ยกระดับการเรียนวิทยาศาสตร์ยุคใหม่

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผศ.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เรื่อง “ความร่วมมือในการพัฒนาอาจารย์และนักศึกษา หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อยกระดับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ยุคใหม่” โดยมี ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ตลอดจนอธิการบดี คณบดี และคณาจารย์ เข้าร่วมงาน เมื่อวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ให้เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ซึ่งการพัฒนานี้จะเชื่อมโยงกับพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (Competency-based) ตามหลักสากล เพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงและบริบทสังคมโลกในอนาคต

สำหรับการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับ STEM Education ประกอบด้วย 2 มิติ คือ “มิติด้านวิชาการ” ซึ่งเป็นเนื้อหาและองค์ความรู้ต่าง ๆ และ “มิติที่เป็นทักษะ” ที่จะต้องปลูกฝังและบ่มเพาะทักษะผ่าน STEM Education เช่น ความมีเหตุผล, มีตรรกกะในการคิดแก้ปัญหา, คิดเป็นและมีหลักคิดที่ถูกต้อง, คิดแบบมีเหตุผล, รู้จักตั้งคำถามและคิดวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะใช้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ

ดังนั้น ความร่วมมือระหว่าง สสวท. และ มรภ. ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการยกระดับสมรรถนะในการผลิตบัณฑิตครู ในการที่จะเป็นต้นแบบและสอนนักเรียนทั่วประเทศให้มีแนวคิด หลักคิด และทัศนคติแบบใหม่

ผศ.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง มรภ. ทั้ง 38 แห่ง กับ สสวท. ในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในระดับประเทศ ระดับองค์กร และในระดับการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นการขยายความร่วมมืออย่างเป็นระบบ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิชาการในการผลิตบัณฑิตครูจำนวนมากของ มรภ. พร้อมทั้งยกระดับสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับ STEM Education และวิทยาการคำนวณ (Coding) ที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาบัณฑิตครูให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงตามความมุ่งหวังของ มรภ. และเป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะ นำไปสู่การสร้างคนไทย 4.0 ต่อไปในอนาคต

คาดหวังว่าผู้ที่จบการศึกษาครุศาสตรบัณฑิตจาก มรภ. จะเป็นครูที่มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการและสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียน และสามารถเป็นแกนนำหรือผู้ช่วยวิทยากรให้กับอาจารย์ มรภ. เพื่อขยายผลการอบรมและยกระดับสมรรถนะของครูในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นมิติที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแลงรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในประเทศไทย ตามภารกิจของ มรภ. ในการเป็นสถาบันผลิตบัณฑิตครูโดยตรง ที่จะต้องปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมการสอนและพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

อีกทั้ง มรภ. ทั้ง 38 แห่ง ก็มีสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ จึงสามารถเป็นหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครูของประเทศให้มีประสิทธิภาพ มีทักษะด้านเทคโนโลยีในยุคประเทศไทย 4.0 และสามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะให้กับอาจารย์และนักศึกษาสู่รุ่นต่อไปได้

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (สครภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ มรภ. ทั่วประเทศได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี ซึ่งเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจะมีความรู้และทักษะตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งมีมาตรฐานวิชาชีพครูและเป็นครูมืออาชีพที่มีคุณภาพ สำหรับความร่วมมือกับ สสวท. ในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาสมรรถนะของอาจารย์ผู้สอน มรภ. และนักศึกษาในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตของ มรภ. ผ่านแผนงานที่ทำความตกลงร่วมกัน อาทิ การจัดทำหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับ STEM Education และวิทยาการคำนวณ, การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้, การอบรมพัฒนาอาจารย์ มรภ. ให้มีสมรรถนะในการพัฒนาครูในพื้นที่ เป็นต้น

เชื่อว่าความร่วมมือระหว่าง มรภ. และ สสวท. จะเป็นประโยชน์กับครูและเด็กโดยตรง รวมทั้งทำให้เกิดพลังในการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ให้มีคุณภาพต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กล่าวว่า การนำวิธีการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แนวใหม่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มาปรับใช้ในประเทศไทยตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาที่จะจบไปเป็นครู สอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็กในปัจจุบัน ที่สามารถค้นคว้าสิ่งที่ครูสอนได้จากอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ครูในอนาคตต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน เป็นผู้อำนวยความสะดวก ผ่านการเรียนรู้แบบ STEM Education พร้อม ๆ กับให้เด็กมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น

จึงคาดหวังว่าความร่วมมือระหว่าง สสวท. และ มรภ. จะช่วยให้อาจารย์ของ มรภ. ถ่ายทอดความรู้สู่ลูกศิษย์ และนักศึกษา มรภ. ทั่วประเทศ เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถออกไปเป็นครูที่มีคุณภาพ ตามเจตจำนงของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศสู่ประเทศไทย 4.0

Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร