ลงพื้นที่ ครม.สัญจร ภาคเหนือ

จังหวัดพิษณุโลก – พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามความพร้อมของการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคเหนือ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ภาคเหนือ เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2560 ณ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 ซึ่งตั้งอยู่ภายในวิทยาลัยพณิชยการบึงพระพิษณุโลก อำเภอเมืองพิษณุโลก

พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความพร้อมของการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคเหนือในครั้งนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.25602564) ซึ่งแบ่งภาคต่าง ๆ ของประเทศออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน

จากนโยบายดังกล่าว ศธ.จึงได้จัดให้มีการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ ไปแล้วครบทั้ง 6 ภาคเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาของทุกภาค ปีงบประมาณ 2561-2562 ในขณะเดียวกันได้วางแผนให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา” ให้ครบทั้ง 6 ภาคด้วยเช่นกัน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนตามศักยภาพ บริบท จุดแข็ง และโอกาสในแต่ละพื้นที่ ให้สอดคล้องกับแผนงานของรัฐบาล เพื่อเตรียมกำลังคนให้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

โดยเริ่มต้นจากศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก ที่ จ.ชลบุรี ก่อนที่จะขยายไปเปิดศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.ปัตตานี ถือเป็นศูนย์ระดับภาคแห่งแรกและแห่งที่สองตามลำดับ ส่วนศูนย์ภาคเหนือแห่งนี้คาดว่าจะจัดตั้งเป็นศูนย์ระดับภาคแห่งที่ 3 ของประเทศ

การลงพื้นที่ครั้งนี้ จึงต้องการมาตรวจเยี่ยมและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 12 แห่งที่ได้มีส่วนร่วมที่ได้ให้ข้อคิดเห็นในการจัดตั้งศูนย์ฯ  ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็น เห็นว่าควรวางแผนและผลิตตามความต้องการกำลังคน (Demand Side) ตามสาขาที่เป็นความต้องการของภาคการผลิตในพื้นที่ ไม่ทับซ้อนการผลิตกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั้งยังได้เน้นย้ำถึงการวางแผนจัดตั้งศูนย์ฯ ขอให้เน้นการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่ให้สามารถใช้งานศูนย์ได้จริง โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความทันสมัยเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการวางแผนและผลิตพัฒนากำลังคน

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการวางแผนจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวให้ครบ 6 ภาคทั่วประเทศ โดยภาคเหนือจะจัดตั้งที่ศูนย์แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 ภายในวิทยาลัยพณิชยการบึงพระพิษณุโลก

โดยการประชุมติดตามความก้าวหน้าครั้งนี้ มีผู้บริหารจากทุกสังกัดที่เกี่ยวข้องให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เช่น นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ., นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ., น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, นายบุญส่ง จำปาโพธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, น.ส.ประดินันท์ สดีวงศ์ รองเลขาธิการ กศน., ประธานสภาอาวุโส สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก, ประธานหอการค้าภาคเหนือ, ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก, นายสงวน หอกคำ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 ฯลฯ

นายสุวัฒน์ชัย ศรีสุพัฒนะกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานฯ ภาคเหนือ กล่าวถึงความพร้อมการดำเนินงานของศูนย์ฯ ภาคเหนือ ว่าได้วางแผนจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคเหนือ, การจัดตั้ง Training Center, การบริหารจัดการที่เน้น Digital Office รวมทั้งการจัดเตรียมและนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อ ศธ. ภายในเดือนเมษายน 2561 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีได้รับทราบและพิจารณาต่อไป

ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวจะครอบคลุมการวางแผนจัดการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วนใน 16 จังหวัดภาคเหนือ สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1-4 รวมทั้งศูนย์ฯ เกษตรภาคเหนือ โดยวางเป้าหมายการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมที่เป็น First S-Curve และ New S-Curve ซึ่งมีความสอดคล้องกับพื้นที่ โดยวางเป้าหมายการผลิตผู้เรียน 136,940 คน ในพื้นที่ใน 16 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่อุทัยธานีขึ้นไปจนถึงเชียงราย

ทั้งนี้ คาดหวังว่าศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคเหนือ จะมีส่วนสำคัญต่อการวางแผนและผลิตกำลังคน โดยเชื่อมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งวางเป้าหมายไปสู่จุดเปลี่ยนให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ต่อไป

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. กล่าวให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า ภารกิจที่สำคัญของศูนย์ฯ อีกเรื่องคือควรมุ่งเน้นเรื่องฐานข้อมูลที่เชื่อมกับหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัด ไม่ว่าจะเป็น กศน. การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอุดมศึกษา และการศึกษาเอกชน และขอให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าว เพราะจะมีผลต่อการสร้างการรับรู้ให้ผู้ปกครองและเด็กได้มีโอกาสเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ และเพื่อให้นักเรียนได้เห็นเส้นทางชีวิตตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

นายวิโรจน์  จิรัฐติกาลโชติ ประธานหอการค้าภาคเหนือ กล่าวว่า ระบบราชการหลายแห่งยังคงเป็นการทำงานในลักษณะแต่ละไซโล ต่างคนต่างทำ จึงหวังว่าหน่วยงานทางการศึกษาจะทำงานในทางราบระหว่างไซโลให้มากขึ้น เน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น ส่วนการจัดหลักสูตรอาชีวศึกษาหลายสาขาควรให้มีความยืดหยุ่น ไม่แข็งจนเกินไป เพราะผู้ประกอบการภาคเอกชนในปัจจุบันไม่ได้ต้องการ Skill ด้านใดด้านหนึ่ง และหากหลักสูตรใด ๆ ที่จัดการเรียนการสอนไปแล้วไม่สอดคล้องกับความต้องการ ขอให้พิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกได้เช่นเดียวกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ที่หลักสูตรใดไม่มีคนเรียนก็เลิกหลักสูตรนั้น


บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
25/12/2560