีกด้วย”
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
23/8/2560