มติ ครม.17 เม.ย.61
มติคณะรัฐมนตรี
u รับทราบ CSR ของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสมทบทุนการศึกษา ม.ท.ศ.
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ การขอความร่วมมือหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัด ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) เพื่อร่วมสมทบทุนการศึกษาในโครงการทุนการศึกษาภายใต้มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และมอบให้ สลค. ดำเนินการและประสานงานกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีและคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการทุนการศึกษาภายใต้มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นโครงการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำริให้ดำเนินการขึ้นเมื่อปี 2552 เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจน ยากลำบาก แต่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคง ต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีตามความสามารถของแต่ละคนอันเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และศักยภาพแก่เยาวชนไทย
ต่อมาในปี 2553 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ขึ้น ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ และทรงให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ม.พ.พ.) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป โดยที่การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ มีกลไกคณะกรรมการมูลนิธิฯ กำกับดูแลอำนวยการระดับนโยบายและคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทานกำกับการบริหารดำเนินงานโครงการ มีคณะอนุกรรมการช่วยขับเคลื่อนประสานความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัดทุกจังหวัด
2. การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552-2560 ส่งผลให้มีนักเรียนที่
เรียนดี ประพฤติดี แต่มีฐานะยากจน ยากลำบากได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมั่นคงต่อเนื่องด้วยการได้รับทุนพระราชทานไปแล้วรวม 9 รุ่น โดยในปี 2561 มีนักเรียนทุนยังคงสถานะความเป็นนักเรียนทุนฯ รวมทั้งสิ้น 1,059 ราย ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 474 ราย ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า จำนวน 585 ราย รวมเงินทุนที่ได้จัดสรรไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 318,336,524 บาท และนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีนักเรียนอยู่ในระบบครบทุกระดับตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับปริญญาตรี โดยมีการใช้จ่ายเงินทุนพระราชทานคงที่นับจากปีดังกล่าว ประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี
3. การดูแลและพัฒนาศักยภาพนักเรียนทุนในโครงการทุนการศึกษาฯ หน่วยงานต่าง ๆ ที่
เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการตามบทบาทภารกิจของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มท. สศช. สลค. และ มพพ. ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคัดสรรนักเรียนทุนในแต่ละรุ่น / ปี การพัฒนาศักยภาพนักเรียนทุนด้านการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะ และสมรรถนะด้านต่าง ๆ รวมถึงการเสริมสร้างความมีจิตอาสา และการสำนึกในสถาบันทางสังคมที่สำคัญของชาติผ่านโครงการและกิจกรรมอย่างหลากหลาย
4. การขอความร่วมมือหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัดดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา สลค. ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมสมทบทุนการศึกษาในโครงการทุนการศึกษาฯ โดยมีหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจร่วมสมทบทุนในปี 2557-2560 รวมเป็นเงิน 264.130 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามร่างความตกลง ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับฮังการี เกี่ยวกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฮังการี โดยร่วมมือกับวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท (AGREEMENT BETWEEN THE KINGDOM OF THAILAND AND HUNGARY ON THE FUNCTIONING OF THE MAHACHULALONGKORNRAJAVIDYALAYA UNIVERSITY IN HUNGARY IN COOPERATION WITH THE DHARMA GATE BUDDHIST COLLEGE)
ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้ ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติและมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงฯ
3. มอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามตามข้อ 2
4. มอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือแจ้งฝ่ายฮังการี เป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูต เพื่อดำเนินการให้ร่างความตกลงฯ มีผลผูกพัน
สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เป็นการรับรองและสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฮังการีโดยร่วมมือกับวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกทในสาขาพระพุทธศาสนศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เช่น ภาคีคู่สัญญาให้ความมั่นใจว่าจะสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยจุฬาภรณราชวิทยาลัยในฮังการี โดยร่วมมือกับวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกทในสาขาวิชาพุทธศาสนาศึกษา และจะให้การยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งประกาศนียบัตรที่ออกให้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงคุณวุฒิทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาและคุณวุฒิทางวิชาชีพ การรับรองว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินงานอยู่ในราชอาณาจักรไทย และการคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันจากการดำเนินงานและเจตนารมณ์ของภาคีคู่สัญญาในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งเพิ่มเติม ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการในสาขาพุทธศาสนาศึกษา
โดยระบุองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการดำเนินงานตามความตกลงนี้ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงศักยภาพมนุษย์ของฮังการี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์)
2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายอุดม คชินทร)
โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2561 เป็นต้นไป
Rewriter
Editor