ร่วมมือกับ วธ.เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดการประชุมบูรณาการความร่วมมือระดับกระทรวง เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในยุคดิจิทัล โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารของทั้งสองกระทรวง ร่วมประชุมหารือ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องศรีอยุธยา สำนักหอสมุดแห่งชาติ

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีภารกิจในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในหมู่เด็ก เยาวชน และประชาชน ผ่านแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ 42 แห่ง โบราณสถานทั่วประเทศกว่า 8,000 แห่ง หอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุ 20 แห่ง ฯลฯ พร้อมพัฒนารูปแบบการให้บริการองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้มีความทันสมัยขึ้น อาทิ ระบบสืบค้นหนังสือออนไลน์, ระบบ QR Code หรือเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (AR : Augmented Reality Technology) ในการนำชมพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน และอุทยานประวัติศาสตร์ เป็นต้น รวมทั้งสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันด้านศิลปวัฒนธรรมเวทีระดับนานาชาติและระดับโลก

จึงต้องการที่จะร่วมมือกับ ศธ. เกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ให้เด็กรักความเป็นไทย และรู้ถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กได้เข้าร่วมแข่งขันด้านศิลปวัฒนธรรมในเวทีสากล และเชิญชวนสถานศึกษานำเด็กไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้และใช้บริการองค์ความรู้ของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เข้ากับเด็กไทยในยุคดิจิทัลมากขึ้น

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลแสดงศิลปะระดับโลกเป็นครั้งแรก ชื่องานว่า “เทศกาลการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์ เบียนนาเล่ 2018 (Thailand Biennale 2018)” โดยหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจคือ ถนนสายศิลปะ ซึ่งมีศิลปินที่มีชื่อเสียงร่วมแสดงผลงานกว่า 70 คน รวมทั้งศิลปินไทยระดับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงขอเชิญชวนให้นำผลงานของเด็กและเยาวชนของไทยมาร่วมจัดแสดงด้วย

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เราทุกภาคส่วนควรหันกลับมามองและใส่ใจกับการบ่มเพาะศิลปวัฒนธรรมในสถานศึกษา ซึ่งในระยะหลังถูกละเลยและเจือจางไปมาก เพราะกระบวนการรับรู้ การเรียนรู้ รวมทั้งวิธีคิดของผู้คน เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่การจะสอนให้คนรุ่นใหม่รู้จักศิลปวัฒนธรรมไทย รักและหวงแหนรากเหง้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของเราเอง อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นสิ่งดีงามอันดับต้น ๆ ของโลก ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ มีแนวทางการดำเนินการในหลายส่วน ทั้งการบรรจุเรื่องของศิลปวัฒนธรรมไว้ในหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อบ่มเพาะและเชื่อมโยงการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่เล็กไปจนโต พร้อมส่งเสริมการทัศนศึกษาในแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมทั่วประเทศ ทั้งโบราณสถาน แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมในท้องถิ่น เป็นต้น

ดังนั้น จึงมีแนวทางส่งเสริมการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ประเพณีและความเป็นไทย ในสถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อาทิ งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา จัดมากว่า 20 ปีแล้ว เพื่อเป็นเวทีให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ และเชื่อมความสัมพันธ์ของนิสิตนักศึกษา โดยล่าสุดจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

นอกจากนี้ ยังมีงานดนตรีไทยอุดมศึกษา จัดมาตั้งแต่ปี 2509 ซึ่งเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนจากของจริง การทำจริง และเข้าร่วมกิจกรรมจริง ที่จะช่วยให้เกิดการซึมซับศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องจัดกิจกรรมใหญ่อะไร อาจจัดในลักษณะงานย่อยแต่ละมหาวิทยาลัยหรือระดับภูมิภาคก็ได้

ทั้งสองกระทรวงจะตั้งคณะทำงาน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน โดย วธ. จะเน้นการประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ที่จะเปิดโอกาสและเชิญให้เข้าใกล้ศิลปวัฒนธรรมที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว ส่วน ศธ. จะเชิญชวนให้นักเรียนนักศึกษาผลิตสื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เพื่อรับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการผลิตสื่อกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีงบประมาณปีละ 300 ล้านบาท โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์ความเป็นไทย แต่ยังคงไว้ซึ่งแก่นแท้ของศิลปวัฒนธรรม และที่สำคัญคือสามารถดึงใจวัยรุ่นสมัยใหม่ได้


Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit สุรัตน์ ภู่สุวรรณ
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร