รองนายกฯ ประชุมติดตามการทำงาน
กระทรวงศึกษาธิการ-พลังงาน-ICT
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การทำงานจะเน้น 3 เรื่องสำคัญ คือ 1) ตกผลึกนโยบาย โดยจะให้สำนักงานของรองนายกฯประสานทำความเข้าใจการทำงานในภาพรวมของรัฐบาลและกระทรวงเพื่อประสานทั้งระดับบน-ล่างให้สอดประสานกันและตกผลึกในเรื่องการทำงานร่วมกัน 2) ไม่ก้าวก่ายงานกระทรวง โดยจะไม่ก้าวก่ายการทำงานของกระทรวงที่กำกับดูแล ไม่ว่าจะในระดับรัฐมนตรีหรือระดับปลัดกระทรวง และจะเน้นการประสานงานด้านสื่อและข้อมูลโดยใช้วิธีประสานกันโดยตรง 3) ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาล ซึ่งเป็นอีกประเด็นสำคัญที่สำนักงานของรองนายกฯ จะมีส่วนช่วยกันทำงานเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นเสริมสร้างความกินดีอยู่ดีกับประชาชน มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ใหญ่รับผิดชอบงานค่อนข้างสูง มีประเด็นใหม่ๆเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและการปรับโครงสร้างกระทรวงจึงพร้อมจะผลักดันและให้กำลังใจการทำงานให้เดินหน้าต่อไปโดยหวังจะเห็นการทำงานที่ประสานสอดคล้องของ 5 องค์กรหลัก
อีกประเด็นสำคัญในช่วงเวลานี้ คือ การลดเวลาเรียนในชั้นเรียนถึง 14.00 น. สอดคล้องกับนโยบายนายกรัฐมนตรี ซึ่งรูปแบบการจัดกิจกรรมหลังเวลาเรียนช่วงบ่ายนั้นได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการประสานกับภาคเอกชนและกระทรวงวัฒนธรรมเข้าไปจัดกิจกรรมต่างๆในโรงเรียน และประเด็นการเข้มงวดกวดขันพฤติกรรมนอกเวลาเรียนของนักเรียน ต้องการให้เด็กและผู้ปกครองทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมกิจกรรมที่สร้างสรรค์สำหรับครอบครัวต่อไปโดยเฉพาะกิจกรรมด้านกีฬา
หลังจากนี้ อาจจะมีการประชุมร่วมกับกระทรวงต่างๆ เดือนละครั้งหรือ 2 เดือน/ครั้ง (ครั้งต่อไปจะเป็นช่วงเดือนธันวาคมนี้) และขอให้แต่ละกระทรวงส่งผู้แทนกระทรวง (อาจจะเป็นระดับ 5-6) เข้ามาทำงานที่สำนักงานรองนายกฯ ในการติดตามและประสานการทำงานร่วมกันต่อไป
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้แนะนำคณะผู้บริหารและข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการต่อที่ประชุมและบรรยายถึงภาพรวมการจัดโครงสร้างปัจจุบันของกระทรวงศึกษาธิการที่มี 5 องค์กรหลัก 4 หน่วยงานในกำกับ และ 3 องค์การมหาชนฯ
พันเอก ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ได้นำเสนอการมอบหมายงานให้ รมช.ศึกษาธิการ สั่งการและปฏิบัติราชการ โดยมอบให้พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ดูแลรับผิดชอบ สพฐ.-สอศ.-กศน. ส่วนนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ดูแลรับผิดชอบ สกอ.-สกศ.-สสวท.-สทศ. นอกจากนี้ ได้มอบหมายงานให้ รมช.ศึกษาธิการ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะมีการแต่งตั้งต่อไปดูแลรับผิดชอบขับเคลื่อนการทำงานเรื่องต่างๆ ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ 26 เรื่อง อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การมอบหมายงานตามนโยบายดังกล่าวจะให้มีการหารือร่วมกับ รมว.ศึกษาธิการโดยตลอด เพื่อแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติและสนับสนุนให้เกิดการทำงานข้ามแท่งหรือข้ามกระทรวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งจะให้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำตารางประสานสอดคล้องเพื่อใช้ในการติดตามงาน และจะมีการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรี“ ขึ้นที่ห้อง MOC เพื่อทำหน้าที่ติดตามข้อสั่งการของรัฐบาลและรัฐมนตรี รับทราบปัญหาข้อขัดข้องการดำเนินงานตามนโยบายรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานให้รัฐมนตรีวิเคราะห์ข้อเสนอขององค์กรหลักและข้อเสนอของคลังสมอง (Think Tank) ที่จะมีบุคคลหลายฝ่ายเข้ามาช่วยทำงาน เช่น ITD คณะทำงานรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ฝ่ายแผนงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) ของทุกองค์กรหลัก
พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ย้ำในที่ประชุมว่า กระทรวงศึกษาธิการคำนึงถึงการผลิตคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศที่เป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งโจทย์สำคัญคือ ใครจะเป็นคนให้โจทย์ในการผลิต การแก้ปัญหาการทุจริตในกระทรวงที่จะไม่ทิ้งและจะรายงานให้รองนายกฯ รับทราบโดยตลอด โดยกลับไปแล้วจะบอก Outcome ให้ได้ว่าภายในเดือนกันยายน 2559 จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในกระทรวงศึกษาธิการ เพราะนายกรัฐมนตรีเน้น “ทำให้ไว ทำให้เร็ว“
ในส่วนของความร่วมมือ กระทรวงศึกษาธิการจะเน้นการทำงานเชิงบูรณาการกับกระทรวงต่างๆ รวมทั้งกระทรวงพลังงาน และกระทรวง ICT ในการพัฒนาโครงข่าย (Networks) และเนื้อหา (Contents) ที่ใช้ในภาคการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันต่อไป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี –