ร่วมนำเด็กเข้าพบ นรม.

ศธ.นำเด็กดีเด่นเข้าพบนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2561 เวลา 9.00 น. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศธ. นำเด็กและเยาวชนดีเด่นที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ จำนวน 785 คน เข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาทจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยต้องพัฒนาความรู้ของทรัพยากรบุคคลของประเทศ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ทุกคน ณ ที่นี้ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ให้ได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ ที่จะเป็นหลักสำคัญในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และอยู่ในสังคมที่มีความเป็นพลวัตในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ให้ได้ ดังคำขวัญที่ให้ไว้ในปีนี้ว่า “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” เพราะต้องการให้เด็กไทยเร่งใฝ่เรียนใฝ่รู้ รู้จักคิดวิเคราะห์ นอกจากเรียนในห้องเรียนตามหลักสูตรแล้ว ต้องเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีจิตอาสาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เคารพพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามของไทย เช่น การไหว้ การยืน การเดิน เป็นต้น และขอให้ใช้สื่อสมัยใหม่อย่างรู้เท่าทันและมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง แบ่งเวลาการใช้เพื่อความบันเทิงสนุกสนาน และคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ด้วย

สิ่งสำคัญคือขอให้เด็ก ๆ มีความรักต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็น “หลักชัยของประเทศ” พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในหน้าที่ของตนเอง ทั้งการขยันหมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียนและทำความดี ต่อยอดความพอเพียงสู่การดำรงตน การทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศ ตลอดจนยึดแนวทางค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต และสำหรับเด็กและเยาวชนที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ ขอให้รักษาความภาคภูมิใจจากรางวัลที่ได้รับไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในส่วนของรัฐบาลก็จะพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาเรียนรู้ ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน คือตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ตลอดจนการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ให้ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งจะเป็นแผนแนวทางการศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง และเกิดความรู้ที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สังคม การแพทย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ขอฝากกระทรวงศึกษาธิการให้มีการติดตามความเป็นไปของเด็กและเยาวชนที่ได้รางวัลจากการประกวดแข่งขันต่าง ๆ ที่ผ่านมา ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกด้าน ทั้งรางวัลจากภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มที่เรียนดีเพื่อต่อยอดความรู้ ไปจนถึงกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ให้ได้รับโอกาสทางสังคม และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข พร้อมขอให้ปรับการเรียนรู้ระหว่างครูกับนักเรียน ให้สามารถโต้ตอบกันมากขึ้น มีการแสดงความคิดเห็น เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกคิด และสร้างเสริมความรู้เรื่องกฎหมายของประเทศ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต สิ่งสำคัญคือการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ และเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่จะต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในพื้นที่ หมู่บ้าน ชุมชน ในอำเภอหรือในจังหวัดของตนเอง และเมื่อเรียนจบ ศธ.ต้องประสานกับหน่วยงานในระดับพื้นที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำงานเพื่อพัฒนาบ้านเกิดด้วย

นวรัตน์ รามสูต: สรุป
อิทธิพล รุ่งก่อน, ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน