พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือ” และ “การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2561 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 8/2561 พื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน) ณ จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 30 ตุลาคม 2561
-
ติดตามผลการดำเนินงานศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือ ณ วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย
โดยศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือ มีศูนย์ในระดับกลุ่มจังหวัดจำนวน 3 ศูนย์ ที่พิษณุโลก เชียงใหม่ และนครสวรรค์ คือ วิทยาลัยพณิชยการบึงพระพิษณุโลก วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ และวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ตามลำดับ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 6 ภารกิจ ได้แก่ ข้อมูลกลาง, การส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ, การระดมทรัพยากรและความร่วมมือ, การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ, การวิจัยและพัฒนา และการสร้างการรับรู้
จากการตรวจเยี่ยมและรับฟังผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานฯ ภาคเหนือในครั้งนี้ ถือว่าทำได้ดีและมีความพึงพอใจ โดยขอให้เร่งรัดการจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ให้มีความทันสมัยต่อไป เพราะฐานข้อมูลมีความสำคัญที่สุดในการวางแผนผลิตกำลังคน ส่วนการขับเคลื่อนนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ในปีที่ผ่านมา ได้มีการทบทวนและสำรวจความต้องการของภาคเอกชน และตลาดงานอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยในปี 2562 ขอให้วางแผนต่อยอดผลงานที่ประสบความสำเร็จที่มีมูลค่ากว่า 140 ล้านบาท ให้ตรงกับความต้องการในแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อนำเข้าสู่สายการผลิต และสร้างมูลค่าในระบบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมให้มากขึ้น
ส่วนการยกระดับสถานศึกษาอย่างมีมาตรฐานทัดเทียมกัน พบว่า สถานศึกษาของรัฐและเอกชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือมีมาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ระดับดีมากและระดับดี มีสถานศึกษาเพียง 4 แห่งเท่านั้น ที่อยู่ในระดับพอใจ (ซึ่ง 2 แห่งเป็นสถานศึกษาตั้งใหม่) จึงได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เร่งปรับแผนการดำเนินงาน และระดมทรัพยากรเพื่อบูรณาการการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาสถานศึกษาทั้ง 4 แห่ง ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นในระดับดีหรือดีมากโดยเร็ว รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานทุกไตรมาส เพื่อรองรับการให้บริการการศึกษาแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนได้อย่างมีมาตรฐานทั่วถึง ให้เด็กได้เรียนใกล้บ้าน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งยังจะช่วยส่งเสริมให้มีผู้เรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ สอศ. ได้ดำเนินการจัดเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง พร้อมเชื่อมโยงฐานข้อมูลเข้าสู่ศูนย์ประสานงานผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และมีการทบทวนภารกิจและสร้างความเข้าใจกับสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานการจัดการศึกษาให้ครอบคลุมในลำดับต่อไป
-
ติดตามความก้าวหน้า กศน.
จากนั้น พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ณ ศูนย์การเรียนรู้ กศน.ตำบลนางแล มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.อำเภอ 18 อำเภอ ครู กศน.ตำบล และภาคประชาคม รวมทั้งสิ้น 300 คน โดยมีสรุปดังนี้
-
ข้อมูลชุมชนตำบลนางแล นายบุญทรง จิโนเป็ง ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตำบลนางแล แยกมาจากตำบลบ้านดู่ มีชื่อเสียงด้านเกษตรกรรม เพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเฉพาะการเพาะปลูกสับปะรดพันธุ์นางแล (พันธุ์น้ำผึ้ง) และพันธุ์ภูแล พื้นที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 8 องศา และสูงสุด 33.9 องศา ประชาชนส่วนใหญ่จึงทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นอาชีพหลัก และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรดเป็นอาชีพเสริม ทั้งยังเป็นตำบลที่เป็นทางผ่านไปสู่เส้นทางท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงราย อาทิ แม่สาย เชียงแสน ดอยหลวงขุนน้ำนางนอน เป็นต้น ถือเป็นสภาพพื้นที่ที่เหมาะกับการลงทุน เพราะอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจด้วย
-
การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน นายคเชนทร์ มะโนใจ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดแพร่ กล่าวรายงานว่า สำนักงาน กศน.จังหวัดทุกจังหวัดภาคเหนือ ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล พร้อมจัดเวทีประชาคมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบโครงการและกิจกรรม ที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่ โดยขณะนี้ได้คัดเลือกชุมชนต้นแบบระดับอำเภอ รวม 103 แห่ง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และขยายผลกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการค้าออนไลน์ (e-Commerce) จากศูนย์ดิจิทัลชุมชน ไปขยายผล 1:3 คน เพื่อขยายผลสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ e-Commerce หรือ e-Market เปิดพื้นที่เป็น “ศูนย์จำหน่ายสินค้าแลผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. (ONIE Online Commerce Center: OOCC) ตลอดจนให้คำปรึกษาและให้ความรู้ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าออนไลน์ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ เตรียมขยายผลในระดับตำบล โดยคัดเลือกชุมชนต้นแบบตำบล ตำบลละ 1 ชุมชน มีเป้าหมายรวม 769 ตำบล ทั้งนี้ ได้นำมาผลงานมาจัดแสดงในครั้งนี้ อาทิ การนวดตอกเส้นและภูมิปัญญาหมอเมือง นวัตกรรมอาชีพ STEM+C โดยใช้สะเต็มศึกษาและวิถีชีวิตของชุมชนไทลื้อ เกษตรธรรมชาติ 1 อำเภอ 1 อาชีพ หวดนึ่งข้าวอัตโนมัติ เป็นต้น
-
การแก้ไขปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา นายสุรพล วงศ์หวัน ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดพะเยา กล่าวว่า สำนักงาน กศน. จังหวัดภาคเหนือ ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการสร้างการรับรู้ และเก็บข้อมูลประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ประจำปี 2561 จากสถานศึกษา 103 แห่งใน 8 จังหวัดภาคเหนือ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2561) พบว่า มีเป้าหมาย 146,983 คน และสำรวจข้อมูลแล้ว 59,034 คน (ร้อยละ 40.16) ซึ่งจะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลต่อไป
-
ศูนย์ดิจิทัลชุมชน นายนรินทร์ ปาระมี ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายดิจิทัลชุมชนทั้ง 103 อำเภอ พร้อมระดมครู ก. เข้าไปในทุกตำบล ๆ ละ 1 คน พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการค้าออนไลน์ (e-Commerce) ในะดับกลุ่มตำบล ๆ ละ 30 คน ที่จะเป็นการสร้างระบบการค้า ช่วยกระจายสินค้า และผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมให้กว้างขวางมากขึ้น
-
การแก้ไขปัญหาสุขภาวะชุมชนในรูปแบบล้านนา พระเมธาวินทร์ แสนธิ (ตุ๊เม) พระนักพัฒนาชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กล่าวถึงการนวดสมุนไพรในรูปแบบล้านนา ว่า สำนักปฏิบัติธรรมพระธาตุดอยโอ่ง ได้ร่วมกับโฮงฮอมผญ๋า โฮงยาหมอเมืองล้านนา สภาหมอเมืองล้านนาอำเภอเชียงราย จัดสอนการนวดตอกเส้นในแบบภูมิปัญญาล้านนาด้วยสมุนไพร ให้กับพระ เณร เด็กและเยาวชน โดยไม่คิดค่าวิชา ภายใต้สโลแกน “สร้างคนสร้างงาน เมื่อเรียนแล้วก็เอาไปต่อยอดได้ทันที” ทั้งการตอกเส้น ย่ำขาง นอนย่างสมุนไพรบนแคร่ไม้ไผ่ เป็นต้น และเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนแก่ในพื้นที่ด้วยการใช้สมุนไพร
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้ติดตามงานที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับราชการทหารครั้งแรก ทำให้ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญคือ ครูดอย ที่สอนหนังสือ ทักษะอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่บนเขาบนดอย และตนเองก็เคยเป็น “ครู” เช่นกัน เป็นครูฝึกสอนผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้มีความเข้าใจชีวิตครูอยู่พอสมควร แม้จังหวัดเชียงรายในวันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากในหลายด้าน แต่ก็ยังรู้สึกอบอุ่นใจที่ได้กลับมาเยือน และมีความยินดีที่ได้พบปะกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ซึ่งมีหลายท่านที่ยังจำตนได้ด้วย
ในส่วนของการทำงานของ กศน. ถือว่ามีความใกล้ชิดกับประชนมากที่สุดในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะครู กศน. ที่เป็นบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการเรียนรู้สู่ชุมชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ตามบทบาทและภารกิจ 4 ศูนย์เรียนรู้ ทั้งศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน ที่จะเป็นการถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาประชากรที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่นี้ ต้องขอชื่นชมที่สามารถดำเนินการสำรวจประชากร ได้เกือบถึงครึ่งหนึ่งของประชากรเป้าหมาย โดยขอให้สร้างการรับรู้เน้นประโยชน์ที่เด็กและเยาวชนจะได้รับจากการเข้ามาเรียน การได้พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยให้มีงานทำและประกอบอาชีพได้ เมื่อจบการศึกษา รวมทั้งการพัฒนารูปแบบการค้าออนไลน์ของประชาชน ที่จะต้องเน้นเรื่องคุณภาพสินค้ามากขึ้น อาทิ ใช้วัตถุดิบที่ดี มีแพ็คเก็จสวยงามทันสมัย เป็นต้น
สิ่งสำคัญอีกประการคือ การส่งเสริมสุขภาวะของประชาชน โดยร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ดังตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมสุขภาวะประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประสบผลสำเร็จจาการทำงานร่วมกัน ระหว่างศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) สำนักงาน กศน.ในพื้นที่ ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงสาธารณสุขในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุน ผู้นำศาสนา ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้าน จนสามารถลดจำนวนการเกิดโรคและการเจ็บป่วยของประชาชนได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมมอบให้ กศน.นำชุดความรู้ในการดูแลสุขภาพและสุขภาวะประชาชน ของกระทรวงสาธารณสุข ถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนด้วย
อีกประการที่สำคัญ คนไทยโชคดีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อคนไทยและผืนแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนหลักการทรงงาน 23 ประการ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธานสืบสานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท รวมทั้งมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง, การสร้างลักษณะพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม, เรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง
ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการจัดการศึกษา กศน. จะพยายามดูแลงานให้เกิดผลสำเร็จใน 2 ส่วน คือ การดำเนินงานเพื่อจัดการศึกษาเรียนรู้นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งการดูแลสวัสดิภาพของชาว กศน. ซึ่งถือเป็นเพื่อนร่วมชีวิตการทำงาน ที่มีความเสียสละ ทุ่มเท และอดทนทำงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือยินดีที่จะรับฟังทุกความคิดเห็นของคนทำงาน เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลในการส่งเสริมสวัสดิภาพความเป็นอยู่ในการทำงานและดำรงชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
Photo Credit
Editor