มหกรรมอุดมศึกษา

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2561 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดงาน “มหกรรมอุดมศึกษา  UniversitiesXpo: อุดมศึกษา-พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (Universities, the driver of Thailand 4.0) เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี ทปอ. โดยได้รับเกียรติจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษเรื่องประเทศไทยกับเส้นทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่องการเปลี่ยนแปลงของวงการการศึกษาในยุคของคนรุ่น Z ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน ทปอ. ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมงานจำนวนมาก

นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่เป็นคนรุ่น Z หรือเด็ก Gen Z จำนวนมาก และในปี 2561 จะเป็นปีแรกที่เด็ก Gen Z เริ่มเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สถาบันอุดมศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อกับเด็ก Gen Z ด้วยความเข้าใจในความคิดพื้นฐาน พร้อมร่วมกันคิดเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาที่ตอบโจทย์และเข้ากับพฤติกรรมการเรียนรู้กับเด็กกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด

หากจะกล่าวถึงเด็ก Gen Z ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2543 (ปี ค.ศ.2000) เป็นต้นมา ถือเป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะเฉพาะคือ เกิดและเติบโตมาพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  อยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ทำให้สามารถสื่อสารแบบ Multi-task มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสงสัยอยากรู้อยากเห็น ตลอดจนมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และ มีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนโลกหรือทำสิ่งที่ดี ๆ ให้เกิดขึ้นจนประสบความสำเร็จ และแม้จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน แต่ก็เป็นผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตอาสา และนึกถึงผู้คนอื่นด้วย

นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ ในปี ค.ศ.2030 ธนาคารโลก (World Bank) คาดว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่แรงงานจะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งจะมีผลทำให้อาชีพต่าง ๆ หายไป ประกอบกับแนวโน้มในอนาคตนักเรียนนักศึกษาเลือกที่จะทำงานก่อน จากนั้นจึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม  หรือเรียนไปทำงานไปด้วย ทำให้การเรียนและการทำงานเป็นสิ่งเดียวกัน

ดังนั้น ทิศทางของสถาบันอุดมศึกษาต้องปรับเปลี่ยนและวางเป้าหมายใหม่ คือ มุ่งพัฒนาคนวัยทำงาน, เปิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ, เพิ่มหลักสูตรแบบ Non-degree ให้มากขึ้น ส่วนคณาจารย์ต้องอำนวยความสะดวกด้านการเรียนรู้จากของจริง และสถาบันอุดมศึกษาต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ เตรียมคนให้มีความพร้อมสำหรับอาชีพอนาคต รวมทั้งหาตัวตนและจุดเด่นเพื่อมุ่งเป้าได้ถูกทิศทาง การบูรณาการหลากหลายศาสตร์ เน้นสมรรถนะ และเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ปลูกฝังความดี  ตลอดจนมุ่งเน้นการศึกษาที่ต้องเตรียมคนไทยสู่สังคม 4.0 ได้แก่ เรียนรู้อย่างมีเป้าหมายเน้นสร้างนวัตกรรม, เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์, เรียนรู้เพื่อส่วนรวม และเรียนรู้เพื่อการนำไปปฏิบัติ

นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาต้องหาตัวตนและจุดเด่นของตนเองให้พบ เพื่อดึงดูดให้เด็กเข้ามาเรียน พร้อมทั้งมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการหลายศาสตร์ เน้นสมรรถนะและทักษะมากกว่าความรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ปลูกฝังความดี ตลอดจนมุ่งเน้นการศึกษาที่ต้องเตรียมคนไทยสู่สังคม 4.0 ได้แก่ เรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เน้นการใช้ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม, เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์, เรียนรู้เพื่อส่วนรวม และเรียนรู้เพื่อการนำไปปฏิบัติด้วย

งานมหกรรมอุดมศึกษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2561 ในโอกาสครบรอบ 45 ปี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย โดยสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย ทปอ. เข้าร่วม 33 สถาบัน เพื่อร่วมแสดงพลังและศักยภาพขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 กลไกสำคัญในการผลิตกำลังคน ค้นคว้าวิจัย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้บริการวิชาการแก่สังคม อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการต่าง ๆ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ, ความร่วมมือและกิจกรรมร่วมของกลุ่มมหาวิทยาลัย, ความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างประเทศ, มหาวิทยาลัยเอกชน ตลอดจนการประชุมสัมมนา ปาฐกถา นำเสนองานวิจัย และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือโครงการฝึกอบรมหลักสูตรเกษตรก้าวหน้า (Smart Farming) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น ด้านการเกษตรสมัยใหม่ ถ่ายทอดแก่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) 5 แห่ง ได้แก่ วษท.เชียงใหม่, วษท.ลำพูน, วษท.แพร่, วษท.เชียงราย และ วษท.พะเยา โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้จะสนับสนุนอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ  เครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วย

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
4/3/2561