ลงพื้นที่ ครม.สัญจร
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการ/นโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาและการจัดการเรียนการสอนตามโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบูรณ์ ติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงาน กศน.ตำบล
-
ติดตามการ
ดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และ โครงการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก
ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา กล่าวรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ของศูนย์ย่อย 2 ศูนย์ คือ
1) ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง 1 (NEC TVET Career Center) ประกอบด้วยจังหวัดตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ มีสถานศึกษาภาครัฐ 26 แห่ง และสถานศึกษาเอกชน 12 แห่ง โดยมีความก้าวหน้างานทั้ง 5 ภารกิจในหลายส่วน อาทิ มีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนการผลิตกำลังคน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561-2563 ประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการกว่า 320 แห่ง นำเข้าข้อมูลความต้องการในระบบ Big Data System พร้อมเชิญชวนสถานประกอบการมาร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และนำเข้าที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด
นอกจากนี้ ได้จัดส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนอย่างหลากหลาย ทั้งทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 1,610 คน, เข้าร่วมโครงการ E to E 1,830 คน ใน 122 วิชา ตลอดจนเข้าค่ายภาษาอังกฤษ English Camp กว่า 1,434 คน ในส่วนของครูได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning กว่า 100 คน และร่วมโครงการพัฒนาครูฝึกในสถานประกอบการ 60 คน และระดมความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท, สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย, บริษัท CP ALL สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล, Fredrich-List-Schule เยอรมนี เป็นต้น รวมทั้งมีการขึ้นทะเบียนครูพิเศษอาชีวศึกษา 23 คน
โดยขณะนี้ได้เตรียมการพัฒนาและเปิดหลักสูตรใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการในพื้นที่ อาทิ สาขางานช่างอากาศยาน สาขางานระบบรางขนส่ง สาขาดูแลผู้สูงอายุ สาขางานท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สาขางานสถานพยาบาลครบวงจร เป็นต้น ในส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์มีสาขาวิชาที่เป็นที่นิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ สาขาวิชาช่างยนต์ สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาวิชาช่างกลโรงงาน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมโครงการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำนวน 10 ชิ้นงาน อาทิ เครื่องคั่วพริก ชุดแจ้งเตือนประสิทธิภาพและความสกปรก ของแผ่นกรองเครื่องปรับอากาศผ่านระบบไลน์
2) ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 1 (NEEC TVET Career Center) ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย และบึงกาฬ โดยมีความก้าวหน้างานทั้ง 5 ภารกิจในหลายส่วน อาทิ มีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนการผลิตกำลังคน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561-2563 พร้อมมีแผนจัดฝึกอบรม Big Data System แก่สถานประกอบการกว่า 2 หมื่นแห่ง และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเพื่อขยายการนำเข้าข้อมูลความต้องการต่อไป
สำหรับการส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพ ทั้งการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพ 6,560 คน การแข่งขันทดสอบทักษะวิชาชีพ 4,430 คน ทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษ (TOEIC) 356 คน พร้อมได้รับการสนับสนุนทรัพยากรด้านงบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ ทุนการศึกษา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ และมีแผนที่จะพัฒนาและเปิดหลักสูตรใหม่ เพื่อการมีงานทำและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ อาทิ สาขาโลจิสติกส์ สาขางานอาหารเพื่อการท่องเที่ยว สาขาช่างซ่อมบำรุง สาขางาน MICE เป็นต้น นอกจากนี้มีบุคลากรจากภาคเอกชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นครูพิเศษอาชีวศึกษา อาทิ บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เซฟ-เวย์ คาร์เซ็นเตอร์ เป็นต้น
-
ขอให้มีการทบทวนการจัดหมวดหมู่ของข้อมูลให้ถูกต้องตามภารกิจทั้ง 5 ด้าน พร้อมร่วมกันพิจารณาการเพิ่มหรือลดหลักสูตร ตามลำดับความเร่งด่วน และคำนึงถึงความต้องการกำลังคน (Demand side) เพื่อให้การวางแผนการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษามีความสมบูรณ์ และสอดคล้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาในระดับพื้นที่ ท้องถิ่น ต่อยอดไปถึงระดับประเทศ
-
เร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์กลางของ Big Data System ด้านอาชีวศึกษา พร้อมรวบรวมข้อมูลให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ และครอบคลุมในทุกระดับ ที่จะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ทั้งนี้ให้ดำเนินการโดยทันที ตลอดจนเน้นความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูลเป็นสำคัญ
-
การขึ้นทะเบียนครูพิเศษอาชีวศึกษาอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งเริ่มต้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรีแล้ว และอยู่ระหว่างการประสานเชิญชวนผู้มีประสบการณ์ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ มาเป็น “ครูพิเศษ” ในพื้นที่อื่นมากขึ้น โดยคาดว่าภายในเดือนกันยายน 2561 นี้ จะสามารถขึ้นทะเบียนครูพิเศษได้ไม่น้อยกว่า 100 คน โดยมุ่งหวังให้โรงงานอุตสาหกรรม 4.0 และสถานประกอบการต่าง ๆ เป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์ให้กับนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาด้วย
-
การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา เน้นความร่วมมือของนักประดิษฐ์และสถานประกอบการเพื่อนำสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของนักศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เมื่อดำเนินการขับเคลื่อนครบทั้ง 6 ภาคแล้ว ขอให้รวบรวมสรุปผลการดำเนินโครงการและประเมินผลเพื่อวางแผนการทำงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ด้วย
-
โครงการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท หรือ อศ.กช. ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง รวม 48 แห่งทั่วประเทศ โดยการจัดการเรียนการสอนที่ใช้อาชีพเป็นฐาน พร้อมกลยุทธ์ของ Best Practice กลุ่มเกษตรกรเก่า ประสานความร่วมมือกับกลุ่ม Young Smart Famer เพื่อสร้างโอกาส และการเข้าถึงการศึกษาให้แก่ประชาชนในชนบท ให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะ นำไปประกอบอาชีพหลักและอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้ โดยมีแผนขยายเป้าหมายของกลุ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาให้เพิ่มมากขึ้น โดยในปีการศึกษา 2561 มีนักศึกษาโครงการ อศ.กช. รวมทั้งสิ้น 5,936 คน ทั้งนี้หากมีผู้สนใจเข้าศึกษาหรือเยี่ยมชมโครงการฯ สามารถสอบถามได้ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งถือว่า อศ.กช. เป็นโครงการที่ดี และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนได้พัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยขอให้มีการสำรวจและรวบรวมผลการดำเนินงาน เพื่อนำมาประเมินผลและพิจารณาแนวทางการพัฒนาต่อไป
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการทุกอย่างต้องดูความต้องการของประชาชนและทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นหลัก โดยเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อนักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชน และสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมมีแผนการดำเนินงานที่มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องของนโยบายและการปฏิบัติ ที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยยึดหลักคิด “ริเริ่ม รวดเร็ว รอบคอบ รอบด้าน เรียบร้อย” เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
โอกาสนี้
-
ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานสำนักงาน กศน. ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และใกล้เคียง ที่ กศน.ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก
อีกทั้งเมื่อต้นปี 2561 รัฐบาลได้กำหนดนโยบายพิเศษมาขับเคลื่อนประเทศ คือ โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งสำนักงาน กศน. ก็เป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการที่ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งตามลำดับจนกระทั่งสรุปงานการดำเนินโครงการ พบว่ามีงานริเริ่มที่เกิดจากชาว กศน. ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มีรายได้เพิ่มขึ้น พ้นจากความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ คือ
-
โครงการชุมชนต้นแบบ ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์การเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งในชุมชนนั้น ๆ ขณะนี้มีจำนวน 928 ชุมชน และจะขยายผลไปทุกตำบลทั่วประเทศให้เป็น “ชุมชนต้นแบบระดับตำบล” ครบทั้ง 7,424 ตำบลภายในปี 2561 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน -
การสอนและถ่ายทอดองค์ความรู้การค้าออนไลน์ (
e-Commerce) เพื่อช่วยให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าขยายเพิ่มเติมจากพื้นที่ที่มีอยู่เดิม 1 แห่ง ขยายไปอีก 2-3 แห่ง แต่จะเน้นไปที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ ขณะนี้มีสมาชิกผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร e-Commerce เพิ่มขึ้นเป็น 3.2 แสนคนแล้ว โดยให้ กศน.อำเภอ/ตำบลทั่วประเทศ เปิดพื้นที่เป็น “ศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน.(ONIE Online Commerce Center – OOCC)” ในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ตามบริบทของพื้นที่ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับประชาชนในการวางจำหน่ายสินค้าหรือสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ตลอดจนให้คำปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการจำหน่ายสินค้าออนไลน์โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นตามแนวทางโครงการไทยนิยม ยั่งยืน -
การแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนนอกระบบการศึกษา ซึ่งในเรื่องนี้ดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยวิธีเคาะประตูบ้านเพื่อตามหาประชากรวัยเรียน จนสามารถนำประชากรวัยเรียนอายุระหว่าง 3-18 ปี กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้จำนวน 45,890 คน หรือร้อยละ 60 ของจำนวนเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา จนได้รับการชื่นชมจากยูเนสโก โดยจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอในการประชุมอาเซียน เพื่อถ่ายทอดให้ประเทศสมาชิกรับทราบด้วย และ ศธ.จะขยายไปในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เพื่อดึงคนกลับเข้ามาในระบบการศึกษาให้มากขึ้น
-
การดูแลสุขภาวะ สุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่ โดยให้ครู กศน. ทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลและป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมประเมินผลเพื่อสะท้อนความเห็นของประชาชนและนำมาปรับปรุงการดำเนินงาน
-
การส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทย
เพื่อให้อ่านออกเขียนได้/อ่านคล่องเขียนคล่อง โดยใช้กระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนสื่อต่าง ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการมีอยู่แล้วอย่างจริงจัง อาทิ การแจกรูปสะกดคำ, ตำราที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น
โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ และคณะ ได้เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของ กศน.ตำบล เช่น OOCC กศน.บุ่งน้ำเต้า ซึ่งเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ กศน., กลุ่มศูนย์ฝึกอาชีพ 1 อำเภอ 1 อาชีพ, ไก่ย่างข้าวเบือ 3 รส, เยี่ยมชมผลงานกลุ่มอาชีพ โซนหลักเมือง, ช่างปูนปั้น ต.ลานบ่า, กระถางยางรถยนต์ ต.น้ำชุน, การทำน้ำพริก ต.บุ่งน้ำเต้า, อาหารและขนม ต.หนองไขว่, ถักสานเส้นพลาสติก ต.บุ่งคล้า, ผักปลอดภัย ต.ปากดุก, ข้าวโพดหวานสีแดง ราชินีทับทิมสยาม พันธุ์แรกของโลกที่กินดิบๆ ได้ เป็นต้น
-
ติดตามโครงการห้องเรียนกีฬา
รร. กาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการห้องเรียนกีฬา เป็นโครงการของรัฐบาลที่นำการกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเพื่อให้โครงการมีความยั่งยืนได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการโครงการเป็นระยะเวลา 5 ปีต่อเนื่อง เพื่อสามารถวางแผนงานและงบประมาณดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในโรงเรียนทั้ง 9 แห่งใน 8 จังหวัด และทุกประเภทกีฬา คือ ฟุตบอลชาย/หญิง วอลเลย์บอลหญิง และบาสเก็ตบอลหญิง
สำหรับโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์ ซึ่งได้ดำเนินงานตามบันทึกความตกลงร่วมกับสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตเพชรบูรณ์ ที่ให้การสนับสนุนทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ครู สถานที่ฝึกซ้อม ตลอดจนโภชนาการและวิทยาศาสตร์การกีฬา พร้อมดูแลนักเรียนอย่างรอบด้าน ทั้งการเรียนและความเป็นเลิศด้านกีฬา ตามความมุ่งหมายของโครงการ คือการสร้างนักกีฬาสู่ความเป็นเลิศในการแข่งขันระดับประเทศและระดับสากล พร้อมคุณธรรมจริยธรรมอย่างรอบด้าน
ซึ่งถือว่าโรงเรียนมีผลความก้าวหน้าการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยต่อจากนี้ ขอให้เตรียมวางแผนการทำงานในระยะต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเด็กให้มีความสมบูรณ์ครบเครื่อง พร้อมจะมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สนับสนุนดูแลการดำเนินงานของโรงเรียนในด้านต่าง ๆ อาทิ จำนวนหอพักนักเรียนอย่างเพียงพอ สนามสำหรับฝึกซ้อมและจัดแข่งขัน ไฟส่องสว่าง สระว่ายน้ำ อุปกรณ์พัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย ตลอดจนด้านโภชนาการ เน้นอาหารที่เพียงพอ มีความสดใหม่ ปรุงสุก รวมทั้งความเป็นอยู่ของครู อาทิ บ้านพักครูที่สอนวิชาการและครูที่เป็นโค้ช เป็นต้น
นอกจากนี้ ขอให้นำข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปสู่การปฏิบัติ คือการส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬา พร้อมเชื่อมโยงโครงการห้องเรียนกีฬากับโรงพยาบาลในค่ายทหาร เพื่อเชิญแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสุขภาพและร่างกาย มาเป็นวิทยากรในห้องเรียน ในส่วนของการพัฒนาครูนั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะสนับสนุนโค้ชมาช่วยสอนครูฟุตบอลในช่วงปิดเทอมได้รุ่นละ 30 คน ขอให้ สพฐ. ประสานงานให้เกิดความเป็นรูปธรรมในช่วงเดือนตุลาคมนี้ โดยเริ่มจากฟุตบอลในโรงเรียนโครงการห้องเรียนกีฬาในแต่ละภาค ส่วนกีฬาประเภทอื่นก็ให้ดำเนินการในแนวทางเดียวกับฟุตบอลด้วย
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี, ปกรณ์ เรืองยิ่ง (VDO)