พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน 1)” ที่วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี และติดตามการเตรียมความพร้อมในการรายงานผลการจัดหลักสูตร BTEC และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2561 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 9/2561
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ในภาคเช้าได้ตรวจเยี่ยมและติดตามการขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นพื้นที่ตอนบน 1
จากการรับฟังและติดตามผลการขับเคลื่อนของศูนย์ฯ พบว่ามีความก้าวหน้าและมีความพึงพอใจเป็นอย่างมากที่สถานศึกษาหลายแห่ง รวมทั้งศูนย์ประสานงานฯ ระดับกลุ่มจังหวัด และศูนย์ประสานงานฯ ระดับภาค ได้ยืนยันถึงความสำเร็จของข้อมูลความต้องการกำลังคน (Demand Side) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดในการเริ่มต้น ที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันพัฒนาจัดทำข้อมูล (Big Data) ให้ถูกต้องตรงกัน ตามข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ให้กระทรวงศึกษาธิการ ทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะทำงานเชิงบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล แม้กระทั่งได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในเรื่องของการบูรณาการข้อมูลเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
จึงถือว่าเรื่องนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการที่จะเริ่มต้นให้มีข้อมูลที่แม่นยำ และเป็นไปตามความต้องการของตลาดงาน หรือการพัฒนาในส่วนของงานด้านอื่น ๆ ที่สำคัญยังเป็นข้อมูลส่งให้การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ สอดคล้องตรงกับความต้องการ รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานอาชีพ ตลอดจนความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
2)
ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เตรียมแผนการดำเนินงานระยะที่ 1 ระหว่างเดือนธันวาคม 2561-เมษายน 2562 ไว้แล้ว ในเรื่องของการรับรองสถานศึกษานำร่องเพื่อเป็น BTEC Centre Approval จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1) วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น สาขาการท่องเที่ยวและโรงแรม 2) วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี สาขา Smart Electronic 3) วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา สาขาการประกอบอาหาร ส่วนระยะที่ 2 ระหว่างเดือนมกราคม–พฤษภาคม 2562 เป็นเรื่องของการประเมินคัดเลือกสถานศึกษา 50 แห่ง เพื่อเป็น BTEC Centre Approval รวมถึงการคัดเลือกครูและการฝึกอบรมครูตามหลักสูตรและมาตรฐานของ BTEC เพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาสามารถเริ่มต้นจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร BTEC ได้ภายในปีการศึกษา 2562
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในเรื่องหลักสูตร BTEC ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้อีกด้วย
ส่วนความก้าวหน้าของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ของ สอศ. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนและผู้ปกครองให้มีรายได้ โดยนักเรียนนักศึกษาอาชีวะจะเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการบริหารจัดการในโรงเรียน ซึ่งได้มีการนำร่องระหว่างวิทยาลัยการอาชีพคำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด และวิทยาลัยการอาชีพหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด โดยได้ดำเนินการพัฒนาใน 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การจัดกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และการพัฒนาภูมิทัศน์ อาคารสถานที่ โดยมีผลความพึงพอใจในระดับดีมากต่อชุมชนในพื้นที่ จึงทำให้มีสถานศึกษาสนใจเป็นจำนวนมากที่จะเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ จะมีการขยายผลเพิ่มเติมสถานศึกษาอาชีวะที่จะเป็นโรงเรียนร่วมพัฒนาในระยะที่ 2 อีกจำนวน 6 แห่ง คือ 1) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี ร่วมกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2) วิทยาลัยเทคนิคตรัง 3) วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี 4) วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัล 5) วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา และ 6) วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม สอศ.
Photo Credit