รมช.คุณหญิงกัลยา ตอบกระทู้ถามทั่วไป เปิดเผยข้อมูลในกระบวนการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา

เมื่อวันพุธที่ 5 สิงหาคม 2563 เวลา 11.30 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบกระทู้ถามทั่วไป เรื่อง เปิดเผยข้อมูลในกระบวนการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา โดยพันตำรวจตรี ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา

 width=

 width=

 width=

รมช.ศึกษาธิการ ได้ตอบกระทู้ถามว่า สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) ได้ดำเนินการจัดการทดสอบทุกประเภทตามมาตรฐานการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการประกันมาตรฐานการดำเนินงาน โดยได้มีการดำเนินการจัดการทดสอบใน 2 ลักษณะ คือ

1) การทดสอบทางการศึกษาตามมาตรฐานการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เช่น การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) ของระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ผ่านมาภายหลังเสร็จสิ้นการสอบและการประกาศผลสอบเรียบร้อยแล้ว สทศ. จะดำเนินการเผยแพร่ข้อสอบผ่านระบบเทคโนโลยี สารสนเทศของ สทศ. ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถศึกษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มีความประสงค์ให้เกิดความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถ นำข้อมูลไปศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้ของตนได้

2) การให้บริการการทดสอบ เช่น การทดสอบวัดความ ถนัดทั่วไป (General Aptitude Test หรือ GAT) ความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (Professional and Academic Aptitude Test หรือ PAT) การทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา รวมถึงการสร้างแบบทดสอบและการจัดสอบให้กับหน่วยงานของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อนำผลคะแนนไปใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งการเผยแพร่ข้อสอบหรือประโยชน์อื่นใดเป็นอำนาจของ ทปอ. โดย สทศ. เป็นเพียงหน่วยงานดำเนินการจัดสอบให้เท่านั้น

สำหรับการสอบโดยปกติ เมื่อเสร็จสิ้นการสอบและประกาศผลการสอบแล้ว สทศ. จะดำเนินการให้บริการประชาชน เป็นการแสดงความโปร่งใส และมีมาตรฐานในการจัดการทดสอบระดับชาติ ประกาศให้ผู้เข้าสอบแต่ละประเภทการสอบสามารถขอดูกระดาษคำตอบของตนเองได้ ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ประกาศผลสอบ โดยรูปแบบการขอดูกระดาษคำตอบ สทศ. จะประกาศเผยแพร่โดยทั่วไป และจะมีค่าธรรมเนียมในการให้บริการขอดูกระดาษคำตอบ ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะขอดู จะต้องมายื่นคำร้อง และชำระค่าธรรมเนียม ณ สถานที่ทำการของ สทศ. จากนั้น สทศ. จะต้องรวบรวมจำนวนผู้ขอดูกระดาษคำตอบตามรายวิชา นำไปคัดเลือกจากกระดาษคำตอบที่มีอยู่จำนวนมาก เพื่อจัดเตรียมเป็นชุดให้ผู้ยื่นคำร้องขอดู ตามวัน เวลา และสถานที่ ที่กำหนดสำหรับการดูคำตอบ ซึ่งจะทำให้ในวันที่นัดหมายจะมีการรวมตัวกันของบุคคลเป็นจำนวนมาก

แต่เนื่องจากในช่วงต้นปี พ.ศ.2563 ได้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่ง สทศ. ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่มายื่นคำร้อง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ได้พิจารณาในทุกมิติตามมาตรการ จึงเลื่อนการให้บริการขอดูคำตอบด้วยตนเองออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะผ่านพ้นไป ทั้งนี้ ได้ปรับวิธีการขอดูกระดาษคำตอบด้วยตนเองเป็นวิธีการยื่นทางออนไลน์ โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ร้องทราบผ่านทางระบบออนไลน์เช่นเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวก และความปลอดภัย โดยมีผู้เข้าสอบแสดงความประสงค์ขอดูกระดาษคำตอบ จำนวน 63,251 ราย คิดเป็นกระดาษคำตอบ 64,590 วิชา เมื่อนำไปเทียบกับจำนวนผู้ขอดูกระดาษคำตอบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าสามารถตรวจดูกระดาษคำตอบได้มากกว่าระบบปกติถึง 98.52 เปอร์เซ็นต์ และผลการดูกระดาษคำตอบผ่านระบบออนไลน์ถูกต้องตามที่ สทศ. ได้ประกาศไว้

ผู้เข้าสอบที่มีความประสงค์จะเข้าดูกระดาษคำตอบด้วยตนเอง และยื่นคำร้องขอไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น สทศ. ได้ให้ผู้เข้าสอบกลุ่มนี้ เป็นตัวแทนของผู้เข้าสอบทั้งหมดในการเข้าดูกระดาษคำตอบด้วยตนเอง และจัดให้มีการเข้าดูเป็นรอบ ๆ โดยมี ผู้เข้าดูกระดาษคำตอบ 129 คน จากผู้ยื่นคำร้องทั้งหมด 208 คน ซึ่งการยื่นคะแนนสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สทศ. ได้ให้บริการเข้าดูกระดาษคำตอบก่อนการนำผลคะแนนไปใช้ยื่นกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในระบบ Thai University Central Admission System (TCAS) โดยการตรวจกระดาษคำตอบถูกต้องเป็นไปตามที่ สทศ. ได้ประกาศไว้ หากพบว่าผลการดูกระดาษคำตอบมีความผิดพลาด สทศ. ได้หารือร่วมกับ ทปอ. จัดเตรียมหาแนวทางในการเยียวยาผู้เข้าสอบเรียบร้อยแล้ว

“ทั้งนี้ สทศ. ยังมีแผนการปรับปรุงการให้บริการเข้าดูกระดาษคำตอบผ่านช่องทางออนไลน์ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา ระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เข้าสอบสามารถตรวจดูกระดาษคำตอบของตนเองได้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องสร้างสมดุลระหว่างการให้บริการทางเทคโนโลยีกับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวก และเพิ่มช่องทางการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขอแสดงความขอบคุณสมาชิกผู้ตั้งกระทู้ถาม ถือเป็นคำถามที่มีประโยชน์ และเป็นโอกาสที่ดีกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับชั้นอุดมศึกษา” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
5/8/2563