ลงพื้นที่พัฒนาการศึกษา จชต.

2 รัฐมนตรีศึกษาฯ ลงพื้นที่นราธิวาส ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาชายแดนใต้


6 มิถุนายน 2559 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ งพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาการศึกษาทุกระดับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยติดตามความก้าวหน้าการจัดการศึกษาของโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งประชุมขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นนโยบายสำคัญในการให้มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

1 – ภารกิจการติดตามความก้าวหน้าการจัดการศึกษา
ของโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ : โรงเรียนต้นแบบ
โครงการ
สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 อ.รือเสาะ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อตรวจความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ปีการศึกษา 2559 และพบปะผู้บริหาร พร้อมทั้งมอบอินทผาลัม ซึ่งเป็นผลไม้ในการละศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม

ทั้งนี้ โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนขยายผลตามโครงการสานฝันการกีฬาฯ แห่งแรกของ จ.นราธิวาส เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนตามความถนัดและความสนใจในหลักสูตรวิทยาศาสตร์-กีฬา และศิลป์-กีฬา รวมถึงได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ ความรู้คุณธรรม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน อีกทั้งยังเป็นการร่วมสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจด้านกีฬาและเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยได้เริ่มเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตรดังกล่าวในระดับชั้น ม.4 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 จำนวนทั้งสิ้น 47 คน แยกเป็นนักเรียนชาย 32 คน และนักเรียนหญิง 15 คน ส่วนในปีการศึกษานี้เปิดรับนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.4 จำนวนทั้งสิ้น 76 คน แยกเป็นนักเรียนชาย 55 คน และนักเรียนหญิง 21 คน โดยรัฐบาลจะให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนเหล่านี้จนจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และหากมีความสามารถก็จะบรรจุเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งสามารถนำความโดดเด่นด้านกีฬาไต่เต้าไปสู่กีฬาอาชีพได้อีกทางหนึ่ง

โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ได้ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารเรียน โรงครัว โรงรับประทานอาหาร อาคารที่พักนักกีฬา และสนามกีฬาของโรงเรียน ซึ่งมีความก้าวหน้ามากกว่าร้อยละ 40 โดยมีคณะผู้บริหารในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม อาทิ พล.ต.จำลอง คุณสงค์ รองแม่ทัพภาคที่ 4, นายยะห์ยา ปะนาฆอ นายอำเภอรือเสาะ, นายธนู นูนน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15, นายนพพร มากคงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้, พ.ต.อ.เรืองศักดิ์ บัวแดง ผกก.สภ.รือเสาะ, พ.ท.ทรงเดช สุกนุ้ย ผบ.ฉก.นราธิวาส, นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ, นางสาธนี ศิริกุลบดี ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์, นายนิกร เซ้งเถียร ผู้อำนวยการโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ ตลอดจนคณะครูและนักเรียนของโรงเรียนให้การต้อนรับ


2 – ภารกิจการประชุมขับเคลื่อนนโยบาย
พัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.)

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มนร., นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้บริหารส่วนกลางและในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 8, นายกสภามหาวิทยาลัย คณบดี และอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่, ศึกษาธิการจังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษาในพื้นที่, ผู้บริหารศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือศึกษาธิการส่วนหน้า, ผู้แทนจาก ศอ.บต., ผู้บริหารสถานศึกษาทุกสังกัด ฯลฯ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 3 ท่านทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ซึ่งกำกับดูแลการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลงพื้นที่มาเป็นเวลานานและต่อเนื่อง จนเกิดผลการขับเคลื่อนที่มีความก้าวหน้าไปหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสอบ O-NET ในพื้นที่สูงขึ้นตามลำดับ

ส่วนการประชุมครั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงโครงการเครือข่ายเพื่อพัฒนาอุดมศึกษา ซึ่งมี 9 เครือข่ายเพื่อพัฒนาอุดมศึกษามีสมาชิก 171 สถาบัน ครอบคลุม 78 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือ การถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมให้แก่โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบพื้นที่รับผิดชอบเครือข่ายมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ภาคใต้ตอนล่าง หรือในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตามภาพ)

อย่างไรก็ตาม แนวทางดำเนินการให้มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง ต้องมาจากฝ่ายโรงเรียน ซึ่งต้องบอกมหาวิทยาลัยว่าต้องการอะไร ส่วนมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นฝ่ายที่จัดหา ก็ต้องดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ย้ำเสมอถึงการจัดทำโครงการต่างๆ ต้องเน้นไปที่ “ผลสัมฤทธิ์ (Result)” ซึ่งจะต้องกำหนดรายละเอียดใน 3 ส่วนหลัก คือ ผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ให้ชัดเจน เช่น หากต้องการให้นักเรียนเก่งวิทยาศาสตร์มากขึ้น ก็ต้องวัดออกมาให้เด็กเก่งได้จริง พัฒนาใคร กี่คน เป้าหมายไปถึงไหน ได้คะแนนดีขึ้นจริงหรือไม่ เรียนรู้มากขึ้นจริงหรือไม่ นักเรียนมีความประพฤติดีขึ้นหรือไม่ ฯลฯ ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างเข้าใจในเรื่องผลสัมฤทธิ์ของการเสนอขออนุมัติโครงการ จะทำให้การพบกันระหว่างโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยจะเป็นแบบมีเป้าหมาย ส่งผลให้มีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าด้วย

นอกจากเรื่องมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงแล้ว นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้ให้นโยบายตามแนวทางการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเน้นคุณภาพ (Quality) ว่าจะต้องพิจารณาถึงวิธีการที่จะสนับสนุนนักเรียนให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนการประกันคุณภาพ (Quality Assurance) จะเป็นการทดสอบว่ามาตรฐานทางวิชาการและคุณภาพของอุดมศึกษาเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เรียนรู้สิ่งดีๆ ที่หลายมหาวิทยาลัยดำเนินการได้เป็นแบบอย่างที่ดี เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีหลักสูตร “วิทยาศาสตรบัณฑิต (ศึกษาศาสตร์)” ซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศที่ดำเนินการมากว่า 50 ปีแล้ว, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีหลักสูตร “กินนอนสอนครู (Residentual)” ซึ่งครูอยู่กินนอนในโรงเรียน, มนร. ที่เน้นในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุขมากขึ้น ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รวมทั้ง รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะฝ่ายนโยบายพร้อมให้การสนับสนุนความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ เหล่านี้

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ยังได้กล่าวถึงพระราชกระแสฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การให้โรงเรียนสร้างคนดีแก่บ้านเมือง (School Aims)” ซึ่งคนดีในที่นี้หมายถึง การมีทั้งคุณธรรมและคุณประโยชน์ พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างพระราชกระแสฯ เกี่ยวกับการศึกษาในช่วงปี พ.ศ.2555 อาทิ  “ต้องปรับปรุง .. ครูจะอายุ 40-50 ปี ก็ต้องเรียนใหม่ ต้องปฏิวัติครูอย่างจริงจัง” (6 มิ.ย.2555), “ครูต้องสอนให้เด็กนักเรียนมีน้ำใจ” (11 มิ.ย.2555), “ครูบางส่วนเวลาสอนนักเรียนจะสอนไม่หมด แต่เก็บไว้บางส่วน” (5 ก.ค.2555), “ทำตัวอย่างให้นักเรียนเป็นคนดี” (9 ก.ค.2555) เป็นต้น

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้ฝากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ให้ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลด้านการศึกษา เช่น STEM Education, การพัฒนาภาษาอังกฤษ, โครงการประชารัฐ ฯลฯ รวมทั้งให้ลงไปดูว่าในพื้นที่ยังมีโรงเรียนที่สร้างความแตกแยก (Extremist) หรือพวกสุดโต่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกอย่างหนักทั้งด้านเชื้อชาติศาสนาหรือไม่ เพราะไม่ต้องการให้ทุกพื้นที่ในประเทศมีโรงเรียนที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สิ่งเหล่านี้


บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ
ขอบคุณภาพถ่ายภารกิจที่ รร.รือเสาะชนูปถัมภ์ : ศึกษาธิการส่วนหน้า
7/6/2559