พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) เรื่อง “ทิศทางการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา 2021” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม 2561 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี โดยมีนางรัตนา ศรีเหรัญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษา และผู้บริหาร/ผู้แทนสถานประกอบการ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในช่วงของการปฏิรูปการศึกษา ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบาย Thailand 4.0 มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาคนให้สามารถผลิตนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ การเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Smart Enterprise), อุตสาหกรรมยุค 4.0 (Industry), เศรษฐกิจระบบชีวภาพ และแนวทางทางการตลาดเป็นตัวนำการผลิต ฯลฯ ซึ่งการจัดประชุม อ.กรอ.อศ. ประจำปี ที่มีประธาน อ.กรอ.อศ. ทั้ง 36 กลุ่ม มาร่วมแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา 2021 ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการแลกเปลี่ยนที่มีประโยชน์ต่อการวางแผนงานในอนาคต หลายประการ อาทิ
การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียน ขอให้ชาวอาชีวะร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา เพื่อที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสายสามัญตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 50:50 ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือประมาณ 40:60 เท่านั้น
การส่งเสริมทักษะด้านภาษา จากเสียงสะท้อนเรื่องทักษะด้านภาษาของนักเรียนที่จบการศึกษาแล้วว่า ยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างเพียงพอที่จะสามารถสื่อสารได้ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านภาษา เพื่อทบทวนและเตรียมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้าน ในอาเซียนที่เป็นความจำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต อาทิ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน ภาษารัสเซีย ภาษาเกาหลี เป็นต้น
การแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน ซึ่งได้รับทราบผลการดำเนินงานว่ามีแนวโน้มลดลงตามลำดับ โดยข้อมูลจำนวนเด็กออกกลางคัน ปี 2559 ลดลงจากปี 2558 เหลือร้อยละ 14 และในปัจจุบันจำนวนเด็กออกกลางคันก็ยังคงลดลงเรื่อย ๆ จนเหลืออีกเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น
การพัฒนาครูและผู้บริหาร ได้มอบให้ สอศ.เร่งยกระดับและพัฒนาครู ผู้บริหาร ตลอดจนสถานศึกษาให้มีคุณภาพและเท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้คำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการทำงานในแต่ละด้านด้วย
การจัดอันดับสถาบันอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนา ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการจัดอันดับเกี่ยวกับการอาชีวศึกษา ซึ่งข้อดีของการจัดอันดับจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในแต่ละด้านแต่ละสถาบัน และเมื่อรวมการพัฒนาเข้าด้วยกัน ก็จะเกิดเป็นภาพใหญ่ของการพัฒนาอาชีวศึกษาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น ในเมื่อสถาบันทุกแห่งรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองดีอยู่แล้ว การจัดอันดับเพื่อช่วยปรับปรุงจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งก็ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายแต่อย่างใด กลับช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาของแต่ละสถาบันให้มีความใกล้เคียงกัน หรือดีเสมอเหมือนกันในที่สุด
การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา จากนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ไปสู่เป้าหมายในการเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในฐานะรับผิดชอบการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา จึงได้เตรียมวางแผนจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” และเมื่อประสบผลสำเร็จก็ได้ขยายผลไปยัง 6 ภูมิภาค ตามการบริหารราชการของรัฐบาล รวมทั้งสิ้น 17 ศูนย์ เพื่อทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลความต้องการกำลังคน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อาทิ จำนวนที่ต้องการ มีตำแหน่งว่างในสาขาวิชาหรือระดับการศึกษาใดบ้าง ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีความต้องการแตกต่างกันไป รวมทั้งสาขาวิชาเฉพาะในบางสาขาก็เหมาะกับบางพื้นที่เท่านั้น จากนั้นจึงนำข้อมูลมาปรับใช้และพัฒนาการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการของภาคเอกชนและสถานประกอบการ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะสมรรถนะของผู้เรียน มีการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา ตลอดจนมีงานรองรับทำให้จบแล้วทำงานได้ทันที ปัจจุบันได้จัดตั้งและมีพิธีเปิดศูนย์ประสานงานฯ แล้ว ในหลายแห่ง อาทิ ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคกลาง จังหวัดสมุทรปราการ, ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด, ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง 2 จังหวัดนครสวรรค์, ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น และในวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2561 ระหว่างการลงพื้นที่การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี เตรียมที่จะจัดการประชุมร่วมกับผู้แทนศูนย์ประสานงานฯ เพื่อสรุปความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่ผ่านมา ตามภารกิจของศูนย์ประสานงานฯ ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ฐานข้อมูลกลาง (Big Data System), การส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ, การส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ, การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ และการวิจัยและพัฒนา
โครงการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการนำนักศึกษาที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม มาเจรจาเพื่อจับคู่กับผู้ประกอบการและสถานประกอบการภาคเอกชน ณ จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน จ้างให้ผลิตสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการแต่ละสาขาอุตสาหกรรมแก่สถานประกอบการ ซึ่งทำให้นักเรียนนักศึกษาและสถาบันการศึกษามีรายได้ และขณะนี้เตรียมแนวทางที่จะขยายผลโครงการนี้ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาทวิภาคีและคณะทำงานสานพลังประชารัฐ E2 อย่างเข้มข้น โดยจะต้องยกระดับความร่วมมือในการจัดการศึกษาทวิภาคีกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการและเป้าหมายอุตสาหกรรมใหม่ตามนโยบายรัฐบาล เช่นเดียวกับการร่วมดำเนินงานกับคณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2: Competitive Workforce) ซึ่งมีแนวทางการทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ การปรับภาพลักษณ์ของผู้เรียนอาชีวศึกษา (Re-branding), การจัดทำฐานข้อมูลอาชีวศึกษา (Database of Demand and Supply), สถานศึกษาเป็นเลิศ (Excellent Model School) และการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ (Standards and Certification Center) และทราบว่าการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐมีความก้าวหน้าไปมากด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย
การให้ความสำคัญกับทุกสถาบันอย่างเท่าเทียม ควรที่จะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสถาบันอาชีวศึกษาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกสถาบันมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะวิชาชีพและมีงานทำเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ควรสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความยินดีสำหรับการได้มารับฟังข้อเสนอและข้อคิดเห็นที่มีคุณค่าของประธาน อ.กรอ.อศ.ทุกท่านอีกครั้ง พร้อมฝากถึงผู้บริหารทุกคนกล้าที่จะแสดงถึงความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทั้งกล้าที่จะพูด กล้าทำ กล้ารับฟังคำวิจารณ์ ตลอดจนกล้าที่จะเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ และสร้างการรับรู้การดำเนินงานต่าง ๆ ในทิศทางเดียวกันอย่างทั่วถึง พร้อมยึดถือหลักการทำงาน 4 ร ได้แก่ ริเริ่ม รวดเร็ว รอบคอบ และรอบด้าน รวมทั้งยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ ที่จะต้องมีความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ไปทบทวน เพื่อปรับปรุงการทำงานให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาการอาชีวศึกษา พร้อม ๆ กับการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีโดยใช้พลังฝีมือชนในเชิงบวกมาช่วยสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชน อาทิ การให้บริการและช่วยเหลือประชาชน ทั้งในช่วงเทศกาลวันหยุดและช่วงที่มีภัยพิบัติ สอดคล้องกับคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “ผู้เรียนอาชีวะคือผู้ทรงคุณค่าของสังคม”
อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณสำหรับเสียงชื่นชมการทำงานของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีวศึกษาอย่างจริงจังแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงขอรับไว้เป็นกำลังใจในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จต่อไป และต้องบอกเช่นเดียวกันว่า ทุกคนก็ถือเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลให้สำเร็จตามเป้าหมาย แม้จะยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมากในช่วงของการปฏิรูปนี้ ในทางกลับกันก็มีความก้าวหน้าเชิงประจักษ์ในหลายส่วน โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางการจัดการอาชีวศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ให้เข้าใกล้เป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
Photo Credit