ลงพื้นที่ ครม.สัญจร ที่อุบลราชธานี

23 กรกฎาคม 2561 – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามการดำเนินงานของศูนย์เรียนรวมโรงเรียนบ้านยางน้อย (พรหมพิทยา) และประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา 17 ศูนย์ใน 6 ภาคทั่วประเทศ รวมทั้งเปิดศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ณ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ซึ่งเป็นภารกิจการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 (กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2)

1. ติดตามการดำเนินงานของศูนย์เรียนรวม โรงเรียนบ้านยางน้อย (พรหมพิทยา) อ.เขื่องใน

เวลา 9.30 น. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานของศูนย์เรียนรวมโรงเรียนบ้านยางน้อย (พรหมพิทยา) โดยมี น.ส.นิธินันท์ ศรีบุษยาสิทธิ์ ผอ.โรงเรียนบ้านยางน้อยฯ รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียน-คณะครูจากศูนย์เรียนรวมทั้ง 5 แห่ง, พระครูสุขุมวรรโณภาส เจ้าคณะตำบลหัวดอนฯ, นายขวัญเรือน แสบงบาล รอง ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 1 รวมทั้งผู้บริหารและข้าราชการทุกสังกัดในพื้นที่เข้าร่วม

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามงานการดำเนินงานของโรงเรียนบ้านยางน้อย (พรหมพิทยา) ซึ่งเป็นต้นแบบโรงเรียนคุณธรรมนำวิชาการเฉลิมพระเกียรติ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มาจากความร่วมมือของชุมชนเข้ามาช่วยบริหารจัดการในรูปแบบ “บวร” หรือ “บ้านวัดโรงเรียน” เพื่อร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 60 คนลงมา โดยใช้รูปแบบวิธีการเคลื่อนย้ายครูและนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กอีก 4 โรงเรียนมาเรียนรวมกันในโรงเรียนบ้านยางน้อย คือ บ้านโนนใหญ่ บ้านพับ บ้านก่อ และบ้านท่าวารี

ต่อมาในปีการศึกษา 2561 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้โรงเรียนดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนประชารัฐ จ.อุบลราชธานี (โรงเรียนประจำพักนอน)” เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อย อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โดยมีนักเรียนประจำพักนอน ตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.3 จำนวนทั้งสิ้น 29 คน

การลงพื้นที่ติดตามครั้งนี้ จึงเป็นการติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ที่ต้องการให้โรงเรียนดังกล่าวเป็นต้นแบบการบริหารจัดการในรูปแบบ “บวร” และการรวมโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนประจำพักนอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมนำวิชาการ ภายในปี 2562 ตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียน

ในการนี้ ได้ขอให้ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ จากกระทรวงศึกษาธิการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ :

น.ส.นิธินันท์ ศรีบุษยาสิทธิ์ ผอ.โรงเรียนบ้านยางน้อยฯ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนมีภารกิจจัดการศึกษาใน 4 รูปแบบ คือ การเป็นศูนย์เรียนรวม โรงเรียนประจำพักนอน โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาฯ และโรงเรียนคุณธรรมนำวิชาการเฉลิมพระเกียรติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นต้นแบบโรงเรียนประจำพักนอน เพื่อช่วยเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ให้มี “3 ท” คือ ทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต รวมทั้งการเป็นศูนย์เรียนรวม ที่ควบรวมผู้บริหาร ครู ทรัพยากร 5 โรงเรียนใกล้เคียงไว้ด้วยกัน ถือเป็นการแก้ปัญหาได้ดีมาก แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีการวางแผนบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรด้านต่าง ๆ ร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ ทั้งจำนวนบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่  รวมถึงควรจัดระบบการสรรหาผู้บริหารและครูที่เป็นมืออาชีพ มีความพร้อมที่จะทำงานหนัก เพราะภาระในโรงเรียนค่อนข้างหนักมากจากการที่ดำเนินงานในหลายรูปแบบ

ดังนั้น หากส่วนกลางช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าหรือสนับสนุนสวัสดิการด้านต่าง ๆ แก่ข้าราชการและครูอัตราจ้างเพิ่มเติมกว่าโรงเรียนปกติ เช่น เพิ่มค่าตอบแทน จัดให้มีอัตราครูพักประจำ ฯลฯ ก็จะช่วยให้โรงเรียนบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า รูปแบบการบริหารจัดการของศูนย์เรียนรวมแห่งนี้ ถือเป็นนวัตกรรมการแก้ปัญหาที่สามารถนำนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมาเรียนรวมกัน ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ และทรัพยากรต่าง ๆ ได้ ซึ่งองค์ความรู้ในการบริหารจัดการถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดที่หลายหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยกันคิดและร่วมวางแผนบริหารจัดการ

นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. กล่าวถึงรูปแบบการสรรหาผู้บริหารมืออาชีพ อาจทำในรูปแบบ “กลุ่มโรงเรียน” ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเคยดำเนินการมาก่อนในอดีต หรืออาจหมุนเวียนผู้บริหาร 5 โรงเรียนในการบริหารจัดการร่วมกัน ส่วนการประเมินสถานศึกษานั้นไม่ควรต่างคนต่างประเมิน ทั้งนี้ สำนักงาน กศน.พร้อมจะสนับสนุนสื่อติวฟรีเติมเต็มความรู้ มาช่วยสอนเสริมร่วมกับระบบ DLIT/DLTV

นายบุญส่ง จำปาโพธิ์ รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า อาชีวะกำลังเตรียมคนเข้าสู่ตลาดงานในพื้นที่ ซึ่งศูนย์เรียนรวมจะมีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานด้านนี้ที่ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สกศ. กล่าวว่า การเป็นศูนย์เรียนรวม สกศ.เคยมีการวิจัยมาแล้ว และพร้อมจะผลักดันรูปแบบบริหารจัดการให้เป็นโรงเรียนนิติบุคคลประเภทกลุ่ม เพื่อความมีอิสระในการบริหารจัดการร่วมกันให้มากขึ้น มีการจัดระบบบริหารงบประมาณแบบใหม่ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยเสริมสร้างความสามารถของผู้บริหารโรงเรียน

น.ส.ชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเป็นบ้าน-วัด-โรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อปลูกฝังคุณธรรมของผู้เรียนในอนาคต โดยการอุดมศึกษาพร้อมสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เข้ามาช่วยส่งเสริมโดยเป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงในวิชาการด้านต่าง ๆ เช่น STEM ภาษาอังกฤษ ทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

นายชาย มะลิลา และนายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวโดยรวมถึงภาระงานของครูและผู้บริหารโรงเรียนนี้มีมากกว่าโรงเรียนปกติทั่วไป จึงเห็นว่าควรมีค่าตอบแทนมากกว่าครูทั่วไป หรือลูกจ้างควรได้รับสิทธิ์ในการสอบเข้าเป็นข้าราชการครูได้มากกว่า ซึ่งกรณีที่มีการให้สิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้เพิ่มเติม ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา สำหรับกรอบอัตรากำลังของศูนย์เรียนรวมที่ต้องการเพิ่มนั้น ควรจะพิจารณากรอบอัตรากำลังในรูปแบบการศึกษาพิเศษ

นายประยูร หรั่งทรัพย์ ผชช.เฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา สช. กล่าวว่า การศึกษาเอกชนนอกระบบ มีการจัดกิจกรรมเสริมทักษะและความถนัดเพิ่มเติมให้แก่ผู้เรียนหลายด้าน เช่น ช่างประปา ช่างรองเท้า โดยจัดหลักสูตรให้ผู้เรียนปีละ 80 ชั่วโมง สช.พร้อมจะสนับสนุนด้านนี้ให้แก่ศูนย์เรียนรวม เพื่อให้เด็กที่จบออกไปมีอาชีพติดตัว

นายธนุ วงศ์จินดา ผอ.สำนักนโยบายและแผน สพฐ. กล่าวว่า แม้ 5 โรงเรียนรวมกลุ่มเป็นศูนย์เรียนรวม แต่ความเป็นนิติบุคคลแต่ละแห่งยังมีอยู่ รวมทั้งการประเมินสถานศึกษาแต่ละแห่งด้วย ซึ่งต้องให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดพิจารณา รวมทั้งการจัดสรรและโอนงบประมาณยังคงโอนไปที่โรงเรียนแต่ละแห่ง แต่หากมีการควบหรือยุบรวมกันได้จะสะดวกต่อการบริหารงบประมาณมาก สำหรับการโอนงบประมาณให้แก่โรงเรียนของศูนย์เรียนรวมนั้น สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณค่าสาธารณูปโภค ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหารรวมมื้อเช้าเย็นมาให้เรียบร้อยแล้ว

พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศธ. กล่าวว่า ฝากให้พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกผู้บริหารของศูนย์เรียนรวมให้เกิดการยอมรับกัน เพื่อร่วมใจกันของการบริหารจัดการ

พ.อ.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร คณะทำงาน รมช.ศธ. กล่าวว่า การเรียนรวมของ 5 โรงเรียน ระยะสั้นอาจเป็นไปในรูปแบบบอร์ดมาสร้างกติกาและหารือร่วมกัน มีเจ้าภาพเข้ามาดูแลชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการบริหารจัดการ

ในช่วงท้าย พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวสรุปว่า จากการที่ได้รับฟังและประชุมร่วมกัน ต้องขอชื่นชมบุคลากรของโรงเรียนและศูนย์เรียนรวมที่มีความอดทน เสียสละในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้โรงเรียนมีความร่วมมือกับท้องถิ่นและภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบความร่วมมือ “บวร” และโรงเรียนประชารัฐ (โรงเรียนประจำพักนอน) อันจะช่วยสร้างโอกาสและความเสมอภาคแก่เด็กด้อยโอกาส

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนยังคงมีปัญหาความต้องการในหลายด้าน เช่น งบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่ บ้านพักนักเรียน ถังเก็บน้ำ ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ฯลฯ จึงขอให้หน่วยงานในส่วนกลางร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และวางแผนพัฒนาศูนย์เรียนรวมโรงเรียนบ้านยางน้อยอย่างใกล้ชิด กำหนดแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน


2. ประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา 17 ศูนย์ใน 6 ภาคทั่วประเทศ ที่วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี อ.เมืองอุบลราชธานี

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ริเริ่มจากข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในพื้นที่ EEC (ภาคตะวันออก ปัจจุบันศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคบางแสน จ.ชลบุรี) ก่อนเป็นลำดับแรก และได้ขยายไปยังเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาคใต้ชายแดน ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี) จนประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงขยายไปยังภาคอื่น ๆ คือ ภาคเหนือ (ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด) ภาคกลาง (ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ) และภาคใต้ (ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต)

สำหรับการประชุมติดตามความก้าวหน้าในครั้งนี้ ได้รับฟังความก้าวหน้าจากผู้แทนศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา 17 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ต้องการให้ดูรายละเอียดมากขึ้นเพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในกลไกประชารัฐและทวิภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลาง (Big Data System) ที่ต้องการให้ไปปรับปรุงและจัดระเบียบข้อมูลระบบให้เกิดความเข้มแข็งบนพื้นฐานที่แน่นขึ้น สรุปรวมเป็นฐานข้อมูลภาพรวมของการวางแผนกำลังคนอาชีวศึกษาระดับประเทศ เพื่อนำเสนอเป็นรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบในโอกาสต่อไป โดยขอให้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน

สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือให้อาชีวะประเมินสถานศึกษาทั่วประเทศ ทั้งระดับดีเยี่ยม พอใช้ หรือปรับปรุง เพื่อวางแผนพัฒนายกระดับสถานศึกษากลุ่มที่ต้องปรับปรุงให้มีคุณภาพสูงขึ้น อันจะส่งผลถึงสมรรถนะของผู้เรียนอาชีวศึกษาในภาพรวมของประเทศต่อไป