ร่วมพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ตชด.
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” เมื่อวันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารจาก 2 หน่วยงานที่ร่วมลงนามครั้งนี้เข้าร่วม อาทิ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีภารกิจสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มทุกพื้นที่และทุกระดับการศึกษา เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในรูปแบบที่เหมาะสม ผู้เรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน โดย สพฐ.ได้จัดให้มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการสร้างโอกาส คุณภาพ และความเป็นธรรมในสังคมสำหรับนักเรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ ตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
สพฐ.จึงได้ดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ตชด. 9 ประเด็นหลัก ดังนี้
ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย
เพิ่มประสิทธิภาพการอ่านและเขียนภาษาไทย
ยกระดับการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
สนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน
สนับสนุนอัตรากำลังครูอัตราจ้างสาขาปฐมวัย
โรงเรียนคู่พัฒนาทางการศึกษา
ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)
ส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวัดและประเมินผลทางการศึกษา
สร้างขวัญ กำลังใจ ตามโครงการยอดครูผู้มีอุดมการณ์
ทั้งนี้ สพฐ.ได้มอบหมายให้แต่ละสำนักได้ประสานงานและวางแผนการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียน ตชด. ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเข้าสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และมีความก้าวหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การลงนามร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีในการได้ทำงานร่วมกัน ระหว่าง สพฐ. และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ รวมถึงการนำระบบ ICT เข้ามาใช้ในจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักค่านิยม 12 ประการ มีความเข้มแข็งทางด้านร่างกาย และจิตใจ เน้นการอ่านออกเขียนได้ คิดวิเคราะห์เป็น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ ได้แก่ พื้นที่สูงชายแดน เกาะแก่ง และเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ สพฐ. ในการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนโรงเรียน ตชด.ทั่วประเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์การศึกษาที่เท่าเทียม ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน ให้มีความพร้อมและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ ขอฝาก “ปัจจัยในความสำเร็จของการทำงานให้สำเร็จลุล่วง” โดยเน้นการประสานงานให้เกิดความแน่นแฟ้นของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่
1) ส่วนกลาง : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
2) ระดับพื้นที่ : สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ
3) ระดับสถานศึกษา : โดยโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั้ง 213 โรงเรียน จะร่วมมือกับโรงเรียนคู่พัฒนาทางการศึกษาของ สพฐ. เพื่อทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น ครูจากโรงเรียนคู่พัฒนา เข้าไปช่วยสอนในโรงเรียน ตชด.
อิทธิพล รุ่งก่อน, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
2/8/2560