ลงพื้นที่ ครม.สัญจร

20 สิงหาคม 2561 – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ภาคใต้ และจังหวัดชุมพร เพื่อตรวจเยี่ยมนวัตกรรมการเกษตรของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร อ.ทุ่งตะโก และติดตามการดำเนินงานโครงการห้องเรียนกีฬา ของโรงเรียนทุ่งตะโกวิทยา อ.ทุ่งตะโก ซึ่งเป็นภารกิจการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 ภาคใต้ (กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย)

1. ติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ภาคใต้ ณ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช

วันนี้ (20 ส.ค.61) เวลา 9.00 น. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ภาคใต้ ณ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การดำเนินการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม มีหลักสำคัญคือ เป็นการจับคู่ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา และการเจรจาซื้อขายผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา ตลอดจนการให้คำแนะนำการวิจัยพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา ในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์

โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้ว เริ่มต้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จำนวน 116 ชิ้นงาน มีการจับคู่ธุรกิจ 24 คู่ มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 200,000 บาท,  จากนั้นดำเนินการต่อที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 243 ชิ้น จับคู่ธุรกิจ 98 คู่ มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 812,879 บาท, ภาคกลาง จำนวน 222 ชิ้นงาน จับคู่ธุรกิจ 147 คู่ มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 400,000 บาท และภาคเหนือ จำนวน 251 ผลงาน จับคู่ธุรกิจ จำนวน 170 แห่ง มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 228,815 บาท โดยได้รับความร่วมมือและการประสานงานของคณะกรรมการดำเนินการทุกฝ่าย ตามกลไกประชารัฐ

สำหรับภาคใต้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2561 ณ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช ซึ่งได้จัดให้มีโครงการจัดแสดงนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์ ที่ผ่านการคัดเลือกว่าสามารถพัฒนาต่อยอดเข้าสู่อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำนวน 259 ผลงาน จับคู่ธุรกิจ 135 คู่ มูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 1,206,000 บาท เพื่อให้สถานประกอบการได้เยี่ยมชม ให้คำแนะนำในการวิจัยพัฒนาผลงานให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น และนำไปสู่การจับคู่ความร่วมมือในการนำผลงานไปใช้งานจริงในเชิงธุรกิจ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำความรู้ความสามารถ ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์ในการประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเข้าสู่เชิงพาณิชย์และการต่อยอดทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการครั้งนี้ ที่ได้ทำงานตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” คือ นโยบายประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลต้องการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ และเห็นว่านวัตกรรมของนักศึกษาอาชีวศึกษาจำนวนมากมีคุณค่า ผ่านการแข่งขันมาแล้วทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ ควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดพัฒนา จนสามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

จากช่วงเวลา 45 เดือนที่ผ่านมาที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมฯ อาชีวะได้ใช้ความสามารถและความพยายามร่วมกันที่จะสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการ 77 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งการอาชีวศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาสำคัญ 4-5 ปีที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นการทำงานร่วมกันส่งผลให้ประเทศมีสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้นเป็น 40% เมื่อเทียบกับสายสามัญ เพราะสังคมตระหนักได้ว่าผู้เรียนจบอาชีวศึกษาไปแล้ว มีฝีมือ มีทักษะ มีงานทำ และมีรายได้มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ศธ.ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา คู่ขนานกันไปครบ 6 ภาค และจะมีการสรุป Demand Side ให้เกิดความสมบูรณ์ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ที่ชลบุรี ซึ่งทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องจะนำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกันในการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนในรูปแบบ 1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภาค 18 ศูนย์จังหวัด” ที่เชื่อมโยงทุกส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อต่อขยายไปพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ก่อให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและมิตรประเทศ ซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเกี่ยวข้องต่อยอดมากขึ้นในการวางแผนการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนและมิติทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ มีงานทำเพิ่มขึ้นในแต่ละห้วงเวลา อันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป



2. ตรวจเยี่ยมนวัตกรรมการเกษตร ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร

เวลา 14.45 น. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องการมารับฟังความคิดเห็นและแนวทางนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้านการเกษตร และเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเกษตรก้าวหน้า (Smart Farmer) ที่จะมีส่วนสำคัญต่อนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ซึ่งสถานศึกษาแห่งนี้มีจุดเด่นหลายด้าน เช่น สวนฟาร์มผีเสื้อ เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ผีเสื้อ 16 ชนิดในท้องถิ่น, งานด้านสัตวศาสตร์ในการการผสมลูกวัวกระทิง, งานด้านพืชศาสตร์ ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ทุเรียนและเงาะ, งานประมง ด้านการเพาะและผสมสายพันธุ์ “ปลาหมอชุมพร” เป็นต้น

นอกจากนี้ ขอชื่นชมสถานศึกษาที่ได้จัดทำ Video Presentation โดยนำเสนอพระราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10  โดยการจัดการศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต 4) เป็นพลเมืองดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 3 การมีงานทำ มีอาชีพสุจริตนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชีวศึกษา ซึ่งสถานศึกษาที่ได้น้อมนำและยึดมั่นปฏิบัติเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติแล้ว ก็จะก่อให้เกิดความเป็นมงคลที่จะส่งผลการพัฒนาการศึกษาของชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ในส่วนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ขอชื่นชมผู้อำนวยการและคณะครูที่มีความตั้งใจร่วมมือกันทำงานจนส่งผลให้ผู้เรียนในสถานศึกษาแห่งนี้มีจำนวนมากขึ้นจากเดิม 100 กว่าคน เป็น 500 กว่าคนในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องเกษตรกรรมถือเป็นหลักสำคัญของประเทศชาติ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในผลิตผลทางการเกษตรทุกชนิด บางเรื่องเร่งแก้ปัญหาไปได้ทีละส่วน บางเรื่องจำเป็นต้องมีการวางแผนแก้ไขระยะยาว ซึ่งบทบาทของ ศธ.ก็ถือเป็นภารกิจหลักที่จะมีส่วนช่วยวางแผนและพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและความเข้มแข็ง

ทั้งนี้ หลักคิดในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น ต้องมุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1) มุ่งมั่นจัดการศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ซึ่งประโยชน์ที่ได้จะเกิดขึ้นกับนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครองก็จะมีความสุขความดีใจที่ลูกหลานจบแล้วมีทักษะ มีอาชีพ มีงานทำ โดยที่ภาคธุรกิจเอกชนก็จะได้กำลังคนที่มีความสามารถจากความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเรา  2) ต้องแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ผลการทำงานสำเร็จเป็นรูปธรรม และ 3) เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องร่วมกันคิดและวางแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่องระยะยาว ไม่ใช่ทำเพียงช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น

ดังนั้น หากอาชีวศึกษาร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ก็จะส่งผลโดยตรงต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับผู้เรียนอาชีวะกว่า 1.1 ล้านคน ผู้สอนอาชีวะอีก 4 หมื่นกว่าคน และสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน 913 แห่ง ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป


3. ตรวจเยี่ยมโครงการห้องเรียนกีฬา โรงเรียนทุ่งตะโกวิทยา อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร

เวลา 16.15 น. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการห้องเรียนกีฬา ของโรงเรียนทุ่งตะโกวิทยา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการห้องเรียนกีฬา ถือเป็นอีกโครงการสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยเน้นให้นักเรียนมีความสามารถด้านกีฬา มีการจัดห้องเรียนทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายในหลักสูตรวิทย์-กีฬา และศิลป์-กีฬา ในประเภทฟุตบอลชายและวอลเลย์บอลหญิง ถือเป็นการทำงานที่ร่วมมือกันระหว่าง สพฐ. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยสถาบันการพลศึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนห้องเรียนกีฬาให้มีความเป็นเลิศด้านกีฬาและตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ “เส้นทางสู่ฝัน สรรค์สร้างแรงบันดาลใจ นักกีฬาไทยสู่สากล” เพื่อให้นักกีฬาไทยในอนาคตมีรูปร่างสูงใหญ่ สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

สำหรับโรงเรียนแห่งนี้ เป็น 1 ใน 9 โรงเรียนห้องเรียนกีฬา ใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีนักเรียน ม.ต้น-ม.ปลาย ตามโครงการ 50 คน มีโค้ชฟุตบอล 4 คน วอลเลย์บอล 2 คน นักกายภาพและครูผู้เกี่ยวข้องที่ดูแลรวมทั้งสิ้น 11 คน นักเรียนฟุตบอลชายชั้น ม.1 มีส่วนสูงเฉลี่ย 166 ซม. ฟุตบอลชาย ม.4 และ ม.5 เท่ากันคือ 178 ซม. ส่วนวอลเลย์บอลหญิง 160 ซม., ค่าเฉลี่ย BMI ของนักเรียนชาย ม.1 เท่ากับ 20.6, นักเรียนชาย ม.4 เท่ากับ 20.6 ส่วนนักเรียนชาย ม.5 เป็น 20.8 ส่วนนักเรียนหญิง 19.6 สำหรับรางวัลสูงสุดที่โรงเรียนได้รับคือ ชนะเลิศฟุตบอลชายรุ่นอายุไม่เกิน 14 ปีของจังหวัดชุมพร

ทั้งนี้ พล.อ.สรเชษฐ์ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของที่พักสำหรับนักเรียนและครู  โดยต้องการให้ สพฐ.ปรับปรุงสภาพถนนด้านหน้าหอพัก ปรับปรุงห้องพักนอนให้อากาศถ่ายเทสะดวกขึ้น ปรับปรุงผิวสนามฟุตบอลไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง เพื่อให้สนามซ้อมและสนามแข่งขันมีมาตรฐานสำหรับนักเรียนในโรงเรียนและชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป


Written by บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit MOE PR Team (สอศ./สป./สร.) และอีทีวีแม็ค
Rewriter/Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร