มอบนโยบายเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพร้อมมอบนโยบายในการประชุมเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่าย เมื่อวันพุธที่ 11 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุมประเสริฐ ณ นคร สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ประธานเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่าย, ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา และคณาจารย์ เข้าร่วมประชุม

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการอุดมศึกษาซึ่งเปรียบเสมือนหัวรถจักรในการพัฒนาประเทศ และเพื่อให้มีความอิสระต่อการบริหารงาน จึงแยก สกอ. ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอกฎหมาย พร้อมกำหนดรายละเอียดขอบเขตการทำงานของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน เพื่อลดความซ้ำซ้อนที่จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้น

จึงขอฝากให้มหาวิทยาลัยเตรียมความพร้อมรองรับความท้าทายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อาทิ จำนวนผู้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลง, กระบวนการเรียนรู้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก, การบ่มเพาะทักษะ สมรรถนะ และอุปนิสัยในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีสอนเด็กไม่ได้ พร้อมปรับตัวเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทุกวัย เฟ้นหาจุดแข็งของตนเองเพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นสอนให้เด็กมีหลักคิดที่ถูกต้อง เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี กระตุ้นการใฝ่รู้ใฝ่เรียนเพื่อติดอาวุธให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกได้ทุกสถานการณ์ และการแทนที่คนด้วยเทคโนโลยี

สำหรับรูปแบบการดำเนินงานของเครือข่ายอุดมศึกษา ถือว่าสอดคล้องกับการดำเนินงานของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่มีเครือข่ายอุดมศึกษาเช่นกัน ซึ่งการช่วยกันเติมเต็มการทำงาน ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคงไม่มีใครเก่งในทุกเรื่อง มหาวิทยาลัยในเครือข่ายจึงต้องช่วยเหลือกัน เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ สำเร็จและเป็นประโยชน์กับประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ในส่วนของรัฐบาลยินดีที่จะสนับสนุนงบประมาณ สำหรับโครงการที่มีเป้าหมายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ เครือข่ายอุดมสามารถเสนอโครงการที่เป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลต่อไป

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ กกอ. กล่าวเพิ่มเติมถึงเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษาด้วยว่า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีรูปแบบโครงสร้าง 3 ระดับ คือ เครือข่ายอำนวยการ (เครือข่าย A), เครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค (เครือข่าย B) และเครือข่ายเชิงประเด็น (เครือข่าย C) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านนโยบายของ สกอ. ไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ โดยมีเครือข่ายอุดมศึกษา 9 เครือข่าย ที่ตั้งอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

โดยการประชุมครั้งนี้ ประธานเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาคทั้ง 9 เครือข่าย ได้รายงานผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ดังนี้

  • เครือข่ายภาคเหนือตอนบน : มีสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิก จำนวน 16 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธาน โดยได้รับความร่วมมือจากสภาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ในการส่งเสริมหลักสูตรสหกิจศึกษา เช่น การจัดกิจกรรมค้นหาทักษะและคุณลักษณะของบัณฑิตที่ผู้ประกอบการต้องการ, การอบรมเชิงปฏิบัติการ, คณาจารย์นิเทศสหกิจศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง มุ่งเน้น STEM Education ภาษาอังกฤษ และคุณธรรมจริยธรรม, โครงการพัฒนาและสร้างงานวิจัยให้สอดคล้องกับชุมชนเศรษฐกิจฐานราก เน้นการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีผลงานเด่นชัด อาทิ วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต เป็นต้น สำหรับอุปสรรคในการดำเนินงาน คือจำนวนงบประมาณและความต่อเนื่องของการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการต่าง ๆ

  • เครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง : มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธาน โดยได้ดำเนินโครงการที่สำคัญ ดังนี้ โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก (8 โครงการ), โครงการปรับปรุงพันธุ์สตรอเบอร์รี่ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาภาครัฐร่วมภาคเอกชนเชิงพาณิชย์, จัดอบรมทักษะอาชีพในโครงการสนับสนุนหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator: UBI), การพัฒนาหลักสูตรสหกิจศึกษา, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช, การป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา พร้อมถอดบทเรียน Drug Free University, โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงที่ดูแลโรงเรียนกว่า 200 แห่ง ทั้งด้านการพัฒนาทักษะวิชาการ และการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

  • เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน : มีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน ซึ่งได้ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถาบันอุดมศึกษา 14 แห่ง ร่วมดูแลโรงเรียน 286 แห่ง ด้วยการพัฒนาครูและนักเรียนผ่านโครงการ KKU Smart Learning มุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้ให้ครูผู้สอนโดยใช้สื่อดิจิทัลที่พัฒนาขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการด้านอื่น ๆ อาทิ โครงการวิจัยภายใต้เครือข่ายการบริหารการวิจัย จำนวน 14 โครงการ, โครงการป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษา เน้นการอบรมนักศึกษาแกนนำ เพื่อสร้างเครือข่ายและผลิตสื่อป้องกันยาเสพติด, หลักสูตรสหกิจศึกษาอาเซียน เป็นต้น ส่วนปัญหาที่พบระหว่างการดำเนินงาน คือการได้รับงบประมาณในระยะเวลาที่กระชั้นชิด อีกทั้งการสื่อสารระหว่างเครือข่าย เขตพื้นที่ และต้นสังกัดของนักวิจัย ทำให้การดำเนินงานเกิดความล่าช้าดำเนินงาน และขาดการสนับสนุนด้านการประเมินผล

  • เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง : มีสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิก จำนวน 17 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นประธาน โดยดำเนินโครงการด้านต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator: UBI) จำนวน 33โครงการ, เครือข่ายสหกิจศึกษา มีนักศึกษาในหลักสูตร จำนวน 4,500 คน และมีองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วม 1,445 องค์กร ตลอดจนมีพันธมิตรสหกิจนานาชาติด้วย, โครงการป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 14 โครงการ, โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงดูแลโรงเรียน 300 แห่ง นักเรียน 15,000 คน ทั้งนี้ ขอฝากข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความชัดเจนของกรอบการดำเนินงานเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาคให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของระยะเวลา และการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินงานให้เกิดความต่อเนื่องต่อไป

  • เครือข่ายภาคกลางตอนบน : มีสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิก จำนวน 47 แห่ง และมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน โดยเครือข่ายเชิงประเด็นได้มีการหารือร่วมกันเพื่อริเริ่มที่จะพัฒนางานในหลายส่วน อาทิ เครือข่ายพัฒนาอาจารย์ เครือข่ายปฏิรูปการศึกษา เครือข่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น พร้อมกำหนดให้มีการประชุมติดตามความก้าวหน้างานทุก 3 เดือน ตลอดจนแลกเปลี่ยน Best Practice ร่วมกัน โดยมีโครงการที่น่าสนใจ อาทิ มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงที่ดูแลโรงเรียน 330 แห่ง, ระบบการศึกษาแบบเปิด หรือ Thai MOOC (Thailand Massive Open Online Course) เป็นต้น ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคก็คือ ความไม่ชัดเจนของแนวทางการดำเนินงานเครือข่ายอุดมศึกษา เช่น กรอบระยะเวลาการดำเนินงาน เป็นต้น เพื่อมหาวิทยาลัยเครือข่ายจะได้ร่วมกันวางกรอบและแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องต่อไป

