ภารกิจที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

จังหวัดตากพล.อ.สุรเชษฐ์
ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่อำเภอแม่สอด
เมื่อวันศุกร์ที่
17 มีนาคม 2560 เพื่อเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วยกระบวนการพัฒนาสมองส่วนหน้าเด็กปฐมวัย
(Executive Function: EF) ณ โรงเรียนแม่สอด พร้อมทั้งติดตามโครงการโรงเรียนต้นแบบ
2 แห่ง คือ โรงเรียนต้นแบบทุนอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน และโรงเรียนต้นแบบเน้นทักษะผู้เรียนที่จำเป็นในอนาคต

เปิดเวิร์คช็อปกระบวนการพัฒนาสมองส่วนหน้าเด็กปฐมวัย
: EF”
ณ โรงเรียนแม่สอด

เมื่อเวลา 9.00 น. พล.อ.สุรเชษฐ์
ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วยกระบวนการพัฒนาสมองส่วนหน้าเด็กปฐมวัย

(Executive Function: EF) ณ โรงเรียนแม่สอด โดยมีนายเจริญฤทธิ์
สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
, ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,
นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
(ผอ.สพป.) ตาก เขต
2 ตลอดจนผู้บริหารการศึกษา คณะวิทยากร
และผู้รับการอบรม เข้าร่วมกว่า
160 คน

นายอโณทัย
ไทยวรรณศรี
กล่าวว่า ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กเล็กในช่วงก่อนปฐมวัย
เพราะงานวิจัยพบว่าสมองของมนุษย์มีช่วงพัฒนาการที่สำคัญที่สุด คือในช่วง
2-3 ปีแรกของชีวิต
โดยสมองจะเจริญเติบโตถึงร้อยละ
80 ของสมองผู้ใหญ่ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วยกระบวนการพัฒนาสมองส่วนหน้าเด็กปฐมวัย
หรือ

Executive Function (EF) เพื่อให้เป็นทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ ประกอบด้วยการพัฒนา
9 ด้าน คือ

1) การเรียนรู้จากประสบการณ์ที่หลากหลาย จนเกิดเป็นความจำที่นำมาใช้งานต่อไป
ไม่ใช่การท่องจำแบบตายตัว แต่สามารถพลิกแพลงและประยุกต์ใช้ได้

2) การยั้งคิดไตร่ตรอง เป็นทักษะการเผชิญสถานการณ์ต่าง
ๆ ที่จะต้องคิดไตร่ตรองก่อนทำ-ทำแล้วเกิดเหตุเกิดผลอย่างไร-มีความเข้าใจก่อนตัดสินใจทำ

3) ทักษะคิดแบบยืดหยุ่นตามสถานการณ์ สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่
21 ที่คนจะต้องปรับตัวได้ง่ายและทำให้ชีวิตมีความสุขง่ายขึ้น

4) ใส่ใจจดจ่อ เป็นเรื่องที่สำคัญสำคัญมาก
ที่จะต้องสร้างให้เด็กมีสมาธิ มีความใส่ใจจดจอกับสิ่งที่ทำ
มิฉะนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ

5) การควบคุมอารมณ์ (Emotional
Quotient: EQ)
ที่จะต้องฝึกให้เด็กควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ให้ได้
โดยเฉพาะความโกรธ ความไม่พึงพอใจ เป็นต้น

6) การประเมินตัวเอง ต้องฝึกให้เด็กมีทักษะเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองตั้งแต่เล็ก
ๆ เพื่อพัฒนาต่อไปถึงการทำงาน เด็กต้องบอกได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร
หากทำได้จะนำไปสู่การมีความภาคภูมิใจและรู้จักคุณค่าของตัวเอง

7) การริเริ่มสิ่งใหม่ ต้องมีความกล้าคิดกล้าทำ
ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

8) การวางแผน ซึ่งแม้จะเป็นเด็กเล็ก
ๆ ก็สามารถฝึกให้วางแผนได้

9) ความพากเพียร เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จสำหรับยุคศตวรรษที่
21 ที่คนต้องทำในสิ่งที่ยาก เหนื่อย ล้มแล้วต้องลุกได้ ซึ่งต้องสร้างให้เด็กมีแรงบัลดาลใจพร้อมทักษะเรียนรู้ที่จะลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้เรียนด้วยกระบวนการพัฒนาสมองส่วนหน้าเด็กปฐมวัย (EF) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศึกษานิเทศก์
ผู้อำนวยการโรงเรียน ตลอดจนครูปฐมวัย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาสมองส่วนหน้าเด็กปฐมวัย
เพื่อให้เกิดทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ (
EF) ให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของทักษะสมองและสามารถนำความรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ตลอดจนเพื่อให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วางยุทธศาสตร์และแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่โดยรวมโดยใช้ความรู้เรื่องทักษะสมอง

(EF) เป็นฐานให้เกิดประสิทธิผล โดยกำหนดจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนฯ
ให้กับกลุ่มเป้าหมาย
750 คน แบ่งเป็น 5 รุ่น ดังนี้

  • รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม
    2560 ที่โรงเรียนแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
    มีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนระดับปฐมวัยสังกัด สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
    (สช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตลอดจนมีผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ นายประสิทธิ์
    หนูกุ้ง ผู้อำนวยการ สพป.สงขลา เขต
    3, ศึกษานิเทศก์จาก สพป.ยะลา
    เขต
    1 และคณะ

  • รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่
    3-4 เมษายน 2560 ที่โรงเรียนบ้านแม่กลองใหม่
    อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก

  • รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่
    6-7 เมษายน 2560 ที่โรงเรียนชุมชนบ้านแม่ต้าน
    (ราษฎรบำรุง) อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

  • รุ่นที่ 4 ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน
    2560 ที่โรงเรียนแม่ระมาดราษฎร์บำรุง อำเภอแม่ระมาด
    จังหวัดตาก

  • รุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่
    24-25 เมษายน 2560 ที่โรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ
    อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

    สำหรับวิทยากรที่มาบรรยายให้ความรู้
    ประกอบด้วย ผศ.วิริยาภรณ์ อุดมระติ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการ
    ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    , พ.อ.(พิเศษ)
    สันดุษิต ดีบุกคำ วิทยากรกระบวนการ
    , นางสุภาวดี หาญเมธี
    ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) และ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร
    สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

    พล.อ.สุรเชษฐ์
    ชัยวงศ์
    กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า จากการที่ได้มีโอกาสพบ พ.อ.(พิเศษ) สันดุษิต
    ดีบุกคำ วิทยากรกระบวนการ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ได้รู้จักกับกระบวนการพัฒนาสมองส่วนหน้าเด็กปฐมวัย
    เพื่อให้เกิดทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ หรือ
    EF จึงได้หารือร่วมกับ สพฐ.
    โดยทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกันว่า กระบวนการดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก
    จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วยกระบวนการ
    EF ในครั้งนี้ขึ้น

    นอกจากนี้ ได้รับมอบหมายจาก
    รมว.ศึกษาธิการ ให้รับผิดชอบงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และล่าสุดคืองานพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดน
    เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาที่จะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
    ซึ่งจังหวัดตากเป็น
    1 ใน 4 จังหวัดนำร่องของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดน
    (เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก) และอำเภอแม่สอดยังเป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษฯ
    ที่ยังจะต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้สูงขึ้น
    รวมทั้งแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้อย่างเข้มแข็งด้วย

    ดังนั้น ถือว่าการดำเนินงานในส่วนที่รับผิดชอบมาถูกทาง
    ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของรัฐบาล
    จึงขอให้ผู้บริหารทุกคนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาระดับเด็กปฐมวัยในครั้งนี้
    มุ่งมั่นตั้งใจไปสู่จุดหมายที่วางไว้ ส่วนผู้เข้ารับการอบรมขอฝากแนวคิดไว้ว่า
    ให้ช่วยกันวางแผนที่เกี่ยวข้อง
    ต้องสร้างเครือข่าย มีความต่อเนื่อง
    โดยลำดับแรกต้องพยายามศึกษาหาความรู้ต่าง
    ๆ ให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ นำความรู้ไปใช้งานและต่อยอดขยายผลตามหน้าที่ ที่สำคัญคือควรสร้างเครือข่ายการทำงาน
    เพราะกระทรวงศึกษาธิการทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเครือข่ายทั้งในโรงเรียน ในกลุ่มโรงเรียน
    ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนผู้นำศาสนา
    (ถ้ามี)
    เชื่อว่าทุกคนคงจะใช้เวลาเรียนรู้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อให้สมควรแก่ความตั้งอกตั้งใจและเสียสละเวลาของวิทยากร
    ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถและประสบการณ์ที่มาให้ความรู้ครั้งนี้

    ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ
    จะดูแลและสนับสนุนการทำงานตามนโยบายของ สพฐ.
    ตลอดจนเชื่อมโยงและร่วมทำงานในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาคกับอีก
    3 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข
    และกระทรวงมหาดไทย อย่างต่อเนื่องต่อไป

    นอกจากนี้ ขอเรียนให้ทราบเกี่ยวกับภาพรวมนโยบายการจัดการศึกษาว่า
    ปัจจุบันรัฐบาลได้ร่างกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ
    20 ปี
    เสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อที่จะประกาศใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
    ส่วนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.
    2560-2579 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
    โดยมีสาระสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยซึ่งหมายรวมถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วย


    ติดตามผลดำเนินงานโรงเรียนต้นแบบทุนอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน
    ตามศาสตร์พระราชา”

    ณ โรงเรียนบ้านปางส้าน

    ต่อมาเมื่อเวลา 10.30 น.
    พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ติดตามผลการดำเนินงานโรงเรียนต้นแบบโครงการทุนอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน
    ตามศาสตร์พระราชา ของโรงเรียนบ้านปางส้าน ตำบลด่านแม่ละเมา พร้อมร่วมพิธีส่งมอบโครงการทุนอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน
    โดยมีนายภานิต ภัทรสาริน รองผู้อำนวยการ ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
    (ธ.ก.ส.)
    , นายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอด, นางอนงค์ ศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปางส้าน ตลอดจนผู้ปกครอง
    ผู้นำชุมชน และนักเรียน ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม

    นายภานิต
    ภัทรสาริน
    กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
    ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์อย่างเต็มศักยภาพ
    โดยเฉพาะทางร่างกายที่เด็กควรจะได้รับอาหารที่ดีมีประโยชน์ทางโภชนาการเป็นลำดับแรก
    เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ตามมา

    ดังนั้น ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง
    ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง
    9 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์,
    พิษณุโลก, ตาก, สุโขทัย,
    กำแพงเพชร, นครสวรรค์, อุทัยธานี,
    พิจิตร และเพชรบูรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการจัดโครงการทุนอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน
    โดยทำการคัดเลือกโรงเรียนเพื่อเป็นต้นแบบจำนวน
    9 แห่งใน 9
    จังหวัด พร้อมจัดประชุมชี้แจงหลักการดำเนินโครงการ และกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ
    ซึ่งทุกฝ่ายตอบรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

    พล.อ.สุรเชษฐ์
    ชัยวงศ์
    กล่าวแสดงความขอบคุณ ธ.ก.ส. ที่มีแนวคิดริเริ่มในการนำโครงการที่ดี
    ๆ มาสู่โรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะโรงเรียนบนเขาบนดอย ซึ่งส่วนตัวยิ่งมีความผูกพันมากตั้งแต่เข้ารับราชการทหาร
    เพราะต้องไปประจำอยู่บนพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดชายแดนภาคเหนือ

    สำหรับโครงการทุนอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน
    ตามศาสตร์พระราชา เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้โรงเรียน นักเรียน และชุมชนร่วมกันทำการเกษตรในโรงเรียน
    ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
    ผสมผสานกับโครงการ
    4 5 9 ของ ธ.ก.ส. โดยเน้นความต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาเป็นอาหารกลางวัน
    ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันแล้ว นักเรียนยังได้รับความรู้ด้านโภชนาการและการเกษตรแผนใหม่
    ที่จะสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้ในอนาคต

    จากการเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการของโรงเรียนบ้านปางส้าน
    ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
    ที่โรงเรียนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการประกอบอาหารกลางวัน ทำให้นักเรียนได้รับโภชนาการที่ดี
    มีความรู้ด้านการเกษตรด้วยวิถีธรรมชาติ สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ส่วนชุมชนซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว
    ได้นำความรู้ที่เรียนรู้ร่วมกับนักเรียนและโรงเรียนกลับไปขยายผลที่บ้านของตัวเอง โดยทำเกษตรอินทรีย์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
    ผสมผสานกับโครงการ
    4 5 9 ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยเกี่ยวกับแนวคิดในการแก้ปัญหารายจ่ายภายในครอบครัว
    โดยอุดรูรั่วหรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะค่าสารเคมีในการทำการเกษตร
    สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการบริหารจัดการพื้นที่เล็ก ๆ รอบบ้านของตัวเอง ให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชระยะสั้นหรือเลี้ยงสัตว์
    และสามารถเดินไปถึงแปลงเกษตรได้ในระยะ
    4-5 ก้าวเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าเมื่อทำอย่างต่อเนื่องจะเกิดความยั่งยืนในชุมชนได้ในอนาคต

    ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับผู้บริหารโรงเรียนและชุมชนที่ได้ร่วมกันดำเนินโครงการในระยะเริ่มต้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ
    และขอให้นักเรียนทุกคนได้ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำ
    โดยเฉพาะการสืบสานปณิธานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
    ที่นำมาสู่ความสำเร็จและส่งผลให้ได้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการขยายผล ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้แก่โรงเรียนอื่น
    ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจัยความสำเร็จครั้งนี้มาจากผู้บริหารโรงเรียนและความร่วมมือของชุมชนอย่างแท้จริง
    ที่ต้องการพัฒนาลูกหลานให้มีความรู้ทางวิชาการควบคู่กับมีร่างกายที่แข็งแรงจากอาหารที่มีความปลอดภัย
    ไร้สารพิษ ได้เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งจากนักวิชาการและประสบการณ์ของเกษตรกรในชุมชน
    ที่จะสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเอง ของครอบครัว และนำสู่ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืนต่อไป

    โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ
    ได้ร่วมพิธีรับมอบโครงการทุนอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน จาก ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง
    เพื่อมอบต่อให้กับโรงเรียนบ้านปางส้าน พร้อมเยี่ยมชมฐานเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ
    ของโครงการภายในโรงเรียน อาทิ ธนาคารปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ บ่อเลี้ยงปลา กบคอนโด
    การเลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง แปลงผักอินทรีย์ โรงเพาะเห็ด เป็นต้น


    ติดตามผลดำเนินงานโรงเรียนต้นแบบ เน้นทักษะผู้เรียนที่จำเป็นในอนาคต”
    ณ โรงเรียนบ้านแม่ปะ

    เวลา 13.30 น. พล.อ.สุรเชษฐ์
    ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ เยี่ยมชมการจัดการเรียนของโรงเรียนบ้านแม่ปะ ตำบลแม่ปะ
    ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนเน้นทักษะผู้เรียนที่จำเป็นในอนาคต โดยมีนางกุหลาบ
    แกมเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ปะ ตลอดจนคณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง
    ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม

    พล.อ.สุรเชษฐ์
    ชัยวงศ์
    ได้เยี่ยมชมกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนที่เน้นทักษะผู้เรียนที่จำเป็นในอนาคตในหลายส่วน
    อาทิ

  • กิจกรรมจิตศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาภายในจากกิจกรรมต่าง
    ๆ อาทิ กิจกรรมเสริมพลังสงบภายในและผ่อนคลาย
    , กิจกรรมฝึกสมาธิ, กิจกรรมความเชื่อมโยงให้เห็นคุณค่าของตัวเอง, กิจกรรมบ่มเพาะจิตสำนึกที่ดีงาม,
    กิจกรรมที่มุ่งบ่มเพาะความรักความเมตตา, กิจกรรมการไหว้
    กิจกรรมการกอด เป็นต้น

  • กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning:
    PBL)
    เป็นกระบวนการพัฒนาปัญญาภายนอก ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่
    และความสนใจของผู้เรียน พร้อม ๆ กับการลงมือปฏิบัติจนเกิดทักษะที่จำเป็นต่ออนาคต

  • กิจกรรมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
    (
    Professional Learning Community: PLC) เป็นกระบวนการพัฒนาครู
    เพื่อช่วยยกระดับทักษะของครูแต่ละคน เช่น ทักษะการออกแบบเรียนรู้ ทักษะการสื่อสาร
    ทักษะ
    ICT ทักษะการวัดและประเมินผล ตลอดจนทักษะชีวิต โดยเฉพาะทักษะการจัดการความขัดแย้ง
    ทักษะการจัดการอารมณ์ เป็นต้น ทำให้ครูเห็นคุณค่าของงานครู สร้างอุดมการณ์ของความเป็นครู
    และก่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม

    โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์
    ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู
    และเครือข่ายผู้ปกครอง ที่ทำให้การจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนมีความเจริญก้าวหน้า
    ส่งผลให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่ดีตามวัย
    พร้อมกล่าวฝากให้เด็ก ๆ ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด ตั้งใจศึกษาหาความรู้
    เป็นเด็กดีของครอบครัว เชื่อฟังพ่อแม่ผู้ปกครอง ช่วยเหลืองานบ้านกำลังความสามารถ ซึ่งเชื่อว่าเด็กทุกคนจะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติได้อย่างแน่นอน

    ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ
    มีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของโรงเรียนอย่างเต็มที่
    และขณะนี้ได้วางแนวทางการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดตากในฐานะที่เป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดน
    และเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
    ที่จะต้องบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อจัดการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
    ตลอดจนให้ประชาชนได้รับความรู้และสามารถประกอบอาชีพรองรับการพัฒนาจังหวัดด้านต่าง ๆ
    สอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.
    2560-2579 ด้วย

 

จังหวัดตาก เป็นจังหวัดขนาดกลาง มีประชากรกว่า
5 แสนคน ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อาทิ ชนเผ่าอาข่า กระเหรี่ยง
เย้า ลีซอ จีน มูเซอร์ และชาวเมียนมา กระจายอยู่ตามอำเภอทั้ง
9 อำเภอ

  • อำเภอฝั่งตะวันออก
    ได้แก่
    บ้านตาก สามเงา วังเจ้า เมืองตาก
  • อำเภอฝั่งตะวันตก
    ได้แก่
    แม่ระมาด ท่าสองยาง พบพระ อุ้มผาง แม่สอด

ในปี 2558 จังหวัดตากได้รับการประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย 14 ตำบล
ใน
3 อำเภอ คือ อำเภอแม่สอด พบพระ แม่ระมาด โดยมีกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก
เมืองน่าอยู่ ประตูการค้าชายแดน ที่เน้นสร้างเด็กและเยาวชนให้มีการศึกษาและอาชีพอย่างทั่วถึง
เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพและช่างฝีมือ
, การท่องเที่ยว
บริการและการโรงแรม
, ทักษะภาษาไทย อังกฤษ เมียนมา จีน,
การค้าชายแดนไทยกับเมียนมา ตลอดจนการอนุรักษ์และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก

 

นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์
โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
18/3/2560