ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0 เมื่อวันพุธที่ 13 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา, นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งผู้แทนสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องกว่า 250 เข้าร่วมการประชุม

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 มีความแตกต่างไปจากมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับเดิม โดยเฉพาะ “รูปแบบของผลลัพธ์ที่พึงประสงค์” ของการศึกษาสำหรับผู้เรียน ที่มีความเหมาะสมตามช่วงวัยในแต่ละระดับการศึกษาและประเภทการศึกษา พร้อมให้อิสระกับสถานศึกษาในการกำหนดแนวคิด ปรัชญา และวิสัยทัศน์ของการจัดการศึกษา ซึ่งจะสร้างอัตลักษณ์สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ตลอดจนถึงตามความถนัดของผู้เรียน
โดยมีการจัดทำมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำที่เหมาะสมตามช่วงวัย และมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งก็คาดหวังให้เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์กับผู้เรียน อันจะเป็นการสร้างคนไทย 4.0 ที่แตกต่างตามบริบทของท้องถิ่นและสถานศึกษา
นอกจากนี้ การยกระดับมาตรฐานการศึกษา เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน เมื่อเราสร้างคนให้มีคุณภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน ก็จะส่งผลต่อการยกระดับศักยภาพในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การสร้างคนให้มีคุณภาพการศึกษาที่ดีทุกระดับ จึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของการทำงานอย่างบูรณาการของทุกภาคส่วน เพราะคนที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะสามารถเผชิญกับความท้าทายของทั้งโลกปัจจุบันและโลกอนาคต อาทิ ความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป พลวัตโลกศตวรรษที่ 21 รูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมไปถึงการเปลี่ยนรุ่นของคนไปสู่ Generation Z และนโยบายประเทศไทย 4.0 อีกด้วย


นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 เพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ซึ่งถือเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะคุณภาพที่พึงประสงค์ของคนไทย เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งใช้เป็นกรอบสำหรับการสร้างคนไทย 4.0 ตามบริบทของท้องถิ่นและสถานศึกษา โดยมีสาระสำคัญสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545, ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี พ.ศ.2561-2580, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2565 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2579 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่ง ใช้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผู้เรียนไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ใน 3 ด้าน ได้แก่ ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยคนไทย 4.0 จะต้องธำรงความเป็นไทย และแข่งขันได้ในเวทีโลก”

รวมทั้งให้หน่วยงานต้นสังกัดได้นำไปเป็นเป้าหมายในการจัดการศึกษา กำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของผู้เรียนอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ในแต่ละระดับการศึกษา และประเภทการศึกษา พร้อมให้อิสระสถานศึกษาได้จัดการศึกษา และจัดทำมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำที่มีความจำเป็นในแต่ละระดับการศึกษาและประเภทการศึกษา เน้นการเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์และวางรากฐานกับผู้เรียน ทั้งในระหว่างศึกษาและหลังจบการศึกษาด้วย

สแกน QR Code เพื่อดูฉบับเต็ม
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงกำหนดจัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0 ขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาอย่างถูกต้องชัดเจน ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำมาตรฐานการศึกษาของชาติมาตรฐานการศึกษา และหลักสูตรการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษา ไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาทุกสังกัด ทุกระดับ และประเภทการศึกษา รวมทั้งแนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561
ตลอดจนการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติจริง เกี่ยวกับมุมมองและประสบการณ์การจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ ทั้งด้านการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน รวมทั้งปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และรับชมตัวอย่างความสำเร็จของการดำเนินงานตามมาตรฐานการศึกษาของชาติและแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอแนวทางการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษาในการพัฒนาประเทศต่อไป


















Written by ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว
Photo Credit ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร