ลงพื้นที่ กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2562 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2562 ณ ศูนย์การเรียนชุมชนบ้านในสอย และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยปูแกง สังกัด กศน. อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน สำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนางรัตนา ศรีเหรัญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก นายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. ตลอดจนผู้อำนวยการ กศน.จังหวัดภาคเหนือ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ กศน.อำเภอ และครู กศน.ตำบล ครูศูนย์การเรียนชุมชน (ศศช.) เข้าร่วมกว่า 100 คน
นางรัตนา ศรีเหรัญ กล่าวว่า จากการรับฟังการดำเนินงาน รู้สึกดีใจที่งานด้านการจัดการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพ ประชาชนได้รับการอบรมหลักสูตรต่อเนื่องและหลักสูตรระยะสั้น เป็นการช่วยสร้างอาชีพ สร้างความสำเร็จ ที่จะก่อให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป
พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวว่า ครู กศน. ถือเป็นแบบอย่างของความอ่อนตัวในการจัดการศึกษา โดยสามารถเข้าไปให้การศึกษาเรียนรู้ แก่เด็กและเยาวชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แม้จะห่างไกลหรือทุรกันดารเพียงใด โดยเฉพาะศูนย์การเรียนชุมชนบ้านในสอย ที่ได้ใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ เน้นการสื่อสารภาษาต่าง ๆ การศึกษาเพื่อการมีงาน ของกลุ่มเด็กและผู้ด้อยโอกาสจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พร้อมขอชื่นชมการเตรียมแผนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันได้ (Non–Formal Education for Global) เพื่อจัดการศึกษาให้เข้าถึงคนทุกช่วงวัย และการขยายศูนย์การเรียนชุมชน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ในส่วนของ ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยปูแกง เป็นอีกตัวอย่างของการเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาชุมชนตามบริบทของพื้นที่ พร้อม ๆ กับการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืนในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงความมั่นคง ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เนื่องด้วย กศน.สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาในทุกพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมพื้นเมืองที่แตกต่างกันไป อาทิ ศศช. “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยปูแกง ที่มีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว สร้างรายได้สู่ชุมชน แต่ยังคงต้องจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาควบคู่กันไป จะแยกจากกันไม่ได้ เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาชุมชนในทุกรูปแบบ โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือและยึดชุมชนเป็นพื้นฐาน ครู กศน.จึงมีบทบาทสำคัญในการหาจุดเด่นของพื้นที่ ที่จะสามารถต่อยอดสู่อาชีพ สร้างรายได้ หรือเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และที่สำคัญ เมื่อนักเรียน กศน.เรียนจบแล้วก็จะมีงานรองรับด้วย
ทั้งนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวเสมอว่า คนไทยนับว่าโชคดีอย่างที่สุด ที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับพสกนิกรมาอย่างยาวนาน จึงขอให้ทุกคนน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ทั้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน 23 ข้อ พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อนำมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเฉพาะหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้านการศึกษา 4 ข้อ คือ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรน้อมนำสู่การปฏิบัติ
1. ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ให้กับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา ศูนย์การเรียนชุมชนบ้านในสอย
นางมัณฑนา กาศสนุก ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้นำเสนอผลการดำเนินงานว่า ศูนย์การเรียนชุมชนบ้านในสอย ตั้งอยู่เลขที่ 244 หมู่ที่ 4 บ้านในสอย ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตลอดจนสร้างโอกาสและกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนในชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง โดย กศน.อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนได้ส่งครู กศน.เข้าไปสอนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ทั้งในหลักสูตรการสอนผู้ไม่รู้หนังสือ ให้สามารถฟังและพูดภาษาไทยได้ ตลอดจนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้การรับรองวุฒิการศึกษาที่จะสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง พร้อมจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิตแก่นักศึกษา และหลักสูตรระยะสั้นสำหรับประชาชนเพื่อการมีงานทำและมีรายได้ด้วย
โดยมีผลการดำเนินงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1) เชิงปริมาณ จำนวนผู้จบการศึกษาหลักสูตรการรู้หนังสือไทยกว่า 700 คน หลักสูตรระดับประถมศึกษา 30 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 48 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 55 คน โดยมีผู้จบการศึกษาและไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี กว่า 40 คน และกำลังศึกษาระดับปริญญาโท 3 คน
2) เชิงคุณภาพ มีความก้าวหน้าในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาได้เป็นตัวแทนนักศึกษาแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ, มีงานทำหลากหลาย อาทิ ล่าม ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ (International Rescue Community: IRC), COEER, UNHCR, IOM เป็นต้น, ครูสอนในสำนักงานของพื้นที่การศึกษา, ครู กศน., นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นที่ยอมรับของชุมชน ได้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมชุมชนโดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมประเพณี งานจิตอาสาต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือ นักศึกษาที่เรียนจบแล้ว เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจที่ดีแก่นักศึกษารุ่นใหม่ด้วย พร้อมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชนในการจัดการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ หลักสูตรภาษาเมียนมา ภาษากะเหรี่ยงแดง ภาษาอังกฤษ โดยเรียนกับเจ้าของภาษา, มีคณะกรรมการผู้นำชุมชน, The Curriculum Project of Thabyay Education Foundation และ Partner Asia ตลอดจนภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ จุดเด่นของความสำเร็จในการจัดการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ให้กับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา คือ การที่คนในชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครองตลอดจนนักศึกษา ให้ความสำคัญกับการศึกษาและการเรียนรู้ทางภาษา นำไปสู่ความมั่นคงตามแนวชายแดน ทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่แม้จะมีความต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม แต่ก็ยังปฏิบัติต่อกันบนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิมนุษยชน และยังช่วยให้เกิดการปรับแนวคิดในการทำงานด้านการศึกษา ส่งผลต่อการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น
นางสาวพรสวรรค์ กิตติ์ธนโฆสิต ครูศูนย์การเรียนชุมชนบ้านในสอย และศิษย์เก่า กศน.อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้นำเสนอผลงาน “การบูรณาการจัดการศึกษาทางพหุวัฒนธรรมสำหรับเด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาชายแดนไทย-เมียนมา ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน” โดยศูนย์การเรียนชุมชนบ้านในสอย สำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดนวัตกรรมทางการศึกษาในการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม 2561 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้ส่งผลงานการประกวดกว่า 68 ผลงาน จาก 17 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พร้อมทั้งได้กล่าวแสดงความรู้สึกขอบคุณประเทศไทยและในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ให้โอกาสที่ดีหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านการศึกษาเรียนรู้ ทำให้มีโอกาสเรียนจนจบการศึกษาและมีงานทำถึงทุกวันนี้ ตนยินดีที่จะกลับมาช่วยสอนรุ่นน้องและคนในชุมชนบ้านในสอย พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชา “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สรุปข้อคิดเห็นและความรู้สึกของตัวแทนนักศึกษา กศน. ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ
ผู้ประสานงานองค์การอินเตอร์เนชั่นแนลเรสคิวคอมมิตตี (IRC) จังหวัดแม่ฮ่องสอน : ศูนย์การเรียนชุมชนบ้านในสอยและครู กศน. ช่วยสร้างโอกาสในการเรียน สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายในทุกรูปแบบ และเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ทำให้มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถร่วมทำงานกับ IRC เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพจนถึงทุกวันนี้
ครูอัตราจ้าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 : ศูนย์การเรียนชุมชนบ้านในสอยให้โอกาสแก่เด็กด้อยโอกาส ฐานะยากจน ทำให้มีชีวิตที่ดี มีโอกาสได้เรียนรู้ด้านวิชาการ ภาษา และคอมพิวเตอร์ ตลอดจนได้เรียนต่อจนจบระดับปริญญาตรี และมาเป็นครูสอนเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน จึงรู้สึกภาคภูมิใจมาก
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน : ขอขอบคุณครู กศน. ที่ช่วยสอนจนสามารถพูดภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ เป็นการเปิดโอกาสของการมีงานทำ คือการเป็นผู้ประสานงานขององค์กรระหว่างประเทศ
ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาบนพื้นที่สูง รูปแบบศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยปูแกง
นายจำนง กล่อมแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวรายงานว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เป็นชื่อพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ปี 2540 ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเข้าไปอยู่ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) โดยมีพื้นที่ครอบคลุม 14 จังหวัด รวม ศศช.ทั้งสิ้น 793 ศูนย์ ได้แก่ ภาคเหนือ 9 จังหวัด มี ศศช. 778 ศูนย์, ภาคกลาง 3 จังหวัด มี ศศช. 14 ศูนย์ และภาคใต้ 1 จังหวัด ศศช. 1 ศูนย์ โดยมีครู ศศช. รวมทั้งสิ้น 1,252 คน แบ่งเป็น ครู ศศช.พื้นที่ปกติ 713 คน ครู ศศช.พื้นที่โครงการ กพด. 410 คน และปฏิบัติงานตามตำแหน่งครูนิเทศ 129 คน
สำหรับการจัดการศึกษาบนพื้นที่สูง รูปแบบศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยปูแกง มีสถาบัน กศน.ภาคเหนือ เป็นหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนทางด้านวิชาการ จัดกิจกรรมโครงการให้แก่ประชาชนที่พลาดโอกาส ขาดโอกาส และผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว กลุ่มชาติพันธุ์กะยอ (หูใหญ่) กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงขาว ตลอดจนดำเนินงานสนองโครงการพระราชดำริฯ ตามแนวปฏิบัติที่ดี 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพอนามัย ด้านการศึกษา ด้านการส่งเสริมอาชีพ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น และด้านโภชนาการ
โดยมีผลการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้า ดังนี้
1) ด้านสุขภาพอนามัย ได้จัดอบรมให้ความรู้เพื่อป้องกันโรคที่มียุงและแมลงเป็นพาหะ ส่งเสริมการเล่นกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะในชุมชน เป็นต้น
2) ด้านการศึกษา มีผู้จบการศึกษาหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือไทย พ.ศ.2557 จำนวน 30 คน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 40 คน
3) ด้านการส่งเสริมอาชีพ เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก อบรมการขยายพันธุ์พืช ส่งเสริมการทำไม้กวาดดอกหญ้า
4) ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสืบชะตาต้นน้ำ ตลอดจนทำแนวป้องกันไฟป่า
5) ด้านอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งงานประเพณีต้นที การสานก๋วย/ตะกร้า เป็นต้น
6) ด้านโภชนาการ โดยการส่งเสริมปลูกกล้วยน้ำว้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการทุนการศึกษาเพื่อเด็กสภาวะยากลำบากในเขตพื้นที่สูงภาคเหนือ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการหมู่บ้านยามชายแดน โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ โครงการยุวกรรมการหย่อมบ้าน เป็นต้น
ในส่วนของจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยปูแกง เป็นชุมชนศูนย์การเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมชนเผ่า อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและล่องเรือชมธรรมชาติ ตลอดจนมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม อาทิ ประเพณีงานต้นที ทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
นายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า สำนักงาน กศน. ได้รับมอบหมายให้ติดตามนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษา เกี่ยวกับการจัดการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ให้กับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และการจัดการศึกษาบนพื้นที่สูง รูปแบบ ศศช.แม่ฟ้าหลวง ตลอดจนการขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบ ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยและการอนุรักษ์ วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ซึ่งการดำเนินงานมีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการจัดการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ให้กับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ถือว่าเป็นไปตามข้อตกลงของไทยร่วมกับ UN และ UNESCO ที่เน้นการเข้าถึงการศึกษา ตลอดจนประเทศไทย โดยการจัดการศึกษาเรียนรู้ของ กศน. ยังได้รับคำชื่นชมในเวทีประชุมนานาชาติและผู้แทน UNESCO ว่า ไทยเปิดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะการนำเด็กตกหล่นในวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสามารถนำกลับเข้ามารับการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ จำนวนมาก
สำหรับการจัดการเรียนรู้ของ ศศช. ทั้งสองแห่ง ถือว่าตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ทั้งในเรื่องการส่งเสริมภาษาที่สองและสาม การจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วยวัย รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ให้ได้รับการศึกษา มีการรับรองวุฒิการศึกษา เพื่อการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งการผลิตครูคืนสู่ชุมชน ที่เกิดเป็น “ตัวคูณ” สร้างคุณค่าทางการศึกษาอย่างมากมาย อาทิ นำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชน เป็นครูสอนเยาวชนในพื้นที่หรือกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อื่น ตลอดจนการเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจแก่รุ่นน้อง เพื่อพัฒนาตนเองและครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ อาทิ ความรู้ด้านการค้าออนไลน์ โดยใช้ความสามารถด้านภาษาให้เกิดประโยชน์ต่อการนำเสนอสินค้าของชุมชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ การรณรงค์เพื่อเพิ่มอัตราการอ่าน การส่งเสริมดูแลสุขภาวะและสุขอนามัยของประชาชน และชุมชน โดยเฉพาะโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการอพยพ และการอยู่รวมกันตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ สามารถดูตัวอย่างการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้จัดทำหลักสูตรในเรื่องนี้ไว้แล้ว