ยกระดับคุณภาพวิชาขีพ
28 พฤศจิกายน 2561 – ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะตัวแทนหัวหน้าทีมภาครัฐ พร้อมด้วยนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน “คณะทำงานด้านยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2: Competitive Workforce)” และนายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมแถลงผลการยกระดับการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะตอบโจทย์ความต้องการ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-Curve และ New S-Curve) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
ศ.
สำหรับผลการดำเนินงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สามารถผลิตกำลังคนออกสู่ตลาดงานในปี 2560 จำนวนกว่า 2.5 แสนคน และคาดว่าในปีการศึกษาหน้าจะมีกำลังคนที่จบการศึกษาอีกกว่า 2.6 แสนคน ถือว่าตอบโจทย์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ความคาดหวังต่อไปคือการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมที่จะทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งคณะทำงานด้านยกระดับคุณภาพวิชาชีพถือเป็นกลไกสำคัญ ในการร่วมคิดร่วมทำของทั้งภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ภาคเอกชน และสถานศึกษา ตลอดจนการแบ่งปันข้อมูลความต้องการกำลังคน ทำให้ได้ข้อมูลความต้องการของภาคเอกชนที่แท้จริง ส่งผลให้งานทุกอย่างขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย การผลิตกำลังคน 4.0 ที่เป็นมากกว่าช่างอุตสาหกรรม หรือนักปฏิบัติ แต่เป็น “นักปฏิบัติมืออาชีพ” ที่มีความรู้ด้านวิศวกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคดิจิทัล
ในส่วนของการปรับเพิ่มหลักสูตรนานาชาติ การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน “WIL” (Work-Integrated Learning) ตลอดจนการปรับทัศนคติของครูผู้สอนและผู้ปฏิบัติ เพื่อสร้างคนแบบใหม่ เป็นแนวทางการดำเนินงานที่ต้องคงไว้ และเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้นเพื่อความต่อเนื่อง
ยืนยันว่าในเรื่องของการพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาประเทศ จะมีความต่อเนื่องอย่างแน่นอน เพราะได้ระบุไว้ในกรอบการปฏิรูปการศึกษา และร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งก็ต้องดำเนินการต่อไป สิ่งสำคัญอีกประการคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เกี่ยวกับการเรียนอาชีวศึกษาในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการพัฒนาปรับปรุงบนฐานความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถานศึกษา อย่างเข้มข้น ที่จะทำให้ผู้ที่เรียนจบอาชีวะสามารถสร้างอนาคตให้กับตัวเอง และประเทศชาติได้
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวว่า เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 20 แห่ง ที่หันหน้ามาร่วมกันทำงานปรับปรุงให้การจัดการอาชีวศึกษาให้มีความก้าวหน้าไปมาก เชื่อว่างานด้านอาชีวะมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาได้อีกหลายส่วน โดยเฉพาะในภาคปฏิบัติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น
ทั้งนี้ ความร่วมมือ 3 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่ก้าวหน้าในหลายส่วน ดังนี้
-
คณะทำงาน Re-Branding ประสบความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ด้วย One Brand One Logo “อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ” ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นภาพใหม่ของผู้เรียนอาชีวะ พร้อม ๆ กับการสร้างทัศนคติและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวะสายช่างอุตสาหกรรม และผู้เรียนผู้หญิงด้วย
-
คณะทำงาน Excellent Model School ขยายความร่วมมือไปยังสถานประกอบการ 21 บริษัท เพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียน 68 แห่ง ตลอดจนมีนักศึกษาเข้าร่วม 1.3 หมื่นคน ในสาขางานหรือวิชา 37 สาขา พร้อมได้จัดทำและประกาศใช้เกณฑ์การประเมินสถานศึกษาระบบทวิภาคี เป็นสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ (Excellent Model School) เรียบร้อยแล้ว
-
คณะทำงาน Database of Demand and Supply สำรวจความต้องการใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลเป็น Big Data ต่อไป
-
คณะทำงาน Standards & Certification Center ได้มีการกำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ 8 ระดับ เทียบเท่ากรอบคุณวุฒิอาเซียน และจัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อจัดหลักสูตรให้สอดคล้องต่อไป
ขอขอบคุณภาครัฐที่มีความทุ่มเทจริงจังกับการพัฒนาการผลิตกำลังคน ซึ่งในระยะยาวก็ขอให้มีความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงนโยบาย งบประมาณ และการลงทุน ส่วนภาคเอกชน เชื่อว่าทุกองค์กรมีความยินดีจะช่วยตามความถนัด และจะผลักดันให้สถานประกอบการเป็นโรงเรียนมากขึ้น
นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ.ได้ร่วมดำเนินงานที่มีความก้าวหน้าในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์มาตรฐานวิชาชีพเพื่อปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ พร้อมเทียบกับมาตรฐานสากล การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการ เรียนรู้กับการทำงาน (WIL) โดยใช้โรงงานเป็นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ตลอดจนการวัดและประเมินผล ให้เหมาะสมกับการวัดทักษะและคุณลักษณะของผู้จบการศึกษา (Learning Outcome) และเทียบกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ และสิ่งสุดท้ายคือสถานศึกษาจะต้องเตรียมเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ และค่าตอบแทนที่เหมาะสมรองรับกำลังคนส่วนนี้ด้วย
ตัวแทนกำลังคนอาชีวะยุคใหม่ ซึ่งจบการศึกษาและมีงานทำแล้ว ได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันพัฒนาให้อาชีวะเจริญก้าวหน้า ทำให้เด็กอาชีวะมีอาชีพ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ หากเป็นไปได้ ขอให้มีโครงการต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้รุ่นน้อง ๆ จบแล้วมีงานทำ และมีรายได้ดูแลตัวเองเช่นเดียวกัน และดีใจที่ทั้งภาครัฐและเอกชนลงมาช่วยเหลืออาชีวะ ทำให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ทำงานจริง ๆ ได้รับประสบการณ์และความรู้ ที่จะไปสู่การทำงานในตลาดแรงงานอย่างสมบูรณ์
Photo Credit