มอบนโยบาย กศจ.ปทุมธานี

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในระดับจังหวัด ให้กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด, อ.ก.ศ.จ., หัวหน้าหน่วยงานทางการศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษาในจังหวัดปทุมธานี ณ โรงเรียนปทุมวิไล โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม อาทิ ว่าที่ร้อยตรี ไชยวุฒิ วุฑฒิรักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี, นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา, นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, นางปราณี ศิวารมณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, ศึกษาธิการภาค, รองศึกษาธิการภาค, คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี ตลอดจนผู้บริหารฝ่ายปกครอง, ผู้บริหารสถานศึกษา, ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา และประชาชนจิตอาสา ร่วมรับฟังนโยบาย

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้กำกับดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในทุกจังหวัด ทำให้รู้สึกเสมือนได้กลับมารับราชการอีกครั้ง ซึ่งการศึกษามีความสำคัญมาก สังเกตได้จากประเทศที่มีความเจริญ จะให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับแรก เพราะการศึกษาทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถอย่างแตกฉาน อีกทั้งครูอาจารย์ถือเป็นผู้ที่เสียสละและอุทิศตนเพื่อลูกศิษย์อย่างมาก

จากการที่ได้รับฟังการนำเสนอข้อมูลของ กศจ. ปทุมธานี ทำให้เห็นว่าการดำเนินงานต่าง ๆ ได้มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว จึงขอฝาก กศจ.ปทุมธานี ช่วยขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในพื้นที่ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มเติม อาทิ

● ขอให้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง, มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม, มีงานทำ-มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี

● ลูกหลานเยาวชนต้องมีเข็มทิศชีวิต หรือมี Idol ที่เป็นต้นแบบและแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต

● ครูอาจารย์อบรมบ่มสอนลูกศิษย์ให้รักงาน สู้งาน ทำงานให้เกิดความสำเร็จ อย่าย่อท้อ

● ส่งเสริมการฝึกอบรมทั้งในและนอกชั้นเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กมีหนังสืออ่านนอกเวลาหรือหนังสืออ่านพิเศษ (Extra Reading) อาทิ หนังสือเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9

● สนับสนุนให้สมาคมครู-ผู้ปกครอง เป็นช่องทางเชื่อมโยงระหว่างครอบครัวและสถานศึกษา โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยโรงเรียนดูแลลูกหลานและไม่ปล่อยปะละเลยบุตรหลานของตน

● ส่งเสริมการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมผ่านกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี เพื่อให้เด็กมีคุณธรรมนำความรู้ ไม่เอาเปรียบคนอื่น

● การอบรมครูเพื่อเชื่อมโยงกับวิทยฐานะของครู

● ป้องกันและติดตามเด็กที่ออกกลางคัน ไม่ใช่ไม่ดูแลเด็กหรือปล่อยเลยตามเลย ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีทิศทางในการดำเนินชีวิต

● ขอให้ กศจ. บูรณาการงานด้านการศึกษากับหน่วยงานการศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ส่วนราชการในจังหวัด, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นต้น

● ร่วมกันป้องกันเหตุทะเลาะวิวาทของลูกหลานนักเรียนนักศึกษาในทุกระดับชั้น

● ส่งเสริมการใช้ Social Media อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใส่ร้ายป้ายสีใคร

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ขอให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการนำสิ่งที่ได้รับฟังและหารือกันเหล่านี้ไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของ กศจ. ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อจัดการศึกษาให้บังเกิดผลกับเยาวชนในพื้นที่อย่างดีที่สุด เพราะกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงคุณูปการ การที่ได้ทำสิ่งใดให้เกิดมรรคผล จะทำให้ลูกหลานเยาวชนได้ประโยชน์อย่างมาก

นายพัฒนะ งามสูงเนิน ศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี กล่าวรายงานว่า จังหวัดปทุมธานีมีสถานศึกษาในทุกสังกัด จำนวน 345 แห่ง โดยมีครู 7,468 คน และนักเรียน 162,052 คน ผลการสอบ O-NET ในปีการศึกษา 2559 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศในทุกกลุ่มสาระ ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศในทุกกลุ่มสาระ ยกเว้นกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ร้อยละ 0.07

นอกจากนี้ กศจ.ปทุมธานี ได้ดำเนินงานด้านการศึกษาตามวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี คือ “การศึกษาของจังหวัดปทุมธานี มุ่งผลิตและพัฒนาผู้เรียนทุกระดับให้มีความรู้คู่คุณธรรม มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลบนพื้นฐานความเป็นไทย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเสมอภาคและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” อีกทั้งมีโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับพันธกิจและยุทธศาสตร์ อาทิ โครงการปลูกความสำนึกรักชาติผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ชาติไทย, โครงการอาชีวศึกษาเป็นเลิศและพัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน, โครงการศึกษาสภาพและผลการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรมจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สภาการศึกษามีหน้าที่ดูแลแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นแผนการศึกษาระยะยาว 20 ปี ที่มีแตกต่างจากแผนการศึกษาที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วง 20 ปีนี้ ประเทศไทยจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม มุ่งไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายทางเทคโนโลยี ส่งผลให้การดำรงชีวิตของคนในทุกช่วงวัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แผนการศึกษาแห่งชาติก็ต้องมองถึงอนาคตด้วย สภาการศึกษาจึงยินดีให้การสนับสนุนและช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ สำหรับการจัดทำแผนการศึกษาของแต่ละจังหวัด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้ได้รับการพัฒนาที่แตกต่างกัน เพื่อให้ประชาชนในทุกช่วงวัยได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
19/10/2560
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน