ลงพื้นที่ ครม.สัญจร อีสานตอนบน 1
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
1. ติดตามการขับเคลื่อนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่สำนักงาน กศน. ตำบลโนนสูง
ส่วนการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับฟังผลการดำเนินงานของสำนักงาน กศน. ในแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งเน้นภารกิจการดำเนินงานที่สำคัญของศูนย์ กศน.ตำบล คือ การเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล โดยผลการดำเนินงานของสำนักงาน กศน. ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 นั้น เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง จึงได้เน้นย้ำให้ขยายผลการดำเนินงาน “ชุมชนต้นแบบไทยนิยม ยั่งยืน” ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงาน กศน. ได้ยกระดับในการเป็นแหล่งให้ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับคนในชุมชน อาทิ การพัฒนาธุรกิจการค้าออนไลน์, เพิ่มรายได้ให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับเด็กตกหล่นที่ออกจากระบบการศึกษากลางคัน โดยให้ครู กศน. ลงพื้นที่สำรวจจำนวนเด็กตกหล่นอย่างใกล้ชิดแบบเคาะประตูบ้าน ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สามารถดึงเด็กตกหล่นให้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น ตลอดจนมีความร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการจัดทำบทเรียนการดูแลสุขภาพเพื่อให้ความรู้กับคนในชุมชนด้วย
อย่างไรก็ตาม การได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการเข้ามาช่วยกัน ทำให้การศึกษาเป็นอย่างที่ทุกภาคส่วนต้องการ ยังต้องอาศัยสิ่งสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้ให้ถูกต้องอย่างทั่วถึง ซึ่งการแสดงความเห็นทำให้สะท้อนระดับความเข้าใจของคนในพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการก็มีภารกิจหลักในการเร่งสร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจโดยทั่วกัน
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) มาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการทำงาน อาทิ “งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ดังนั้น จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” (พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 12 ธันวาคม 2512) รวมทั้งพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง, การสร้างลักษณะพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม, เรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า การจัดการศึกษาจะเข้มแข็งได้ ต้องมีแผน ความร่วมมือ ความพยายามร่วมกัน แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาด้านการศึกษาอาจจะยังมีอยู่ แต่เราต้องช่วยกันสร้างคนดี มีทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ นอกจากเรียนเก่งและต้องเป็นคนดีด้วย โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเหลือร่วมมือกับโรงเรียนให้มากขึ้นด้วย สุดท้ายนี้ ขอฝากข้อคิดในการปฏิบัติงานให้ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ คือ “ริเริ่ม รวดเร็ว รอบคอบ รอบด้าน รายงาน” และ “เราจะทำ นำเพียรคิด จิตฝักใฝ่ หมั่นไตร่ตรอง”
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ สำนักงาน กศน. กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้รายงานผลการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนี้
-
โครงการไทยนิยม ยั่งยืน
-
สำนักงาน กศน.จังหวัดอุดรธานี ดำเนินงานนโยบายหมู่บ้านชุมชนต้นแบบตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน “หมู่บ้านฮักมั่น อุดรธานี อยู่ดีมีแฮง” ได้คัดเลือกชุมชนบ้านหนาด อำเภอเพ็ญ เป็นหมู่บ้านชุมชนต้นแบบระดับจังหวัดด้านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพด้านอาชีพการทอผ้ามัดหมี่ย้อมครามธรรมชาติ ซึ่ง กศน.ร่วมกับภาคีเครือข่ายเข้าไปส่งเสริมและออกแบบการเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และเพิ่มศักยภาพการผลิต ด้วยการใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน มาเป็นต้นแบบที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น
-
สำนักงาน กศน.จังหวัดหนองคาย ได้คัดเลือกหมู่บ้านบ้านนาฝาก อำเภอโพธิ์ตาก เป็นชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและกลุ่มอนุรักษ์กระบือสวยงาม
-
สำนักงาน กศน.จังหวัดหนองบัวลำภู คัดเลือกชุมชนบ้านนาคำไฮ อำเภอเมืองฯ เป็นชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด ซึ่งเป็นต้นแบบที่มีความโดดเด่นเชิงประจักษ์ ตามโครงการโอท็อปวิถีชุมชนอยู่ดีมีสุข เป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีความร่วมมือกับเครือข่ายในท้องถิ่นที่ชัดเจน เช่น ตลาดชุมชน กลุ่มอาชีพทอผ้าพื้นเมือง กลุ่มอาชีพแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น
-
สำนักงาน กศน.จังหวัดเลย ได้คัดเลือกหมู่บ้านปากเนียม อำเภอปากชม เป็นชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด ในเรื่องของความสามารถในการบริหารจัดการชุมชน ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข มีอาชีพรายได้จากการจัดกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น การแปรรูปมัลเบอรี่ มะม่วง และกล้วยมาเป็นไวน์ โดย กศน.อำเภอปากชมได้จัดหาวิทยากรให้ความรู้ พร้อมทั้งจัดกระบวนการเรียนรู้ตามวิถีไทย วิถีพอเพียง โดยการบริหารจัดการชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ อาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่นในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
-
สำนักงาน กศน.จังหวัดบึงกาฬ ได้คัดเลือกหมูบ้านกำแพงเพชร อำเภอบึงกาฬ เป็นหมู่บ้านชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด เป็นชุมชนอยู่ดีมีสุขตามโครงการน้ำประปาเพื่อการเกษตร โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
-
-
โครงการการสร้างเครือข่ายดิจิทัลชุมชนระดับตำบล ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน โดยขยายผลการอบรมหลักสูตร e-Commerce /e-Marketing และการเปิดพื้นที่ให้กับสถานศึกษา กศน.อำเภอ และ กศน.ตำบล เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. ผ่านเพจและเว็บไซต์ ต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการประกอบอาชีพด้วยตนเอง ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ของศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. เน้นการมีอัตลักษณ์และความหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ โดยในปี 2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีผู้ผ่านการอบรมดิจิทัลชุมชนจำนวนทั้งสิ้น 13,049 คน
-
โครงการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา สำนักงาน กศน.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 มีเป้าหมายที่จะนำประชากรวัยเรียนอายุระหว่าง 3-18 ปี เข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยการลงพื้นที่โดยใช้กลวิธี เคาะประตูบ้าน “รุกถึงที่ ลุยถึงถิ่น” จัดเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผู้เรียน เพื่อหาสาเหตุและความต้องการในการเรียนรู้ และส่งต่อหรือจัดหาที่เรียนให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจากข้อมูลที่ดำเนินการสำรวจประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด มีการจัดเก็บข้อมูล จำนวน 76,967 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ประชากรที่พร้อมจำหน่ายออกจากฐานข้อมูล ได้แก่ ประชากรที่เข้าเรียนแล้วทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา 18,416 คน ไม่มีตัวตนในพื้นที่/เสียชีวิต 13,428 คน และจบการศึกษา ม.ปลาย/ปวช.หรือเทียบเท่า จำนวน 14,711 คน 2) ประชากรที่พร้อมนำเข้าสู่ระบบการศึกษา ที่จบ ม.3 แต่ยังไม่ได้เรียนต่อ 14,938 คน เด็กพิการ 1,979 คน เด็กปกติที่ไม่ได้เรียน 8,203 คน เด็กออกกลางคัน 5,292 คน
2. ขับเคลื่อนนโยบาย
การพัฒนาด้านกีฬานั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งยังเชื่อมโยงกันใน 3 ส่วน คือ ร่างกาย กีฬา และการศึกษา เพราะการกีฬาอยู่คู่กับการศึกษามาช้านาน โดยในปัจจุบันมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญด้านกีฬากับการศึกษา คือ การที่กระทวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้จัดตั้งโครงการห้องเรียนกีฬาขึ้น ซึ่งจังหวัดอุดรธานได้รับการคัดเลือกจาก สพฐ. ให้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนกีฬา และได้เปิดรับสมัครคัดเลือกนักเรียนรุ่นแรกเข้าเรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 2 แห่ง ที่โรงเรียนอุดรพัฒนาการ ในระดับชั้น ม.4 และโรงเรียนราชินูทิศ 2 ในระดับชั้น ม.1 และในอนาคตมีแผนที่จะขยายผลโครงการห้องเรียนกีฬาไปยังพื้นที่อื่น ๆ ตามความต้องการและความพร้อม ทั้งนี้ อาจได้เห็นบุตรหลานและลูกศิษย์ของเราในวันนี้ติดทีมชาติในกีฬาประเภทต่าง ๆ ในวันข้างหน้าก็เป็นได้
นอกจากนี้ จังหวัดอุดรธานียังมีความโดดเด่นด้านกีฬา เช่น การได้เหรียญรางวัลเป็นอันดับ 2 ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ “เจียงฮายเกมส์” ปี 2561 ที่จังหวัดเชียงราย, การได้รับคัดเลือกให้เป็น Sport City เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการพัฒนาทักษะด้านกีฬาของจังหวัดอุดรธานีเป็นอย่างดี