ลงพื้นที่มาบตาพุด

รมช.สุรเชษฐ์ลงพื้นที่ติดตามงานศูนย์ EEC TVET-เปิดอาคารแผนกวิชาปิโตรเคมี ที่ วท.มาบตาพุด

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จ.ระยอง (EEC TVET Career Center: RAYONG) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดอาคารแผนกวิชาปิโตรเลียม วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม 2561

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบการทำงานรองรับการประชุม ครม.นอกสถานที่ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ณ จังหวัดจันทบุรี โดยได้รับมอบหมายจาก รมว.ศธ. ให้มาตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จ.ระยอง และศูนย์ย่อยวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด เพื่อติดตามการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคน สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของ สอศ. โดยวางเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะมีส่วนสำคัญในการผลิตและพัฒนาคนที่จะเป็นฐานในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอาชีวศึกษา ที่จะต้องพัฒนาทักษะฝีมือของนักเรียนนักศึกษา ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และอุตสาหกรรมในพื้นที่

และเพื่อให้มีการดำเนินงานตามแผนการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาใน EEC เพื่อรวบรวมข้อมูลความต้องการด้านกำลังคน นำไปวางแผนบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ หน่วยงานระดับจังหวัด BOI เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามนโยบายรัฐบาลเพิ่มเติม ในเรื่องของ Big Data และการปฏิรูปอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษาอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ ให้สถานศึกษามีคุณภาพใกล้เคียงกันทุกแห่ง นอกเหนือจากสถานศึกษาในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ หรือมีบริบทตามแต่ละภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ สอศ. ได้ประเมินผลและจัดลำดับไว้แล้ว

สำหรับวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovative Workforce) มุ่งผลิตกำลังคน “ระดับช่างเทคนิค” และจัดทำข้อมูลมาตรฐานวิชาชีพอุตสาหกรรม สาขาปิโตรเลียม/ปิโตรเคมี ตลอดจนถึงพัฒนานักศึกษาในโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี Vocational Chemical Engineering Practice College (V-ChEPC) ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือระหว่าง ศธ. สอศ.มูลนิธิศึกษาพัฒน์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านปิโตรเลียม/ปิโตรเคมีอย่างมีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำทันที และได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าวุฒิการศึกษาระดับเดียวกัน

ที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว จำนวน 8 รุ่น จำนวน 268 คน และกำลังศึกษาอีก 80 คนใน 2 รุ่น โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) มุ่งทักษะการคิด วิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา และการเรียนรู้เพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติม (Learn How to Learn) ผ่านการเรียนรู้ในลักษณะโครงงาน พร้อมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนให้มีทักษะนิสัยอุตสาหกรรม มีคุณธรรมจริยธรรม และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยจะมีการเปิดรับสมัครผู้สนใจต่อไป

ทั้งนี้ วท.มาบตาพุด เป็นศูนย์ประสานงานย่อย EEC TVET Career Center รับผิดชอบดูแลร่วมกับเขตพื้นที่อุตสาหกรรม 6 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด), นิคมอุตสาหกรรมผาแดง, นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย, นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล และนิคมอุตสาหกรรมท่าเรือ เอเชีย เทอร์มินัล 6

ศุภลักษณ์ แจ้งใจ : สรุป
นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน : ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี รายงาน
31/1/2561