  • เครือข่ายภาคกลางตอนล่าง : โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นประธาน และมีความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการวิจัยหลายส่วน ทั้งศูนย์นวัตกรรมด้านการสร้างสรรค์, สร้างเครือข่ายนักวิจัยให้มีความเข้มแข็ง เป็นต้น ในส่วนของการสนับสนุนหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator: UBI) ได้สร้างผู้ประกอบการใหม่ตามเป้าหมาย พร้อมสร้างคู่มือการเริ่มต้นธุรกิจและพันธมิตรทางธุรกิจ ที่มีการส่งเสริมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินหลักสูตรสหกิจศึกษา, โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, สถาบันศึกษาพี่เลี้ยง, การศึกษาดูงานข้ามเครือข่าย การจัดตั้งกลุ่มการวิจัย, การสร้างความร่วมมือกับชุมชน และการป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัย 30 แห่ง และมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 2.5 แสนคน พร้อมขยายผลโครงการไปสู่ชุมชนด้วย ทั้งนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของโครงการ จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ของเครือข่ายร่วมกัน เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงาน และส่งเสริมการส่งต่องานจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อความต่อเนื่องด้วย

  • เครือข่ายภาคใต้ตอนบน : มีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธาน และมีความก้าวหน้าการดำเนินงานของเครือข่ายเชิงประเด็นที่หลากหลาย อาทิ การผลิตบัณฑิต, มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย, การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น รวมทั้งมีการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ในโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา, โครงการสนับสนุนหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator: UBI) จำนวน 13 โครงการ, หลักสูตรสหกิจศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ, การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร, สถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง เน้นพัฒนาทักษะภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นต้น ทั้งนี้ มีตัวอย่างความสำเร็จในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนเชิงพาณิชย์ที่โดดเด่น อาทิ การพัฒนาเครื่องอบแห้งรังนกด้วยคลื่นไมโครเวฟ, Creative Innovation Hub เป็นต้น ในส่วนของปัญหาจากการดำเนินการ พบว่า การสนับสนุนงบประมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง, ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการไทยแลนด์ 4.0 ยังไม่เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของอาจารย์ และในส่วนของนิสิตนักศึกษายังไม่ให้ความสนใจเรื่องวิสาหกิจชุมชนเท่าที่ควร

  • เครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง : มีสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิก จำนวน 14 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน โดยได้ดำเนินงานด้านเครือข่ายบริหารการวิจัย อาทิ การลงทุนร่วมกับภาคเอกชน, การนำเสนอผลงานวิจัยในวันนักประดิษฐ์, การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายวิจัยสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ, จัดกิจกรรมป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา, โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงดูแลโรงเรียน 218 แห่ง มีครูเข้าร่วม 2,594 คน และมีนักเรียนในโครงการ 18,004 คน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมโครงการสนับสนุนหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator: UBI) เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการในสถานศึกษา พร้อมเปิดสอนหลักสูตรสหกิจศึกษาและร่วมมือกับสถานประกอบการด้วย สำหรับปัญหาและอุปสรรคอยู่ที่ความไม่ต่อเนื่องของผู้รับผิดชอบโครงการ, ที่ตั้งของโรงเรียนบางแห่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนความพร้อมของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เป็นต้น

  • เครือข่ายภาคตะวันออก : มีสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิก จำนวน 10 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นประธาน โดยได้ดำเนินการด้านเครือข่ายบริหารการวิจัย อาทิ โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก, โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนเชิงพาณิชย์ เป็นต้น พร้อมดำเนินงานเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในหลายโครงการ อาทิ โครงการสนับสนุนหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator: UBI) เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในชุมชน พร้อมเปิดสอนหลักสูตรสหกิจศึกษารวม 49 หลักสูตรใน 4 มหาวิทยาลัย, การศึกษาร่วมกับองค์กรภาคธุรกิจ จำนวน 1,035 แห่ง โดยมีนักศึกษาในหลักสูตร จำนวน 2,990 คน, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ, โครงการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา, โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงด้วย ในส่วนของปัญหาจากการดำเนินงาน พบว่า การสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยที่กระจายให้ทุกมหาวิทยาลัยในเครือข่ายยังมีจำนวนน้อย, การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา, การเปิดปิดภาคเรียนที่ไม่ตรงกันของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ส่งผลต่อช่วงเวลาในการจัดกิจกรรม เป็นต้น


Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit
สุรัตน์ ภู่สุวรรณ
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร