รร.คุณธรรม ภาคกลาง ตะวันออก และกทม.

ห้องประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียริติ ฯ แจ้งวัฒนะ – ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่องศาสตร์พระราชาสู่การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม” ในการประชุมรายงานความสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรม ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2560 จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ (Foundation of Virtuous Youth: FVY) เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2560 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 700 คน อาทิ นายปราโมทย์ โชติมงคล ผู้อำนวยการศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวสถิรคุณ ครู ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาทุกสังกัดในจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาลูกหลานนักเรียนให้มีความรู้ความสามารถควบคู่กับการมีคุณธรรมจริยธรรม ภายใต้ โครงการโรงเรียนคุณธรรมโดยการมีส่วนร่วมของครูอาจารย์ ศึกษานิเทศก์ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกำหนดเป้าหมายขยายการดำเนินงานจากปีการศึกษา 2559 ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 10,000 โรงเรียน ให้ครอบคลุม 30,711 โรงเรียน ภายในปีการศึกษา 2560


ดังนั้น สพฐ. จึงได้ดำเนินโครงการร่วมกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ ผ่านศูนย์โรงเรียนคุณธรรม จำนวน 493 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมูลนิธิยุวสถิรคุณได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว เชื่อว่าจะช่วยให้การขับเคลื่อนมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมการพัฒนาคุณธรรม กลไกขับเคลื่อน และบูรณาการคุณธรรมจริยธรรมในชั้นเรียนอย่างเป็นรูปธรรม


สำหรับเป้าหมายโครงการ จะไม่เน้นปริมาณโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการเท่านั้น แต่ต้องการให้เกิดคุณภาพและความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพฤติกรรมของนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งถือเป็นช่วงวัยที่สำคัญ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการเลือกเรียนต่อสายวิชาชีพหรือสายสามัญ ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งสำคัญ เราจึงต้องสร้างให้เด็กเหล่านี้มีทั้งความรู้ความสามารถ และมีทักษะชีวิตในการที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขด้วย


ในส่วนของศาสตร์พระราชา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสคำสอนตลอด 70 ปีที่ผ่านมา หากผู้บริหาร ครู และโรงเรียน จะน้อมนำเป็นหลักการปฏิบัติและถ่ายทอดสู่เด็กและเยาวชนก็จะเกิดคุณค่าอันประเสริฐ โดยเฉพาะหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาที่เป็นหลักในการทำงานขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมได้ในทุกระดับ พร้อมทั้งขอย้ำให้สถานศึกษาร่วมขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม ตามตัวชี้วัดหลัก 5 ด้านของ สพฐ. ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม โดยพยายามทำงานเชื่อมโยงกับลูกหลานนักเรียน ครูบาอาจารย์ ตลอดจนผู้ปกครองอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง เพราะการได้มีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน จะทำให้เกิดความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ และจะไม่ปล่อยปละให้การสร้างลูกหลานให้เป็นคนดีและมีคุณธรรม กลายเป็นเรื่องของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น ส่วนครูต้องทำงานตามหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ที่สำคัญนักเรียนนักศึกษาต้องรู้จักวางตัวให้เหมาะสมตามกาลเทศะ มีความพอเพียง ใช้ Social Media อย่างมีคุณธรรม คือมีความรับผิดชอบ และพึงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริย์ ตลอดจนพระคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์









ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ
ของโรงเรียนคุณธรรม
ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร
จำนวน 242 โรงเรียน


1) โครงงาน เดินตามรอยเท้าพ่อด้วย อัฏฐออมรร.วัดถ้ำองจุ กาญจนบุรี มุ่งเน้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างบ้าน-วัด-โรงเรียน (บวร) เพื่อช่วยปลูกฝังการทำความดี พัฒนานักเรียนแบบองค์รวมให้มีความพร้อม ทั้งกาย จิตใจ และปัญญา ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ผ่านนวัตกรรมออม 8 ประการ (อัฎฐออม) ครอบคลุมทั้งนักเรียน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม คือ 1) ออมบุญ: ทำบุญและปฏิบัติธรรมร่วมกันในวันพระ, 2) ออมความดี: ทำความดีทุกครั้งที่มีโอกาส พร้อมจดบันทึกในสมุดความดี, 3) ออมสติ: ฝึกเจริญสติในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน, 4) ออมทรัพย์: ฝึกการใช้และสะสมเงิน ส่งเสริมการหารายได้ระหว่างเรียน, 5) ออมสุขภาพ: จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่ไข่ ปรุงอาหารเอง, 6) ออมป่า: ร่วมกันปลูกและดูแลรักษาต้นไม้, 7) ออมน้ำ: แก้ไขการขาดแคลนน้ำด้วยศาสตร์พระราชา คือสร้างฝายชะลอน้ำ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย, 8) ออมสิ่งแวดล้อม: ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทั้งด้านทักษะชีวิต อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีช่องทางการประกอบอาชีพ และโรงเรียนเกิดความสามัคคี มีวินัย ใฝ่ใจรับผิดชอบ


2) โครงงาน เรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์ความดีรร.บ้านป่าเด็ง เพชรบุรี เพื่อแก้ปัญหานักเรียนสื่อสารด้วยภาษาไทยไม่คล่อง เนื่องจากเป็นชาวไทยภูเขา ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอน จึงนำรูปแบบ “ป่าเด็งโมเดล” (Pa-Deng Model) ที่เน้นกระบวนการกลุ่มในการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมและแบ่งปันกัน มาใช้จัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มและให้มีนักเรียนเรียนดีอยู่ประจำทุกกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันในเรื่องของการเรียน การส่งงาน และสอดส่องพฤติกรรม ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของนักเรียนไปในทางที่ดี คือนักเรียนดี: คนเรียนเก่ง มีจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อน และไม่โอ้อวด ส่วนนักเรียนที่เรียนอ่อน เกิดความมั่นใจและเห็นคุณค่าของตนเอง, นักเรียนเก่ง: ทุกคนตั้งใจเรียนและทำให้นักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียนกลับมาเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนได้, นักเรียนมีความสุข: ได้ทำงานเป็นกลุ่ม ดูแลพฤติกรรม จึงชวนกันทำความดี เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ


3) โครงงาน ธรรมดา ธรรมดาวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม ราชบุรี เพื่อแก้ปัญหานักเรียนนักศึกษาขาดคุณธรรมจริยธรรม แต่งกายผิดระเบียบ ไม่มีสัมมาคารวะ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใน 2 ส่วนหลัก คือ การลงมือปฏิบัติทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ครูอาจารย์ น้องไหว้พี่ พี่ไหว้น้อง และการสร้างความดีด้วยโครงงานคุณธรรม ภายใต้หลักคิด เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำเสนอ ครูเป็นผู้ดูแล ให้แรงเสริมทางบวกเช่น โครงการจัดทำบัญชีครัวเรือนให้กับชุมชน, การซ่อมแซมและเดินระบบไฟฟ้าให้กับวัดและชุมชน ฯลฯ ส่งผลให้วิทยาลัยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งด้านกายภาพ ที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด สวยงาม ส่วนนักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงงานมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ


4) โครงงานการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมรร.สตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร ได้พัฒนากระบวนการปลูกฝังนักเรียนให้นำความรู้ไปช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม โดยแบ่งเป็น 6 ขั้นตอนการดำเนินงาน กล่าวคือ 1) กำหนดเป้าหมายคุณธรรมร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน 2) จัดกิจกรรมโครงงาน “1 ห้องเรียน ต่อ 1 โครงงานรวม 54 โครงงาน อาทิ ส่องเพื่อน, หนึ่งคน หนึ่งครูตรงเส้น, สมุนไพรพิชิตกลิ่น เป็นต้น 3) จัดกิจกรรมปฏิบัติหลักธรรมเป็นประจำต่อเนื่อง อาทิ นั่งสมาธิทุกเช้าวันจันทร์ เป็นต้น 4) การมีส่วนร่วม เน้นการนำปัญหาในโรงเรียนมาจัดทำโครงงาน โดยนักเรียนเอง 5) การนิเทศติดตาม และ 6) การประเมินผล โดยผู้บริหาร หัวหน้างานคุณธรรม ครู และนักเรียน เป็นผู้ประเมินความพึงพอใจตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งพบว่านักเรียนมีพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น สามารถทำงานเป็นทีม มีความสามัคคีและมีจิตอาสา ส่วนโรงเรียนและห้องเรียน ก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดมากขึ้นด้วย