สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ ได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. ๓ ฉบับ คือ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ร.บ.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓ และอนุมัติโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.)
| |||
|
| ||
|
อนุมัติร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีดังนี้
เพิ่มเติมวัตถุประสงค์การให้กู้ยืมแก่นิสิตหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
เพิ่มอำนาจของกองทุน ในการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน และระดมเงินทุนโดยการกู้ยืมเงิน การออกตราสารหนี้ และการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พร้อมทั้งจัดระบบบัญชีเพื่อรองรับกิจกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นด้วย
แก้ไของค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน
แก้ไขอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน และกำหนดให้เป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก
แก้ไของค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง และคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สอง
แก้ไขอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม โดยตัดเรื่องการดำเนินคดีไปกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้จัดการ
เพิ่มเติมเงื่อนไขการระงับหนี้เงินกู้ยืม
เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….
ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ตามที่ ศธ.เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ดังนี้
กำหนดให้มีคณะกรรมการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ กรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ องค์ประชุมของคณะกรรมการ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
กำหนดให้สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ
กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยกองทุนส่วนหนึ่งประกอบด้วยเงินทุนประเดิมและเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้และเงินที่ได้รับการจัดสรรตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยรายได้และผลประโยชน์ของกองทุนไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง
กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ประกอบด้วยผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติเป็นประธานกรรมการ และผู้แทนส่วนราชการเป็นกรรมการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓
ครม.อนุมัติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
อนุมัติโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) เป็น ๒ ระยะตั้งแต่ปี ๒๕๕๓-๒๕๖๐
ครม.อนุมัติในหลักการโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๖๐) ตามที่ ศธ.เสนอ โดยมีข้อสังเกตดังนี้
วงเงินทั้งสิ้นของโครงการ ๒,๒๑๑,๗๒๐,๐๐๐ บาท จำแนกเป็นทุนการศึกษา จำนวน ๑,๗๖๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๗๙.๗๒ และค่าดำเนินการ จำนวน ๔๔๘,๕๒๐,๐๐๐ บาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๐.๒๘ ซึ่งเป็นวงเงินและอัตราทุนที่จัดสรรในเกณฑ์สูงมาก รวมทั้งยังขาดความชัดเจน จึงเห็นควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนและจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายดังกล่าวใหม่ให้ชัดเจน สอดคล้องกับความจำเป็นและสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างประหยัด คุ้มค่าและมีประสิทธิผลสูงสุด
เนื่องจากโครงการระยะที่ ๓ มีระยะเวลาดำเนินงานถึง ๘ ปี จึงเห็นควรแบ่งดำเนินการเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะที่ ๓ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๕๖ และระยะที่ ๔ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๐ โดยเห็นควรให้ ศธ.ดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการระยะที่ ๓ ก่อนดำเนินการระยะที่ ๔ เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าและบรรลุวัตถุประสงค์ในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง
สำหรับงบประมาณรายจ่ายของโครงการ ขอให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ จำนวน ๔๖,๔๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรให้ตามความจำเป็นและเหมาะสมสอดคล้องกับกำลังเงินงบประมาณแผ่นดินต่อไป
ทั้งนี้ โครงการ สควค. ระยะที่ ๓ เป็นโครงการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาขาดแคลนต่อเนื่องจากระยะที่ ๑ และ ๒ ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา โดยคัดเลือกผู้ที่จบ วท.บ.สาขาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ และมีความศรัทธาในวิชาชีพครู เข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการสอนใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า ๑ ปี มีการประเมินเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเมื่อจบการศึกษา ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันคุณภาพผลผลิตของบัณฑิตครูที่จะเข้าประกอบวิชาชีพครูต่อไป ซึ่งมีแนวทางการสร้างแรงจูงใจที่เป็นรูปธรรม โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูแล้วจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราวและได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูทันที เมื่อรับราชการครบ ๑ ปี และผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เมื่อบรรจุเข้ารับราชการแล้วและปฏิบัติงานครบ ๒ ปี จะได้รับทุนศึกษาต่อปริญญาโททุกคน โดยมีเป้าหมายผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู รวม ๘ ปีๆ ละ ๕๘๐ คน จำนวน ๔,๖๔๐ คน ซึ่งจะทำให้ได้ครูที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการและวิชาชีพ มีจิตวิญญาณในการเป็นครู และมีความสามารถทางการวิจัยและพัฒนาด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์.
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน