
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย กศน. สช. WOW WOW เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ของหน่วยงานในกำกับดูแลของจังหวัดนครปฐม เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2563 ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) จังหวัดนครปฐม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ด้วยสไตล์การทำงานของตน จะเน้นการรับฟังปัญหาความต้องการของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อพัฒนางาน พัฒนาการจัดการศึกษา เรียนรู้ ให้ตอบโจทย์ผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการเดินทางมาเยือนจังหวัดนครปฐมในวันนี้ เพื่อรับฟังข้อเสนอและประเด็นความต้องการจัดการเรียนรู้ ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก สำนักงาน กศน.จังหวัดนครปฐม และการศึกษาเอกชนนครปฐม ซึ่งเป็นงานที่อยู่ในการกำกับดูแล เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน ประชาชน และทุกภาคส่วน ให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น
ซึ่งงานศิลป์ช่างสิบหมู่ ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) มีภารกิจหลักตามแนวพระราชดำริ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของไทยที่เรียกว่า “ช่างสิบหมู่” นับเป็นงานศิลปะไทยโบราณอันล้ำค่า ที่ควรอนุรักษ์และสืบสานให้อยู่คู่บ้านเมืองไทยไปตราบนานเท่านาน ดังนั้นสิ่งใดที่จะช่วยเสริมเติมเต็ม เพื่อการอนุรักษ์ สนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ รัฐมนตรีคนนี้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และจากการเยี่ยมชมผลงานที่ทำด้วยมือในแต่ละหมู่ นับว่ามีความวิจิตร งดงาม และละเอียดอ่อนมาก ส่งผลให้หลักสูตรการเรียนการสอนช่างสิบหมู่ ต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ เป็น “ช่าง” ซึ่งหมายถึงผู้ทำงานด้วยมือ ที่จะสามารถรังสรรค์ปั้นแต่งผลงาน ให้มีความงดงาม และมีคุณค่าทางด้านศิลปะอย่างแท้จริง โดยหากมีนักเรียนหรือประชาชนสนใจจะเรียน ก็คงจะต้องจัดหลักสูตรที่มีระยะเวลาสั้นกว่านี้ เพื่อเป็นกิจกรรมเสริมทักษะด้านศิลปะ เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งเป็นการปลูกฝังความรัก ความหวงแหนในศาสตร์และศิลปะประจำชาติของเรา
นอกจากนี้ จากการเยี่ยมชมนิทรรศการขับเคลื่อนนโยบาย กศน. WOW WOW ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ภายใต้แนวคิด “1 อำเภอ 1 อาชีพ” ต้องขอแสดงความชื่นชมและต้องขอใช้คำว่า “ชาว กศน.สุดเจ๋ง” ที่สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างครบถ้วน และมีความก้าวหน้ามาก ทั้งการพัฒนาครู กศน. และบุคลากร ในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สารสนเทศเพื่อการศึกษา พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาตนเองและการปฏิบัติงาน, การพัฒนาหน่วยงานและสถานศึกษา ให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเน้นพัฒนาห้องสมุดประชาชน และ กศน.ตำบล เสมือน “คาเฟ่การเรียนรู้” เป็นแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย ให้บริการอินเทอร์เน็ต และจัดมุมต่าง ๆ สำหรับคนทุกช่วงวัย, การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยได้จัดทำแผนการเรียนรู้รายบุคคล การสอนออนไลน์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การฝึกอาชีพ และการค้าออนไลน์, เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น วัด ชุมชน เป็นต้น เพื่อร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ และการยกระดับ กศน.ตำบลกระทุ่มล้ม เป็น กศน.ต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยม, การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อเป็นค่ายพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสะเต็มศึกษา พัฒนาการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญ มีความตื่นตัวและตอบสนองการจัดหลักสูตรอบรมจัดทำหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำกลับไปทำเองที่บ้านได้ และทำแจกจ่ายให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการได้นำไปใช้ด้วย
เช่นเดียวกับการจัดการศึกษาเอกชนในจังหวัดนครปฐม ถือว่ามีความสมบูรณ์แบบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโรงเรียนในเมืองหลวง โดยเฉพาะผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2560-2561 ชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศในทุกวิชา ทั้งยังนำนวัตกรรมการเรียนการสอนสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น โครงงาน Geometric tree-pota by The Geometer”s Sketchpad (GSP) ของโรงเรียนสุคนธีรวิทย์ โดยใช้หลักการเรขาคณิตสองมิติ ผสานกับโปรแกรม GSP ในการออกแบบกระถางต้นไม้ เพื่อสร้างทักษะการคิด และสร้างสิ่งประดิษฐ์ ตลอดจนนำสู่การประกอบอาชีพและสร้างรายได้เสริมในอนาคต และกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ ซึ่งมีการนำวิทยาการ นวัตกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาช่วยบ่มเพาะการคิดเป็น วิเคราะห์ได้ การกล้าแสดงออก และสื่อสารทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนได้อย่างมั่นใจ ทั้งเชื่อมั่นว่า โรงเรียนและสถานศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ทั้ง 141 แห่ง (ในระบบ 45 แห่ง และนอกระบบ 96 แห่ง) จะสามารถจัดการศึกษาได้ดี และมีส่วนช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครปฐม ให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ฝากทำ Mapping การศึกษาเอกชนอย่างรอบคอบชัดเจน เพื่อสนับสนุนงานการศึกษา และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
“ความสำเร็จและความก้าวหน้าของทั้งงานช่างสิบหมู่ การจัดการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน มิเพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญสำหรับรัฐมนตรีคนนี้ รวมทั้งทุกเสียงสะท้อนอันเป็นประโยชน์ ที่จะนำสู่การปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ เพราะเรื่องของการศึกษารอเวลาไม่ได้ และเมื่อเข้ามาเป็นรัฐมตรีด้านการศึกษา ก็ได้ตั้งปณิธานที่จะทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่ ให้สมกับหน้าที่อันมีเกียรติ ในฐานะครูพี่โอ๊ะของชาว กศน. และ สช.ทุกคน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
โดยมีสรุปการรับฟังความต้องการและข้อเสนอแนะในการพัฒนาการศึกษาของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษกฯ สำนักงาน กศน. และ สช. ดังนี้
Q: ลักษณะของครูไทยในอนาคตในทัศนคติของท่าน ควรเป็นแบบไหน
A: ไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปมากแค่ไหนก็ตาม เชื่อว่า “การเป็นแบบอย่างที่ดี” เช่นแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ของชาติ ยังคงเป็นคุณสมบัติสำคัญของคนที่เป็นครู และมีความรัก ใส่ใจเสมือนเป็น “พ่อแม่คนที่สอง” ของนักเรียนและผู้เรียน ที่เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทั้งการครองตนและครองงานด้วยสติและปัญญาในทิศทางที่ดี และโดยส่วนตัวเชื่อว่า เมื่อครูดี ศิษย์ก็จะเอง เช่นเดียวกับรัฐมนตรีที่รักและเทิดทูนพระคุณครูอยู่ในหัวใจเสมอ
Q: การจัดสรรวัสดุให้เพียงพอต่อจัดการเรียน การสอนงานช่างสิบหมู่
A: จะรับไปเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยขอให้ทุกหน่วยงานเร่งใช้งบประมาณตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อจะได้นำงบเหลือจ่ายมาพัฒนาและเติมเต็มสิ่งที่ขาดแคลนเหล่านี้ พร้อมทั้งการจัดทำข้อมูล (Data base) เกี่ยวกับการสอนในที่ตั้ง และนอกที่ตั้งในอาคารหรือสถานที่ของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมอาคารให้มีความพร้อมใช้งานมากขึ้น
Q: การจัดหลักสูตรอนุบาลผู้สูงอายุ ให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต
A: มอบสำนักงาน กศน.จังหวัดนครปฐม ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสำรวจข้อมูลความต้องการของผู้เรียน และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องทั่วถึงต่อไป
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
11/3/2563