ลงพื้นที่ ครม.สัญจร

17 กันยายน 2561 – ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามนโยบายรัฐบาลด้านการอุดมศึกษา ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 7/2561 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ให้การต้อนรับ

  • พบปะและมอบนโยบายด้านอุดมศึกษาแก่ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หากติดตามข่าวสารจะพบว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน รัฐบาลจึงมุ่งเน้นที่จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น โดยเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษาต้องเชื่อมโยงกันเพื่อส่งเสริมให้ศักยภาพของคนไทยมีความเข้มแข็ง เนื่องจากนักเรียนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ทราบศักยภาพของตนเอง ครู อาจารย์จึงถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอน ออกแบบการเรียนรู้ ให้เกิดการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อดึงศักยภาพของเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบและถนัด ทำให้เด็กรู้ทิศทางในการพัฒนาตนเอง เลือกเรียนต่อในสิ่งที่ตรงกับศักยภาพจริง ๆ ไม่ใช่เลือกเรียนตามค่านิยม และตกงานภายหลังจบการศึกษา

ทุกวันนี้ การศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนอีกต่อไป เพราะในโลกยุคใหม่นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างง่ายดายผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านการเรียนรูปแบบใหม่ๆ ไม่ใช่เรียนแค่ 4 ปีจบ แต่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต แนวโน้มเช่นนี้ ส่งผลให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก หรือคณะบางคณะต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีเด็กสมัครเข้าเรียน เพราะเด็กจะรู้สึกว่าทำไมต้องเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากสามารถเรียนรู้จากนอกห้องเรียนได้ตลอดเวลา

ดังนั้น มหาวิทยาลัยแห่งใดอยากจะอยู่รอด ก็จำเป็นต้องปรับตัวเป็น demand side ปรับปรุงหรือสร้างหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ให้ผู้เรียนยุคใหม่ที่มีความต้องการหลากหลาย สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ รองรับเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะเดียวกันต้องปรับ mindset ของเด็กรุ่นใหม่ ให้ทักษะใหม่ และที่สำคัญบทบาทอาจารย์ต้องเปลี่ยนไป จะต้องไม่สอนแบบเดิม ต้องออกแบบให้เด็กเรียนรู้แบบง่ายขึ้นสะดวกขึ้น ที่สำคัญคือเน้นว่าการเรียนต้องเรียนจากประสบการณ์จริง จากการทำงานจริงๆ ต้องดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาได้มากที่สุด

“สิ่งที่มหาวิทยาลัยจะต้องปลูกฝังเด็กไม่ใช่มีเพียงแค่ความรู้เท่านั้นเพราะความรู้ล้าสมัยได้ แต่สิ่งที่สามารถที่จะติดตัวนำไปใช้ได้หากโลกมีการเปลี่ยนแปลงคือ ทักษะและสมรรถนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์จะต้องปลูกฝังให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ในการทำงานต่อไปได้ ดังนั้น การผลิตกำลังคนรุ่นใหม่ต้องตอบโจทย์คุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีความรู้ ตลอดจนทักษะและสมรรถนะสูง สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ซึ่งจะมีภารกิจหลักใน 2 ส่วน คือ เพื่อการผลิตกำลังคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์คุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีความรู้ ตลอดจนทักษะและสมรรถนะสูง สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ พร้อมทั้งดำเนินการและบูรณาการการศึกษาวิจัย สร้างนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ และวางแผนผลิตและพัฒนาคนตอบโจทย์โลกอนาคต ด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

นอกจากนี้ ผู้แทน/ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้นำเสนอผลการดำเนินงานของกลุ่มมหาวิทยาลัย ดังนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิชิต พระพินิจ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย นำเสนอผลการดำเนินงานตามพระราโชบาย ว่า มหาวิทยาลัยได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราโชบาย โดยได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนา 20 ปี เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การจัดหลักสูตรพัฒนาครู การยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธ์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอผลการดำเนินโครงการบัณฑิตพันธ์ใหม่ ว่า สถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง จะเปิดสอนใน 6 หลักสูตร คือ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาค อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธ์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอการจัดการเรียนการสอนแบบ Work Intergrated Learning (WIL) ว่า จากผลการดำเนินของสถาบันเครือข่ายพบว่า นักศึกษามีงานทำเพิ่มขึ้น มีนวัตกรรมที่ได้จากการปฏิบัติ ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร สถานประกอบการเข้าร่วมสหกิจศึกษามากขึ้น ได้หลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต และสถาบันฯ ได้รีบข้อมูลในการปรับปรุงคุณภาพบัณฑิต และการปรับปรุงหลักสูตรตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต

รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยณรงค์ ขันผนึก รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ นำเสนอผลการดำเนินโครงการ มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง (U-School Mentoring) ว่าเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง ได้รับจัดสรรงบประมาณ และได้กำหนดกิจกรรม เพื่อให้มหาวิทยาลัยในเครือข่ายลงพื้นที่บริการการศึกษาตามเป้าหมายเพื่อพัฒนาโรงเรียน จำนวน 87 โครงการ จำนวน 121 โรงเรียน ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ มีโรงเรียนเข้าร่วม จำนวน 11 โรงเรียน ใน 3 โครงการ คือ 1)โครงการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษโดยใช้วิธีสอนแบบจอลลี่โฟนิตส์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา 2) โครงการพัฒนาทักษะการอ่าน ส่งเสริมการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญของอาจารย์สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะของนักเรียนให้กับโรงเรียน และ 3) โครงการ Raspberry PI สำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการถ่ายทอดเทคนิคการสอนด้านคอมพิวเตอร์และ IT ให้กับครู เพื่อใช้ในการสอนให้กับนักเรียน


  • เยี่ยมชมผลการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง (U-School Mentoring) ที่โรงเรียนบ้านโพธิ์ทอง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงให้กับสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยนำอาจารย์และนักศึกษามาช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมกับเป็นที่พึ่งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชนในท้องถิ่น

รวมทั้งช่วยชุมชนทำวิจัยและพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่น อาทิ การนำ Raspberry PI สำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาการงานอาชีพและเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มาสอนให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านโพธิ์ทอง ได้รู้จักการนำเทคโนโลยีมาสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ซึ่งโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงได้ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานในพื้นที่จริงด้วย


  • เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวปลอดสารพิษ ตำบลชอนไพร อำเภอเมืองเพชรบูรณ์

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ดำเนินโครงการ “การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่” โดยเริ่มจากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของปัญหาในชุมชน จากนั้นระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อกำหนดจำนวนหมู่บ้านเป้าหมาย พร้อมทั้งร่วมมือกับผู้บริหารจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการทำเกษตรสมัยใหม่ ปลอดภัย และลดการใช้สารเคมีในชุมชนในตำบลชอนไพร ซึ่งมีนายภาณุสิทธิ์ มั่นคง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2560 เป็นประธานกลุ่ม อีกทั้งมีปราชญ์ชาวบ้านช่วยแนะนำวิธีการเปลี่ยนข้าวเคมีสู่ข้าวอินทรีย์ พร้อมกับสร้างแหล่งเรียนรู้ข้าวพื้นเมือง เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้มาเรียนรู้ ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ชุมชนในตำบลชอนไพรได้รับรางวัล เช่น “บ้านสวย เมืองสุข” หมู่บ้านดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี 2560, หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เป็นต้น

“การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งดี ๆ ที่ประเทศต้องการ ซึ่งทุกอย่างจะคงอยู่อย่างยั่งยืนได้ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งรวมคณาจารย์ที่เก่งและมีความสามารถจะช่วยสร้างประโยชน์ ซึ่งสอดคล้องภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏในการเข้ามาดูแลและช่วยเหลือชุมชน ทั้งนี้ ขอให้ขยายผลโครงการกระจายไปยังชุมชนอื่น พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาเรียนรู้แนวทางการดำเนินความร่วมมือด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว


Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, อิชยา กัปปา
Photo Credit
อิทธิพล รุ่งก่อน, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า (VDO)
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร