ยกระดับคุณภาพการศึกษาชายแดนใต้
รองนายกรัฐมนตรี เปิดการประชุมสัมมนา
ความปรารถนาดีของนายกรัฐมนตรี ที่มีต่อนักเรียนผู้ปกครอง และครู นั่นคือต้องการให้การจัดการศึกษาของประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ทำให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และคุณครูมีความสุข ด้วยการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดความสุขขึ้นในระหว่างกระบวนการจัดการเรียนรู้และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษา เช่น นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ การซ่อมแซมบ้านพักครูทั่วประเทศ เป็นต้น
การให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยขอให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาช่วยกันทำให้อันดับของผลการประเมิน PISA ได้ในลำดับที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าเพื่อนครูของเราทำได้
การอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้น ป.1 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้ และกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มากำหนดเป็นนโยบาย “นักเรียนที่จบชั้น ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่อง และต้องมีระบบการประเมินที่เป็นรูปธรรม” และเมื่อปีการศึกษา 2558 ที่ผ่านมานักเรียน ป.1 ทั่วประเทศจำนวน 457,719 คน สามารถพัฒนาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ โดยผ่านในระดับพึงพอใจมากถึงร้อยละ 96.06 ซึ่งยังคงเหลือนักเรียนที่ต้องปรับปรุงอีกจำนวน 18,052 คน หรือร้อยละ 3.94 เท่านั้น เชื่อว่าในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2559 นี้ จะสามารถช่วยเหลือเด็กจำนวนดังกล่าว ให้มีผลการประเมินการอ่านออกเขียนได้ครบทุกคนตามนโยบาย สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีนักเรียนที่ต้องช่วยเหลืออีก 3,267 คน ทราบว่าเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รมช.ศึกษาธิการได้นำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นแนวทางในการพัฒนาช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนว่า แต่ละเขตพื้นที่การศึกษามีนักเรียนต้องช่วยเหลือกี่คน รู้ลึกลงไปถึงแต่ละโรงเรียนว่ามีกี่คนและชื่อสกุลอะไร ถ้ามีข้อมูลเป้าหมายชัดเจนแบบนี้คงสามารถช่วยเหลือได้ในระยะเวลาไม่นาน ในนามของรัฐบาลจึงขอให้กำลังใจคุณครูและท่านผู้บริหารโรงเรียนทุกคน
การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเป็นธรรมให้สังคม ระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล การยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานการศึกษาสู่ท้องถิ่นทุรกันดารที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ที่ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยใช้การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) มาแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยถ่ายทอดการจัดการเรียนการสอนจากโรงเรียนต้นทางที่มีคุณภาพ คือ โรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ของพระองค์ บริหารงานโดยท่านขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและผู้จัดการโรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา
การพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2559 ซึ่งมีจุดเน้นที่สำคัญ 6 ประการ คือ
1) การส่งเสริมความปลอดภัย สวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ เน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคช่วยเหลือและดูแลครูทุกคน จึงขอให้ทุกคนมั่นใจได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะดูแลและร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องดูแลอย่างดีที่สุด
2) การยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยจะเร่งพัฒนาสื่อ เทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ตลอดจนหาองค์ความรู้ใหม่และเครื่องมือ เพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาให้มากขึ้น
3) การจัดการศึกษาเพื่อการมีอาชีพ ซึ่งจะต้องหาแนวทางที่ทำให้ระบบการศึกษาและความถนัดทางอาชีพของแต่ละคนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
4) การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยควรจัดการศึกษาในทุกพื้นที่ของประเทศ แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือบริเวณชายแดน
5) การนำการกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา เป็นการสร้างทีมเวิร์คให้เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความสามัคคี
6) การศึกษาเพื่อความมั่นคง กล่าวคือ การเดินไปข้างหน้าของเรา จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Strong Together from Behind เพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาการกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน ตามแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสนับสนุนให้โรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีความพร้อม พัฒนาโปรแกรมการเรียนในรูปแบบวิทย์-กีฬา หรือศิลป์-กีฬา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาแล้ว รัฐบาลจะมอบทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถด้านการกีฬาได้มีโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพทางด้านการกีฬาต่อไป ซึ่งมีโรงเรียนที่เปิดดำเนินการจำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ยะลา อำเภอเมืองยะลา, โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี, โรงเรียนนาทวีวิทยาคม อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา, และโรงเรียนละงูพิทยาคม อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งนับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้จัดห้องเรียนกีฬาในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในพื้นที่ภาคอื่นเพิ่ม คือที่โรงเรียนในจังหวัดสุโขทัย จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกระบี่ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559
STEM Education เป็นการพัฒนาและยกระดับการศึกษาที่จะตอบสนองต่อการเตรียมคนไทยรุ่นใหม่ ด้วยการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ดีบนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำทางวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีกลวิธีในการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ เพื่อปรับการเรียนการสอนของครู ให้สามารถพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป การดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะมีกลุ่มโรงเรียนเป้าหมายอยู่ ซึ่ง สพฐ. ได้คัดเลือกโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพและมีความประสงค์ไว้เขตละ 10 โรงเรียนแล้ว
โรงเรียนประชารัฐ นับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งมีโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทุกตำบลทั่วประเทศ ตำบลละ 1 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 7,424 โรงเรียน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือ CONNEXT-ED เป็นการขับเคลื่อนด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ผ่านข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐ – เอกชน หรือที่เรียกว่า “คณะทำงานประชารัฐ” จึงนับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของชาติด้วยการสนับสนุนในทุกมิติ เพื่อการวางรากฐานด้านการศึกษา เพราะประเทศไทยเป็นของทุกคน จึงต้องดูแลในเรื่องการศึกษาให้ดีที่สุด เป้าหมายของโครงการ ระยะแรก ภายในปีนี้ 3,342 โรงเรียน และระยะต่อไปภายใน 3 ปี จะขยายให้ครบ 7,424 โรงเรียน ในทุกตำบลทั่วประเทศ ซึ่งก็จะมีโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเป้าหมายดำเนินการด้วย ภายใต้ยุทธศาสตร์ 10 ด้าน มีกิจกรรมที่สำคัญๆ ได้แก่ 1) การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตของสถานศึกษา 2) การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดึงศักยภาพของเด็กในการคิดวิเคราะห์ค้นคว้า ศึกษาด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3) การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและผู้สอน ให้มีทักษะและกระบวนการทำงานที่เป็นเลิศ 4) การยกระดับทักษะ ความรู้ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ โดยการศึกษาตรงจากเจ้าของภาษาสอดแทรกในรายวิชาต่างๆ 5) การจัดตั้ง “กองทุนโรงเรียน” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและพัฒนาโรงเรียน เป็นต้น
นโยบายอื่นๆ ที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้การผลิตและพัฒนาครู การทดสอบ การประเมินคุณภาพและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา การผลิต การพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ICT เพื่อการศึกษา และการบริหารจัดการ
นวรัตน์ รามสูต : ถ่ายภาพ
10/7/2559