ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการยกระดับสมรรถนะนักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และกำลังแรงงานในพื้นที่ ให้เป็นเลิศด้านภาษาจีน และการศึกษาทางไกล สู่การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสากล” เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนของไทย ระหว่างศูนย์การศึกษาทางไกลสถาบันขงจื่อ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และศูนย์สอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนในอาเซียน (ประเทศไทย) กับสถาบันอุดมศึกษา 5 แห่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี ผศ.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ Mr. Zhao Guoxiang ผู้อำนวยการศูนย์สอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนในอาเซียน (ประเทศไทย) Mr. Zhao Min ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทางไกลสถาบันขงจื่อ ตลอดจนผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วม

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความยินดีกับโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการยกระดับศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีทั้งความเก่งทางด้านวิชาการ (Talent People) สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคดิจิทัลมาช่วยสนับสนุน และมีสมรรถนะในการสื่อสารภาษาต่าง ๆ โดยเฉพาะทักษะทางด้านภาษา
กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายที่จะยกระดับทักษะด้านภาษาของบัณฑิตไทย ให้ได้ 3-4 ภาษาตามมาตรฐานสากล เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับใครก็ได้บนโลกใบนี้ เพราะการสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญ และไม่ว่าเราจะผลิตบัณฑิตให้มีความเก่งมากเพียงใด แต่หากไม่สามารถสื่อสารกับผู้คนต่าง ๆ ได้ ความเก่งนั้นก็จะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งทันที
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ของการเพิ่มความเข้มแข็งในการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนของไทย ภายใต้ “โครงการยกระดับสมรรถนะนักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และกำลังแรงงานในพื้นที่ ให้เป็นเลิศด้านภาษาจีน และการศึกษาทางไกล สู่การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสากล” ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ศูนย์การศึกษาทางไกลสถาบันขงจื่อ และศูนย์สอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนในอาเซียน (ประเทศไทย)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้การทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ครอบคลุมการทดสอบ 4 กลุ่ม คือ การวัดระดับความรู้ภาษาจีนสำหรับผู้ที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่สอง หรือ HSK (Hanyu Shuiping Kaoshi), การสอบวัดระดับความสามารถภาษาจีน ในทักษะด้านการพูด หรือ HSKK (Chinese Proficiency Speaking Test), การสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนสำหรับเด็ก YCT (Youth Chinese Test) และการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนเชิงธุรกิจ หรือ BCT (Business Chinese Test) เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัย ด้านการสอน ด้านเทคนิคการสอน และการทดสอบเพื่อรับใบรับรองความสามารถวิชาชีพครูภาษาจีนระดับสากล (Certificate for Teachers of Chinese to Speakers of Other Languages: CTCSOL), เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในพื้นที่ ให้มีความรู้ ความสามรถด้านภาษาจีน ตลอดจนเพื่อใช้หลักสูตรทางไกลของจีน และร่วมกันพัฒนาหลักสูตรสองปริญญา หรือหลักสูตรการศึกษาทางไกล ที่สามารถยกระระดับศักยภาพบุคลากรไทย-จีน ให้สามารถเทียบดอนประสบการณ์ และพัฒนาตนเองสู่การมีคุณวุฒิที่สูงขึ้น และเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศจีน ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และยกระดับคุณภาพนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคคลทั่วไปที่ต้องการเข้าทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน นักศึกษาครูสาขาวิชาการสอนภาษาจีน อาจารย์ผู้สอนภาษาจีน บุคลากรในสถานศึกษา ครูที่สอนภาษาจีนในพื้นที่ นักเรียนนักศึกษา และเยาวชนในพื้นที่ให้บริการ กำลังแรงงานในพื้นที่ และบุคลากรชาวไทย-จีน ที่ต้องการต่อยอดสู่การสู่การเพิ่มคุณวุฒิ
ในส่วนของเป้าหมาย ต้องการที่จะจัดตั้งศูนย์ทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนทางอินเทอร์เน็ตในมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง และผลิตอาจารย์ผู้สอนภาษาจีน ที่ได้รับการฝึกอบรมและได้ใบรับรองความสามรถวิชาชีพครูภาษาจีนระดับสากล (CTCSOL) สิ่งสำคัญคือมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 4 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สามารถนำหลักสูตรทางไกลและหลักสูตรฝึกอบรมของจีน ไปใช้กับนักศึกษาและครูผู้สอนภาษาจีนในพื้นที่ หรือบุคคลทั่วไป ให้ได้รับสองปริญญา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการสนับสนุนเรื่องของภาษาว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องการที่ยกระดับด้านภาษาของบัณฑิตไทย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าภาษาที่ 2 คือทักษะด้านภาษาอังกฤษ (English Proficiency) ที่มีความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานสากล และขอให้ทุกมหาวิทยาลัยพยายามผลักดันให้บัณฑิตมีทักษะภาษาที่ 3 และภาษาที่ 4 ให้ได้ด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ภาษาจีน” ที่มีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาของโลก ตลอดจนมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย
ดังนั้น การพัฒนาคนไทยให้รู้ภาษาจีน ซึ่งเป็นภาษาที่ได้รับการยอมรับและมีชาวจีนกระจายอยู่ทั่วโลก ก็จะช่วยเปิดโอกาสในการสื่อสารเชื่อมโยง เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนกับประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น ตลอดจนเป็นพลังสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรละเลยภาษาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันเอง อาทิ ภาษาบาฮาซา ซึ่งเป็นภาษาที่คนครึ่งหนึ่งของอาเซียนใช้ในการสื่อสาร เป็นต้น ในส่วนของครูภาษาจีน มีเป้าหมายที่จะสร้างครูภาษาจีนที่เป็นคนไทยให้มากขึ้น โดยเน้นหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรออนไลน์ พร้อมจัดตั้งศูนย์ทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อรับรองคุณภาพทักษะและสมรรถนะการใช้ภาษาจีนในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันขงจื่อ และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อให้มีการรับรองมาตรฐานครูสอนภาษาจีนที่จบในไทยจากทั้งสองประเทศ
ขอขอบคุณสถาบันขงจื่อสำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 16 แห่ง ทั้งการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน การมีครูอาสาสมัครชาวจีนมาอยู่ในไทยกว่า 1,700 คน และการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ที่จะได้ขยายการดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยไทยอีก 5 แห่ง เพื่อสร้างครูสอนภาษาจีนชาวไทย ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งในการยกระดับการเรียนการสอนภาษาจีนในไทย และเป็นอนาคตของการสร้างสมรรถนะในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น







Written by ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว, นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร