รวมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนา เรื่อง รวมพลังเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) และปาฐกถาพิเศษ “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า การประชุมเสวนาดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2560 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติและการปฏิรูปการศึกษา โดยใช้พลังเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ร่วมกำหนดแนวทางการบริหารจัดการแผนพัฒนาการศึกษา และเลือกประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อันเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมเครือข่ายการศึกษาประชารัฐให้เข้มแข็งและเป็นเครื่องมือหลักในการปฏิรูปการศึกษา ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ นำไปสู่การพัฒนาชาติย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป

โดยกลุ่มเป้าหมายในการเสวนาครั้งนี้ มีจำนวน 250 คน โดยมีตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ คือ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคีเครือข่ายจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ พื้นที่นำร่อง 6 พื้นที่เครือข่ายประชารัฐของ สกศ. บุคคลเครือข่าย เด็กและเยาวชน รวมทั้งตัวแทนภาคประชาชน

สำหรับสถานที่การจัดเสวนาครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” ที่ก่อตั้งโดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงสู่การปฏิบัติ โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่แสดงผลสัมฤทธิ์ของการนำศาสตร์พระราชาด้านการจัดการดิน น้ำ ป่า มาฟื้นฟูระบบนิเวศจนสามารถพลิกฟื้นดินดานสร้างระบบนิเวศที่สมดุลต่อระบบการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งเป็นสถานที่สวยงาม สงบ ร่มรื่น เป็นธรรมชาติ ผู้คนสุภาพอ่อนน้อม

ที่สำคัญยังมีนักศึกษาชาวไทยและต่างประเทศมาเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เช่น นักศึกษาประเทศภูฏาน 4 คน ได้เข้ามาเรียนรู้ในเรื่องนี้เป็นเวลากว่า 3 ปี เพื่อนำความรู้เศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชา กลับไปเป็นแนวทางพัฒนาพื้นที่ในประเทศภูฏาน

ทั้งนี้ ได้ให้แนวคิดแก่ผู้เข้าร่วมเสวนาในเรื่องศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดถึงกันทั่วโลก แม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังให้ความสนใจเข้ามาศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงได้ย้ำให้ร่วมกันขับเคลื่อน โดยนำหลักคิดเรื่องศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติที่มีหลากหลายแนวทาง เช่น กระบวนการคิดที่จะนำไปสู่การสร้างเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี มีวินัย ภูมิใจไทย ไปสร้างชาติ ด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด “STAR STEMS” ของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการเรียนรู้ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ

  • STAR ได้แก่ Student-คนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ, Teacher-กระตุ้นความคิด กระตุ้นจินตนาการ แนะนำ กำกับ, Academic-บูรณาการสาระวิชา ความดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รับผิดชอบ, Revolution-ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยน พลิกผันทันที

  • STEMS เป็นการเรียนรู้แบบ Situation Based Learning : SbL พร้อมสอดแทรกเรื่องคุณธรรม ความเป็นไทยตลอดเวลา ได้แก่ Scientific Thinking หลักเหตุและผล, Thai-Technology หลักภูมิปัญญาไทย ศาสตร์พระราชา, English-Engineering หลักประสิทธิภาพ ระบบและการสื่อสารภาษาอังกฤษ, Moral-Mathematics หลักพิสูจน์ด้วยหลักตรรกะและคุณธรรม, Socio Geology หลักความสอดคล้อง เชื่อมโยงกับภูมิสังคม

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้การอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชน ควรจะเป็น “คุณธรรมนำความรู้” ไม่ใช่ความรู้คู่คุณธรรม และฝากหลักคิดการทำงานและการครองตนด้วยว่า ขอให้เราค้นพบตัวเอง เพราะการรู้จักตัวเองจะทำให้รู้ว่า อะไรที่ควรหรือไม่ควรประพฤติปฏิบัติ อะไรที่ควรหวงแหน อะไรคือความผิดหรือความชั่ว

และขอให้ช่วยนำหลักคิดที่สำคัญในการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม 5 ข้อ ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม ไปถ่ายทอดและขยายผลให้เกิดเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแก่ลูกหลานเยาวชนไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สืบไป


บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
31/8/2560