มิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ
โรงแรมเอวานา บางนา – เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2560 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมการประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ เรื่อง “มิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24-25 กันยายนนี้ ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำพระบรมราโชวาท
● เผยถึงหลักการทำงาน .. “ความเข้าใจ” คือหนึ่งในปัจจัยของความสำเร็จ
ดังนั้น ทุกคนคือเครือข่ายการทำงานที่จะมาสร้างความดีร่วมกันในวันดี ๆ เพื่อทบทวนการทำงานในมิติด้านการศึกษาในพื้นที่พิเศษให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ภายหลังจากที่ กศจ. มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในระดับจังหวัดมาระยะหนึ่งแล้ว หากมีการทบทวนก็จะทำให้การดำเนินงานในขั้นต่อไปมีความเรียบร้อยราบรื่น สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การศึกษาในระดับกลุ่มจังหวัด ไปจนถึงระดับภาค และระดับประเทศ ตอบโจทย์การพัฒนาคนนำไปสู่การพัฒนาให้เป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
ดังนั้น
สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในมิติการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่พิเศษ ประกอบด้วย
พื้นที่ชายแดน 27 จังหวัด (จังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 27 จังหวัด แต่ไม่รวมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้) ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของความห่างไกล ความยากลำบากในการเดินทาง ความทุรกันดารของการเข้าสู่พื้นที่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศที่สวยงาม มีป่าเขา ลำน้ำ มีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งได้มีการริเริ่มประชุมเตรียมการพร้อมหาข้อมูลในการพัฒนาพื้นที่ที่มีบริเวณติดกับชายแดนเป็นหลักก่อน โดยได้มีการประชุมชี้แจงการเตรียมการจัดการศึกษาพื้นที่ชายแดน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 และได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนติดตามการทำงาน เพื่อให้คำแนะนำ ช่วยเหลือแก้ไข ในลักษณะกลุ่มจังหวัดทั้ง 6 กลุ่มเรียบร้อยแล้ว
ในขณะเดียวกัน ในพื้นที่นี้ก็จะมีการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซ้อนอยู่ด้วยอีก 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก สงขลา มุกดาหาร สระแก้ว ตราด เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม และนราธิวาส ที่ต้องดำเนินงานภายใต้หลักการ “เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ รู้เท่าทันเทคโนโลยี สานสามัคคีอาเซียน” เพื่อสร้างฐานการผลิตที่เชื่อมโยงกับอาเซียนและการพัฒนาเมืองชายแดน ที่จะมีการพัฒนาการค้าการลงทุนร่วมกัน โดยมีการศึกษาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ ทักษะ รวมถึงสมรรถนะในการทำงานและการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 พื้นที่ ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาหลักสูตรและสร้างกำลังคนที่เข้มแข็ง ตรงตามความต้องการของพื้นที่ สู่การยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน
ดังนั้น กศจ.ในพื้นที่เหล่านี้ จะต้องทำงานในภารกิจสำคัญทั้งสองส่วน คือ การศึกษาพื้นที่ชายแดนและการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้มีพัฒนาการทั้งในด้านมิติการศึกษาและมิติเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมวางแผนและเตรียมการมาโดยลำดับอย่างเป็นระบบแล้ว เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่ผู้มีบทบาทหน้าที่ด้านการศึกษา ตั้งแต่ กศจ. และบุคลากรให้มีความเข้าใจ นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง สามารถอธิบายชี้แจงให้เพื่อนร่วมงานและผู้อื่นปฏิบัติให้ถูกต้องไปด้วย เกิดเป็นความร่วมมือและมีการบูรณาการทำงานด้วยกันในเรื่องเดียวกัน
พื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอในสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีคณะทำงานลงไปทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกสังกัดในพื้นที่ และได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือ “กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า” ขึ้นที่จังหวัดยะลา และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ได้เปิดทำการที่ตั้งแห่งใหม่ภายในค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตลอดจนจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาในพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมแถลงข่าวการจัดทำแผนเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้วิสัยทัศน์ “ขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจ ด้วยการศึกษาทุกระดับแบบสอดคล้องต่อเนื่อง” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้ไปสนับสนุนความมั่นคงทางด้านสังคม โดยเริ่มต้นดำเนินงานใน 3 เมือง คือ 1) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบ “เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” 2) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมืองต้นแบบ “การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” 3) อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมืองต้นแบบ “การค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ” จากนั้นจะขยายให้เต็มพื้นที่ตามระยะการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้มิติทางเศรษฐกิจเป็นฐานในการพัฒนาความเจริญสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมิติการศึกษารวมอยู่ด้วย
พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชั้นนำของอาเซียนภายใน 5 ปี ซึ่งในมิติของการศึกษาจะเป็นหลักในการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน ความต้องการของแรงงานในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ในสาขาวิชา First S-Curve และ New S-Curve โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับแผนงานโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนฯ กับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาของแผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) นอกจากนี้ ได้ตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC TVET Career Center) ใน 3 จังหวัด จำนวน 1 ศูนย์ใหญ่ 3 ศูนย์จังหวัด และ 10 ศูนย์ย่อย ณ สถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากล รองรับการพัฒนาเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เสริมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะนิสัยอุตสาหกรรม คุณธรรม จริยธรรม และส่งเสริมความร่วมมือกับสถานประกอบการ ประชาสังคมในรูปแบบประชารัฐ เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดอาชีวศึกษาในทุกมิติ
สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานขั้นที่ 2 หลังจากได้มีการสร้างความเข้าใจในขั้นแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน 2560 ที่จังหวัดนครนายก พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ขับเคลื่อนงานระดับจังหวัดในแต่ละภารกิจ ได้มาระดมความคิดเห็นเพื่อทบทวนการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาตามบริบทของพื้นที่พิเศษทั้ง 35 จังหวัดที่ผ่านมา พร้อมนำไปเสนอต่อ กศจ. และรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่
ทั้งนี้ การดำเนินงานขั้นที่ 2 ซึ่ง กศจ.และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาพื้นที่พิเศษทั้ง 35 จังหวัด จะได้พบปะแลกเปลี่ยนทบทวนงานในความรับผิดชอบให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การปรับให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579, การแก้ไขปัญหาอุปสรรค, การขยายผลและต่อยอดสิ่งดี ๆ ให้มีคุณภาพมากขึ้น, การปรับเปลี่ยน/ลดงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์หรือไม่มีความคุ้มค่า เป็นต้น
เมื่อดำเนินการขั้นที่ 2 ให้สมบูรณ์พร้อมนำสู่การปฏิบัติขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่ในปีงบประมาณ 2561 จากนั้นจะได้นำเสนอภาพการทำงานด้านการจัดการศึกษาพื้นที่พิเศษทั้ง 3 พื้นที่ 5 ภารกิจ ในวันที่ 24-25 กันยายน 2560 ที่โรงแรมแอมสบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมรับฟังผลการประชุม และมีวิทยากรบรรยายเพิ่มเติมเสริมความรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม,
โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้มอบหลักคิดเพื่อเป็นแนวทางการทำงานที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จโดยสมบูรณ์ คือ “คิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วงการรับรู้ สู่การบูรณาการ สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
คิดให้ครบ : การคิดให้ครอบคลุมและครบทุกด้าน ครบทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยพยายามคิดให้ครบทั้งระบบ ให้ครอบคุลมการจัดการศึกษาเรียนรู้ทุกช่วงวัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนในพื้นที่ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนทุกระดับทุกประเภท ตั้งแต่ปฐมวัย-ผู้สูงวัย พระภิกษุสามเณร ตลอดจนผู้พิการ ทั้งการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน อีกทั้งครบถ้วนในมิติทางศาสนา (พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ซิกข์) ครอบคลุมสถาบันศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งสถาบันศึกษาปอเนาะ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และให้ครอบคลุมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งครอบคลุมโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการห้องเรียนกีฬา, โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการห้องเรียนอาชีพ (OBEC Career Program) ในพื้นที่ 3 อำเภอชายแดนภาคใต้, การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV, ระบบการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นฐาน (TEPE Online), ลูกเสือ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ เพื่อให้เกิดการศึกษาเรียนรู้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตลอดจนประสานความร่วมมือภายในหน่วยงานด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ทบทวนเป็นห้วง ๆ : ในช่วงของการดำเนินงานตามแผน เรียกได้ว่าต้องทำไปแก้ปัญหาไป ตามหลัก After Action Review: AAR นำไปสู่การแก้ปัญหา ปรับปรุง พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น เป็นการทบทวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนดในแต่ละห้วงเวลา แต่ละไตรมาส หรือแต่ละปี ทั้งทบทวนการทำงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนการศึกษาแห่งชาติ ทั้งการทบทวนพื้นที่การทำงาน การขยายพื้นที่การดำเนินงานในพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดหรืออำเภอที่ติดกัน หรือพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษอื่น เช่น เกาะแก่ง อำเภออื่นที่มีปัญหาการศึกษาแต่ไม่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ชายแดน เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาตามแผนก้าวหน้าได้ และเป็นการทำงานเชิงรุกในส่วนที่เป็นจุดแข็ง/โอกาสในคราวเดียวกัน
ห่วงการรับรู้ : โดยเริ่มจากการสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจภายในองค์กรก่อน เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้แผนการทำงานและเกิดการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนอย่างสอดคล้อง เชื่อมโยงและต่อเนื่อง จากนั้นจึงจะสร้างความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ ครู บุคลากรทางการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง ประชาชน ชุมชน เมื่อรู้ก็จะเกิดความต้องการที่จะสนับสนุน เกิดความร่วมมือร่วมใจและการต่อยอดการดำเนินงานในภาพรวมต่อไป
สู่การบูรณาการ : ต้องยอมรับว่าเมื่อทุกภาคส่วนมีความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงานแล้ว ความร่วมมือหรือการทำงานเชิงบูรณาการจะตามมาเองจากหลากหลายฝ่าย ทั้งภายในหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนภาคประชาสังคม อันจะเกิดความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว หรือที่เรียกอีกอย่างว่า สานพลังประชารัฐ ซึ่งรัฐบาลได้ย้ำให้ทุกกระทรวง ให้ความสำคัญและยึดหลักบูรณาการในการทำงาน เพื่อพัฒนาประเทศสู่ THAILAND 4.0 ที่จะมีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยในส่วนการศึกษาจะมี กศจ. เป็นผู้ขับเคลื่อนงานส่วนนี้
สืบสานศาสตร์พระราชา : ขอให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีคุณค่ามหาศาลต่อปวงชนชาวไทย เป็นหลักในการสอดแทรกไว้ในแผนการศึกษาและการดำเนินชีวิต โดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” กล่าวคือ 1) ห่วงความพอประมาณ-ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น 2) ห่วงความมีเหตุผล-การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 3) ห่วงการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว-การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วน 2 เงื่อนไข คือ 1) เงื่อนไขความรู้-ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เชื่อมโยงความรู้ประกอบการวางแผนอย่างรอบคอบ 2) เงื่อนไขคุณธรรม-ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความพากเพียร และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
นอกจากนี้ ควรน้อมนำแนวพระราชดำริและพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ใส่เกล้าฯ และนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะหลักการทรงงาน 23 ข้อ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่มีพระราชประสงค์ให้การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพ และ 4) เป็นพลเมืองดี ตลอดจนหลักธรรมาภิบาล ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและต้องการให้ทุกกระทรวงมีหลักในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีในการดำเนินงาน
เพื่อ
พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้กล่าวเชิญชวนร่วมนำแผนไปสู่การปฏิบัติที่ดี ฝากช่วยขบคิดว่าเมื่อได้ร่วมจัดทำแผนขึ้นมาอย่างดีแล้ว ทั้งยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนปฏิบัติราชการ แผนจัดการศึกษา แผนการเรียนการสอนต่าง ๆ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถนำแผนไปสู่การปฏิบัติที่ดีให้ได้ มิฉะนั้นจะเป็นเรื่องของนามธรรมหรือเป็นเพียงแค่ความฝันเท่านั้น
ดังนั้น จึงขอให้เราได้มีความฝันร่วมกัน “ฝันที่จะทำเรื่องนามธรรมให้เป็นรูปธรรมในความจริงด้วยการปฏิบัติที่ดี” และแม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ก็ต้องร่วมกันแก้ไข และส่วนตัวถือว่า “อุปสรรคคือความสำเร็จ” เมื่อคิดได้เช่นนี้แผนที่ได้ร่วมคิดและร่วมวางแผนมาอย่างเป็นระบบ ก็จะก่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลต่อการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีคะแนนการจัดอันดับการประเมินในระดับนานาชาติที่ดีขึ้น เป็นต้น
ตามหลักการวางแผนโดยทั่วไป ใช้หลักวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) ในการทำงาน แต่เห็นว่าควรเน้นวิเคราะห์จุดแข็งและโอกาสที่มีอยู่ เพื่อความก้าวหน้าในการทำงาน ส่วนจุดอ่อนและอุปสรรค ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขควบคู่กันไป เช่น การพัฒนาด้านเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีแผนการเรียนธุรกิจ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้จัดทำแผนการเรียนธุรกิจสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ใน 14 วิชา 18 บทเรียน เพื่อปูพื้นฐานด้านธุรกิจให้กับนักเรียน เป็นต้น
งานวิจัย ถือเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการทำงานในยุค THAILAND 4.0 ที่จะต้องพัฒนาด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัย นอกจากนี้การวิจัยยังช่วยแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ด้วย
ส่วนโพลสำรวจความคิดเห็น ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยสะท้อนมุมมองการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การสำรวจความพึงพอใจโครงการจัดการศึกษาในพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกลุ่มตัวอย่างนักเรียนนักศึกษา ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการความมั่นคง ตลอดจนครู รวมกว่า 500 คน พบว่า มีความพึงพอใจระดับมาก ร้อยละ 31 มีความพึงพอใจระดับปานกลาง ร้อยละ 54 และยังได้รับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินโครงการต่อไปด้วย จึงทำให้เชื่อได้ว่าการใช้วิธีการสำรวจสอบถามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง จะสามารถช่วยพัฒนาโครงการและแผนงานได้เป็นอย่างดี
ขอให้ทุกคนพยายามติดตามข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ ความเป็นไป ทั้งภายในจังหวัดและในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิทยาการใหม่ ๆ นโยบายและแผนงานของรัฐบาล ระบบไอทีและนวัตกรรมต่าง ๆ การค้าการลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างกลมกลืน เป็นการมองไปข้างหน้าที่จะเป็นประโยชน์กับการวางแผนการทำงานต่อไป
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน ประกอบด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายประชาคม จันทรชิต
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
14/9/2560