มอบนโยบาย สกอ.
“หมออุดม” ย้ำให้ สกอ. ปรับตัวตามทิศทางอุดมศึกษายุคใหม่ สร้างเด็กให้เป็น Global citizen ที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชน สังคม และโลก
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2561 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายวีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงาน พบปะและมอบนโยบายด้านอุดมศึกษาแก่ผู้บริหาร หัวหน้ากลุ่มงาน ตลอดจนข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ณ ห้องประชุม ศ.ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 สกอ.
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ต้องการมาทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของ สกอ. ในการสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องปรับมุมมองให้มองเห็นเหมือนกัน ขณะนี้แม้จะมีหลายอย่างที่ สกอ.ดำเนินการดีอยู่แล้ว ก็ต้องปรับตัว ปรับการทำงานให้มีความคล่องตัว ก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 ให้ได้จริง โดยวางเป้าหมายพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพสูง สามารถผลิตนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นฐานสังคมไทยสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้และเพิ่มคุณค่า
ส่วนมหาลัยต้องเน้นงานวิจัยมุ่งเป้าหมาย พร้อมเป็นศูนย์บ่มเพาะสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ที่จะช่วยสร้างนวัตกรรม และต่อยอดความรู้ไปสู่เชิงพาณิชย์ (Commercialization) ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง และสร้างเครือข่ายระดับมหาวิทยาลัยเชื่อมต่อด้วยระบบอินเตอร์เน็ต ที่จะเกิดการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเนื้อหา หลักสูตร และเปลี่ยนตัวเองเป็นสถานที่เรียนรู้ของนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย ตลอดจนประชาชนที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ พร้อมจัดระบบการโอนหน่วยกิต (Credit Transfer) ที่จะช่วยเอื้ออำนวยแก่วิทยาลัยชุมชน สิ่งสำคัญต้องยกระดับผู้เรียนให้มี 2 ทักษะหลักคือ ภาษาอังกฤษ (English proficiency) และดิจิทัล (Digital skill)
ดังนั้น ทั้ง สกอ. และมหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวตามทิศทางอุดมศึกษาโลกยุคใหม่ ปรับเพื่อให้ประเทศของเราผลิตคนได้ทันต่อโลก ให้เขาสามารถไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกที่ที่ไปอยู่ไปทำงาน มิใช่ปรับเพื่อตัวเองหรือเพื่อมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งอีกต่อไป โดยทั้งหมดนี้จะใช้หลักการบริหารงาน บนพื้นฐาน Demand-based financing เพื่อผลักดันมหาวิทยาลัยที่พร้อมจะปรับตัวจริง ๆ ให้ผลิตกำลังคนที่สามารถแข่งขันได้ โดยบูรณาการหลักสูตรทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ที่มีความยืดหยุ่นเรียนข้ามศาสตร์ข้ามสาขาวิชาได้ เพื่อให้จบมาแล้วมีงานทำและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ต้องสอนให้เด็กมี Mindset เชื่อมโยงภาพใหญ่ของโลก ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัลอย่างไม่มีขีดจำกัด พร้อมมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมด้วย Platform ใหม่ และมีแรงบันดาลใจอันแรงกล้าในการสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม และโลก
รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงจุดเน้นการพัฒนาการอุดมศึกษาของชาติในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การเตรียมโครงสร้าง กำลังคน ทรัพยากร ตลอดจนความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ รองรับกระทรวงอุดมศึกษา, พัฒนายุทธศาสตร์และ Roadmap การอุดมศึกษาของชาติ 20 ปี พร้อมวางแผนกำลังคนของประเทศ 20 ปี, พัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมอุดมศึกษาของชาติ และตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ โดยมีแผนที่จะดำเนินการนโยบายเร่งด่วนให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 6-8 เดือน ดังนี้
– การทบทวนเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา
– การจัดทำเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ ที่ครอบคลุมเนื้อหาและผลงานที่มีความเป็นสากล
– ระบบตรวจสอบธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยที่มีความชัดเจน
– การปรับปรุงคุณภาพของอาชีวศึกษาให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต รวมทั้งมีการรับรองหน่วยกิตและเชื่อมโยงกับอุดมศึกษา
– ผลิตบัณฑิตเน้นหลักสูตรพันธุ์ใหม่ตอบโจทย์อนาคต
– เพิ่มสัดส่วนหลักสูตร Science & Technology : Social Science & Humanity เป็น 70:30
นอกจากนี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำร่องจัดการศึกษาแบบบูรณาการใน 7 มหาวิทยาลัย ด้วย “หลักสูตรพันธุ์ใหม่” ที่สามารถเรียนได้หลายศาสตร์ควบคู่กัน หรือเรียนข้ามศาสตร์ข้ามสาขาวิชาได้ เช่น นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สามารถเรียนด้านบริหารธุรกิจควบคู่ไปด้วยได้ เป็นต้น เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถอย่างรอบด้านมากขึ้น จบแล้วมีงานทำและตอบโจทย์การทำงานในอนาคต โดยจะเริ่มใช้หลักสูตรให้ทันในปีการศึกษา 2561 และในอนาคตหากมหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนงบประมาณเป็นรายหัวเช่นเดียวกับการผลิตแพทย์ ต่อไป
และอีกประการสำคัญที่จะดำเนินการคือ โจทย์ที่ได้รับมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้อุดมศึกษาช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพกำลังแรงงานที่มีอยู่ในระบบกว่า 40 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีเพียง 25% เท่านั้นที่จบระดับปริญญาตรี ดังนั้น อุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งได้รับงบประมาณจากรัฐบาลถึงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ต้องเข้ามาช่วยสร้างศักยภาพของประเทศด้วย ขณะนี้กำลังเตรียมวางแผนและหาแนวทางแก้ไขให้เห็นผลภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ รวมทั้งการเตรียมหลักสูตรรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีมากถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2566 และเพิ่มเป็น 25% หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศปี 2573 เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้และทำงานอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีด้วย
ขอบคุณ PPT: คณะทำงาน รมช.ศธ.
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน