ลงพื้นที่สถานศึกษาในพื้นที่สูง
จังหวัดเชียงราย – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการการจัดการศึกษาพื้นที่นาโต่
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการการจัดการศึกษาพื้นที่นาโต่ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติฯ
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและทรงมีความห่วงใยในด้านการศึกษาของนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่สูงและทุรกันดารห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีความเสมอภาค สามารถจบการศึกษาตามหลักสูตร และได้รับการพัฒนาทั้งด้านทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ มีงานทำ และมีรายได้ในบริบทพื้นถิ่นของตนเอง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จึงได้ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) น้อมรับพระราชกระแสรับสั่งและหารือแนวทางความร่วมมือในการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการ ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยในทุก ๆ ด้าน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีแนวทางในการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะด้านภาษาไทย สามารถอ่านออกเขียนได้ และมีความพร้อมในการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ให้ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เชื่อมโยงความรู้และทักษะให้นักเรียนสามารถประกอบอาชีพตามความสนใจและตามความต้องการของชุมชนพื้นถิ่น ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนให้มีความพร้อมในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ
จึงขอให้น้อมนำพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการทำงาน อาทิ พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า “งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ดังนั้น จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 12 ธันวาคม 2512) รวมทั้งพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง, การสร้างลักษณะพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม, เรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี เพื่อใช้เป็นหลักในการทำงาน บูรณาการเชื่อมโยงการศึกษาทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการศึกษาและพัฒนาคนในพื้นที่ รวมทั้งนำสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนไปพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ตรวจเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาโต่ (วปรอ.344 อุปถัมภ์)
โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน ที่โรงเรียนมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จำนวน 257 คน และมีหลากหลายชาติพันธุ์ ในขณะที่มีครูเพียง 11 คนเช่นเดิม การนำแนวทางการจัดการศึกษาด้วยระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) เข้ามาช่วยจัดการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นระบบที่มีคุณค่า และดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งได้มอบให้ สพฐ. สนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์รับสัญญาณต่าง ๆ รวมถึงการอบรมครูปลายทาง เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของ DLTV ด้วย
สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อให้นักเรียนอ่านออกเขียนภาษาไทยได้ โดยอาจนำแนวทางของศูนย์พัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาปรับใช้กับการใช้ภาษาไทยทั้ง 4 ทักษะ (ฟัง พูด อ่าน เขียน), การแจกลูกสะกดคำ, การเขียนเรียงความภาษาไทย เป็นต้น
ตรวจเยี่ยมศูนย์การเรียนบ้านนาโต่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย
นายบัณฑิต สมจิตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย กล่าวว่า ศูนย์การเรียนบ้านนาโต่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย มีเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและขยายวิชาชีพด้านเกษตรให้กับคนในชุมชน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่หลังจบการศึกษา ด้วยการจัดการเรียนการสอนบนฐานอาชีพ จำนวน 15 ฐาน ในรูปแบบ Project-based Learning เน้นความรู้เกี่ยวกับการผลิตพืชและสัตว์ และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Video Conference ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย ในส่วนปัญหาและอุปสรรคของการจัดการเรียนการสอน มีในหลายส่วน อาทิ ระบบไฟฟ้าที่ไม่เสถียรส่งผลต่อระบบอินเทอร์เน็ตและการเรียนการสอนแบบ Video Conference ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร, การขาดแคลนบุคลากรด้านวิชาเกษตร เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้องค์กรหลักดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง อาทิ มอบ สพฐ. และ สอศ. สรุปผลการลงพื้นที่ครั้งนี้ พร้อมแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนการทำงาน และแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม, มอบสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งคณะทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาแบบบูรณาการในพื้นที่นาโต่ ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในลักษณะของ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) เพื่อดำเนินงานให้ครอบคลุมการจัดการศึกษาทุกรูปแบบ ทุกระดับ ที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียนในปีการศึกษา 2562 นี้
สำหรับภารกิจครั้งนี้ มีผู้บริหารที่ร่วมลงพื้นที่ อาทิ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, นายนพรัตน์ อู่ทอง ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย, พ.ต.อ.รังสิมันต์ สงเคราะห์ธรรม ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32, ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, นายมนต์ชัย ปาณธูป ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36, นายเมธา ปรางค์แสงวิไล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 3, นายปริวิชญ์ ไชยประเสริฐ ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงราย, นายบุญทรง จิโนเป็ง ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดเชียงราย, ผู้แทนบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ผู้แทนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น