ลงพื้นที่ ครม.สัญจร

20 สิงหาคม 2561 – ศาสตราจารย์คลินิก​ นพ.อุดม​ ค​ชิ​นทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ พร้อมด้วยผู้บริหารทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามนโยบายรัฐบาลด้านการอุดมศึกษา ที่จังหวัดชุมพร ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 ภาคใต้ (กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย)

ในช่วงเช้า ได้พบปะและมอบนโยบายด้านอุดมศึกษาแก่ผู้บริหาร​ คณาจารย์​ และบุคลากร​ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พร้อมทั้งเปิดศูนย์ KMITL SMART UNIVERSITY DATA CENTER และเยี่ยมชมห้องเรียน Smart Classroom โดย รศ.ดร.ศิริวัฒน์ โพธิเวชกุล รองอธิการบดีฯ คณะผู้บริหาร และนักศึกษา ให้การต้อนรับและเข้าร่วมจำนวนมาก

ศ.คลินิก​ นพ.อุดม​ ค​ชิ​นทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระแสความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล หรือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยหรือการอุดมศึกษาต้องเร่งปรับตัวด้วยความรวดเร็วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอพระราชบัญญัติอุดมศึกษา พ.ศ. …. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และทันก่อนการเลือกตั้งแน่นอน

โดยกระทรวงอุดมศึกษาฯ จะมีภารกิจหลักใน 2 ส่วน คือ การผลิตกำลังคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์คุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีความรู้ ตลอดจนทักษะและสมรรถนะสูง สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Robotic AI เป็นต้น เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการในพื้นที่ ประเทศ และโลก จะไปทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ ส่วนภารกิจที่สองคือ การดำเนินการและบูรณาการการศึกษาวิจัย ตลอดจนสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับเศรษฐกิจตั้งแต่รายได้ของประชาชนในชุมชน เศรษฐกิจของพื้นที่ และประเทศตามนโยบายรัฐบาล อาทิ ในพื้นที่ EEC เป็นต้น รวมทั้งวางแผนผลิตและพัฒนาคนตอบโจทย์โลกอนาคต ควบคู่กับงานวิจัย เมื่อนั้นก็จะสามารถยกระดับการแข่งขันในภาพรวมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเวทีโลก ด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง

ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา นอกจากจะสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีสมรรถนะระดับสูง ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ และทำงานได้จริงทันทีหลังจบการศึกษาแล้ว ต้องพยายามผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาลด้วย เช่น พื้นที่ EEC, โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ เพราะเป็นโครงการที่ช่วยผลิตกำลังคนตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงพิจารณาจากโครงการที่ทำได้จริงเท่านั้น โดยสนองความต้องการของผู้เรียนให้มีความรู้หลายศาสตร์ การเป็นผู้ประกอบการใหม่ และรองรับอาชีพในอนาคตที่เน้น AI

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ สจล.ควรทำนอกเหนือจากการสร้างบัณฑิตที่มีความรู้และสมรรถนะสูง คือการสร้างความน่าสนใจให้เด็กอยากมาเรียน พร้อมทั้งปรับตัวเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ให้ได้รับรู้ถึงความเป็นเลิศและจุดเด่นในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนระลึกถึงเมื่อต้องการค้นคว้าหรือสืบค้นความรู้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพ การศึกษา และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีจุดเด่นในการจัดการเรียนการสอนในหลากหลายสาขา ตอบโจทย์พัฒนาพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ขอให้ต่อยอดไปสู่การหาจุดเด่นที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วย และขอฝากครูอาจารย์ช่วยกันบ่มเพาะให้เด็กไทยมีความรู้ความสามารถและมีรากฐานที่ดีสู่การเป็นคนไทย 4.0 และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนไปทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ ซึ่งเชื่ออย่างยิ่งว่า “เด็กไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” และขอให้ทุกคนสู้ เพราะทุกการทำงานย่อมเจออุปสรรคที่ทำให้ท้อแท้ได้ แต่ขออย่าท้อถอย เพราะรัฐบาลปัจจุบันให้การสนับสนุนการจัดการอุดมศึกษาอย่างเต็มที่ ทั้งเชิงนโยบายและงบประมาณ

โอกาสนี้ ผู้แทน/ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในภาคใต้ ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน ดังนี้

ผศ.ดร.เกษมสุข เสพศิริสุข ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรฯ ได้นำเสนอโครงการบัณฑิตพันธ์ใหม่ ว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพ ได้ริเริมหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในการสอบ TCAS รอบที่ 5 จำนวน 40 คน ใน 6 สาขาวิชา และจะขยายผลโครงการฯ มาสู่วิทยาเขตชุมพร แต่เนื่องจากวิทยาเขตชุมพรไม่มีคณะ เป็นเพียงระดับภาควิชา จึงสามารถดำเนินการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในรูปแบบหลักสูตรการ Upskill โดยการจัดสอนหลักสูตรระยะสั้นให้บัณฑิตที่อยู่ในสถานประกอบการได้ทบทวนความรู้เพิ่มเติมความรู้เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง หลักสูตร Reskill โดยได้พัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ให้มีพื้นฐานการทำเกษตรสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตร Multi-Skill จะเป็นหลักสูตรบูรณาการที่ตอบโจทย์กับพื้นที่ เปิดโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งแก้ไขกฎระเบียบให้สามารถเทียบโอนประสบการณ์ และการเรียนแบบ Skill Based Modules การเรียนเป็น Work Intergate Learning ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศสามารถผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ New S-Curve เกิดความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถานศึกษา เกิดนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ ประเทศไทย 4.0 สู่ชุมชนอย่างแท้จริง

สำหรับโครงการการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Area Based) ภายใต้โครงการเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีศูนย์ KBAC ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างชุมชน สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่ โดย สจล.ชุมพร และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ร่วมกันดำเนินการเพื่อพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากอาชีพหลักด้านการศึกษา ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ด้านสังคมและด้านสุขภาพโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขับเคลื่อนและเสริมแรง (Empowerment) เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพของชุมชนอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.ธวัชชัย ศุภดิศฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอโครงการการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work Intergrated Learning: WIL) และโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง (U-school Mentoring)

โครงการ WIL เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงให้นักศึกษาที่จบการศึกษาสามารถปรับตัวได้เมื่อออกไปสู่ระบบการทำงาน โดยการปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่องโดยเปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนร่วมจัดทำหลักสูตร แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ รูปแบบการเรียนสลับกับการทำงาน (Sandwich Course) รูปแบบสหกิจศึกษา (Co-operative Education) และรูปแบบปฏิบัติการสอนภาคสนาม (Fieldwork) นอกจากนี้มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการจัดทำหลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม (Joint Industry University Course) และกำลังพัฒนาหลักสูตรร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการจัดโปรแกรมรูปแบบ non-degree เพื่อนำแรงงานนอกระบบที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวเข้ามาเรียน ซึ่งคาดว่าภายในปีหน้าจะสามารถดำเนินการได้

โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง (U-school Mentoring) เป็นโครงที่มีขึ้นเพื่อสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ โดยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 66 แห่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัด 30 อำเภอ โดยมหาวิทยาลัยได้ลงไปเป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริมการสอนแบบ THAILAND 4.0 การสอนทักษะกระบวนการคิดและทักษะชีวิตผู้เรียน โครงการภัยพิบัติกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

รศ.ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง (U-school Mentoring) กล่าวว่า ขณะนี้มี 8 สถาบันที่มหาวิทยาลัยรับผิดชอบโรงเรียนในความดูแลจำนวน 179 โรงเรียน มีกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพครู พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน การจัดการเรียนการเรียนแนวใหม่ ทั้งนี้จากการติดตามผลพบว่านักเรียนมีความตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นพลเมืองดี มีความซื่อสัตย์ สุจริตเคารพสิทธิของผู้อื่นตามวิถีประชาธิปไตย และสามารถแก้ปัญหาและช่วยเหลือตัวเองได้

จากนั้น ศ.นพ.อุดม คชินทร และคณะ เดินทางไปเยี่ยมชม “ธนาคารปูม้า” ในโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวมเทศบาลตำบลชุมโค (KBAC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างตำบลชุมโค สจล.วิทยาชุมพรฯ และบริษัท เบทาโกร จำกัด เพื่อนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเข้าสู่ชุมชน ตอบโจทย์การทำมาหากินและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง โดยกล่าวว่า ธนาคารปูม้าถือเป็นตัวอย่างที่ดีและมีคุณค่าต่อการนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย มาช่วยต่อยอดและยกระดับภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพของชาวบ้าน เสริมด้วยพลังจากภาคเอกชน ที่จะช่วยให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ ความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ ตลอดจนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งที่ดี จึงขอขอบคุณทุกคนที่เป็นเครือข่ายการทำงาน ส่งเสริมความเป็นอยู่และช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างรอบด้านตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล

ในช่วงบ่าย เยี่ยมชมการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนบ้านหินกอง (มีโรงเรียนในเครือข่ายได้แก่ รร.บ้านบ่ออิฐ, รร.ชุมโค และ รร.บ้านบางจาก) ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านหินกอง

ศ.คลินิก​ นพ.อุดม​ ค​ชิ​นทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า “นี่คือเด็กยุคใหม่” หากถนัดอะไรก็อยากเรียนอยากรู้ในสิ่งที่ชอบ “นี่คือโลกในศตวรรษที่ 21” เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็ว ทุกคนต้องปรับตัว การได้ชมนิทรรศการครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งครูต้องคอยชี้แนะส่งเสริมเพื่อให้เด็กดึงศักยภาพตนเองออกมาได้มากที่สุด โรงเรียนถือเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นแหล่งพัฒนาทักษะคนในชุมชน โรงเรียนจึงต้องเปลี่ยนรูปร่างให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น เด็กได้เรียนตามความถนัดเฉพาะบุคคล ไม่จำเป็นต้องเรียนจนจบอีก 8-10 ปี สามารถเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากนั้นจึงไปเรียนในสิ่งที่สนใจระหว่างทางควบคู่กับการประกอบอาชีพ และกระบวนการเรียนการสอน มีการออกแบบที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ไม่มีรูปแบบการเรียนรู้ตายตัวอยู่เฉพาะในห้องเรียน

นอกจากนี้ ครูต้องปรับบทบาทตัวเอง ต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจ ให้มีความหวังและเห็นความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ครูจึงต้องการพี่เลี้ยงที่ดี ทั้งจากมหาวิทยาลัย ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อเชื่อมโยงการทำงานด้านการศึกษา ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องเป็นที่พึ่งพิงของโรงเรียนทั้งประถมฯ และมัธยมฯ มีประสบการณ์และข้อมูลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม Area Based

ซึ่งจะส่งผลให้การจัดการศึกษาเกิดพลัง และมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับทุกชุมชน สังคม ท้องถิ่น ส่งผลให้มีระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น และช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาให้ได้มากที่สุด


Written by นวรัตน์ รามสูต, อิยา กัปปา
Photo Credit MOE PR Team (สป./สร.)
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร