ร่วมปช.บอร์ดสภากศ.

ประชุมบอร์ดสภาการศึกษานัดแรก เสนอปรับวิธีทำงาน เน้นตอบโจทย์เทรนด์ผู้เรียน ประเด็นใหม่ทันเหตุการณ์ และพัฒนาการศึกษาครอบคลุม แต่ไม่ซ้ำซ้อนของเดิม

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ร่วมประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี

รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มีความยินดีที่ได้มาร่วมประชุมบอร์ดการศึกษาในนัดแรก ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเสนอความคิดเห็นที่ดี ๆ ในหลายเรื่อง เชื่อว่าหากเราใช้ความเก่งความเชี่ยวชาญได้ถูกเรื่องถูกทาง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการนำข้อมูลและผลการดำเนินงานต่าง ๆ ไปใช้ในการทำงานเชิงนโยบาย พร้อมเชื่อมโยงกับผู้บริหารองค์กรหลักในภาพรวมทั้งระบบต่อไป

โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแนวทางการดำเนินงานการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ประจำปีงบประมาณ 2561 ของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาจำนวน 9 คณะ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านต่าง ๆ ได้แก่
– ด้านนโยบายการศึกษาและการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ : มีภารกิจทบทวนแผนการศึกษาแห่งชาติให้ทันต่อสถานการณ์ ผลักดันและส่งเสริมแผนสู่การปฏิบัติ
– ด้านระบบฐานข้อมูลและตัวชี้วัด : ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของ ศธ. และการวิเคราะห์ข้อมูลตัวชี้วัดและการนำเสนอผล (Dashboard)
– ด้านระบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา : รวบรวมข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาทุกระดับ พร้อมวิเคราะห์องค์ประกอบพื้นฐานที่จำเป็นต่อการจัดการศึกษา
– ด้านมาตรฐานการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ : เสนอความเห็นการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาสู่การปฏิบัติ, สนับสนุนสถานศึกษาให้นำมาตรฐานสู่การปฏิบัติ ตลอดจนจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
– ด้านการประเมินผล : ประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล และแผนอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง
– ด้านกฎหมายการศึกษา : กำหนดแผนพัฒนากฎหมายการศึกษา, ศึกษาวิจัยกฎหมายการศึกษา ตลอดจนพิจารณากลั่นกรองกฎหมายที่ออกตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
– ด้านการวิจัยการศึกษา : กำหนดทิศทางการวิจัย พร้อมหาแนวทางส่งเสริมสนับสนุนการทำวิจัย และกลั่นกรอง ให้ความเห็นหัวข้อการทำวิจัยของเครือข่ายวิจัยทางการศึกษาของ สกศ.
– ด้านบทบาทของภาคประชาสังคมเพื่อการศึกษา : พิจารณาให้คำแนะนำการหนุนเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดการศึกษา จัดทำและพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์
– ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา : จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานความรู้ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา พร้อมส่งเสริมบูรณาการความรู้ดังกล่าวในสถาน

รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ไม่ว่าจะเป็นสภาการศึกษาที่ดูแลทิศทางตามยุทธศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่ดูแลการศึกษาในระดับใด ต้องมีการประชาสัมพันธ์และสื่อสารให้สาธารณะและกลุ่มเป้าหมายทางการศึกษา ได้รับทราบถึงข้อมูลสภาวการณ์ด้านการศึกษา ตลอดจนความก้าวหน้าหรือผลการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างทั่วถึงครอบคลุม ทั้งในหมู่นักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง ประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงาน และเป็นการเปิดรับข้อมูลสะท้อนกลับ (Feedback) เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป อาทิ เรื่องของการปรับปรุงหลักสูตรให้ได้มาตรฐาน เป็นต้น

โดยในส่วนของอุดมศึกษา มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้ความก้าวหน้างานให้ได้มากที่สุด สำหรับการแก้ไขปัญหาอุดมศึกษาในระยะยาว ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือกระทรวงการอุดมศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะทบทวนหลักสูตรเป็นอันดับแรก พร้อมหามาตรการจูงใจให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพราะรัฐบาลให้การสนับสนุนและลงทุนเพื่อการศึกษาจำนวนมาก ดังนั้น จึงจะเร่งทบทวนหลักสูตรต่าง ๆ ให้ตรงความต้องการมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะลดหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ตลาดและความต้องการภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีอยู่หลายร้อยหลักสูตรลงด้วย

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
15/1/2561