ลงพื้นที่ ครม.สัญจร
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 8/2561 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน)
-
ติดตามการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน ทำให้ทราบว่าสถาบันการศึกษาในภาคเหนือมีความเข้มแข็งมาก จะเห็นได้จากการผลิตกำลังคน นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอชื่นชมการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่มีความเป็นรูปธรรม ทั้งการผลิตครูที่มีความเป็นเลิศ, ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนแบบ Work-integrated Learning และ School-integrated Learning อย่างเข้มข้น เป็นการเรียนควบคู่การฝึกอบรมนักศึกษานอกห้องเรียนในสถานที่ปฏิบัติงานจริง, การสร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะพิเศษในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ ตลอดจนขยายผลงานวิจัยสู่ชุมชน
ในส่วนของการพัฒนาการศึกษานั้น “ครู” ถือเป็นวิชาชีพที่สำคัญที่สุด ทุกคนและทุกหน่วยงาน จึงต้องพยายามเดินไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับบูรณาการ ขับเคลื่อน และเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน โดยไม่ให้การบริหารจัดการทางภูมิศาสตร์มาเป็นอุปสรรค เพราะเราทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การสร้างบัณฑิตครูเพื่อไปสร้างประเทศชาติและสังคมโลก สร้างประโยชน์สูงสุดแก่บุตรหลานของเรา เพื่อนำความรู้กลับมาทำประโยชน์ให้ชุมชนและพื้นที่ต่อไป และขอย้ำว่า ควรเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เพราะทุกการทำงานจะหลีกเลี่ยงความคิดต่างไม่ได้ แต่ขอให้ทุกคนเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมหาจุดร่วมเพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานสู่จุดหมายเดียวกันต่อไป
สรุปโครงการการจัดการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
1) โครงการผลิตบัณฑิตครูคุณภาพเลิศ โดยมุ่งผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีที่มีสมรรถนะและประสิทธิภาพที่เป็นเลิศใน 15 สาขาวิชาของกลุ่มสังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและปรับหลักสูตร โดยเริ่มต้นจากการมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในวิชาที่สอนอย่างลึกซึ้ง มีทักษะในการสอน และมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เพื่อดูแลสถานศึกษาเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา และโรงเรียนบางส่วนในจังหวัดเชียงใหม่
2) โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีกรอบการเรียนรู้ทรัพยากร ทั้งด้านการใช้ประโยชน์ และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ เชื่อมโยงผ่านเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ด้วยการบูรณาการการเรียนการสอนในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษาครุศาสตร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ฐานทรัพยากร สร้างแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากร
3) โครงการบูรณาการเพื่อยกระดับห่วงโซ่ คุณค่าชุมชน ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ภายใต้กรอบแนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ (ศูนย์สิ่งแวดล้อมและทดสอบผลิตภัณฑ์, ศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช, ศูนย์เพิ่มมูลค่าอาหารผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา, ศูนย์พลังงานและสมาร์ทกริดเทคโนโลยี) อาทิ การอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองเชียงแสน, ข้าวหอมดอย และข้าวหน่อแพร่, ภูมิปัญญาการเลี้ยงผึ้งโก๋นธรรมชาติ เป็นต้น
4) โครงการพัฒนาระบบกสิกรรมไร้สารพิษ เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยโดยชุมชน ด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ปัญหาการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในการทำการเกษตร หรือสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารสกัดชีวภาพ เพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัยเพียงพอต่อการบริโภคในชุมชน ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ทั้งยังเกิดเครือข่ายเกษตรกร และศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนด้วย
5) การผลิตและพัฒนาครูของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ โดยปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต เน้นผลิตบัณฑิตฐานสมรรถนะมาตรฐานสากล และทักษะการทำงานที่สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อเรียนจบ
นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีปณิธานที่มุ่ง “สร้างคน สร้างความรู้ สร้างคุณธรรม และอนุรักษ์ธรรมชาติ” โดยผลิตบัณฑิตแล้วจำนวน 23,984 คน พร้อมได้ปรับหลักสูตรมีจุดเน้นที่การเรียนรู้ของผู้เรียน และผลลัพธ์ของการเรียนรู้เป็นหลัก ทั้งด้านความรู้ ด้านทักษะ และสมรรถนะ ตลอดจนคุณลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นบัณฑิตที่จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม
-
ความก้าวหน้าโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ของมหาวิทยาลัยพะเยา
มหาวิทยาลัยพะเยา มุ่งผลิตบัณฑิตให้จบการศึกษาแล้วมีงานทำ และสามารถใช้ชีวิตอยู่สังคมโลกและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี 67 หลักสูตร ปริญญาโท 24 หลักสูตร และปริญญาเอก 9 หลักสูตร มีนิสิตรวมจำนวน 19,618 คน
มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อพัฒนาคนไทยรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล ที่มีทักษะชีวิต มีความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สามารถต่อยอดความรู้สู่การปฏิบัติ และสร้างนวัตกรรมได้ ประกอบด้วย 4 โครงการหลัก คือ
1) โครงการศึกษาทั่วไปสู่คนไทยพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นการหล่อหลอมบูรณาการทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัล เข้ากับทักษะวิชาชีพ โดยพัฒนาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมและการมีส่วนร่วมกับสังคม รวมทั้งมีทักษะด้านดิจิทัล มีความรู้ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการเมือง ตลอดจนทักษะด้านการคิดและการเป็นผู้ประกอบการ สามารถนำความรู้ไปบูรณาการกับวิชาชีพได้
2) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Ready to Work) เป็นหลักสูตรที่มุ่งสร้างสมรรถนะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยบูรณาการการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในสถานที่จริง ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการ ในการรับนิสิตฝึกประสบการณ์กว่าร้อยละ 50 ของเวลาเรียน พร้อมทั้งได้เรียนรู้กับอาจารย์ที่มีความพร้อมด้านคุณวุฒิ และความสามารถด้านเทคโนโลยี ต่อยอดสู่นวัตกรรม ตลอดจนกิจกรรมการผลิตและสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองตามมาตรฐานสากล
3) หลักสูตรประกาศนียบัตรนักแปรรูปเนื้อสัตว์อัจฉริยะ (Smart Meat Processor) เพื่อส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาการแปรรูปเนื้อสัตว์ ต่อยอดสู่การสร้างมูลค่า ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ โดยเรียนทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ซึ่งได้รับความร่วมมือกับสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญนอกคณะที่มาช่วยสอนในด้านต่าง ๆ อาทิ Markerting management, Accounting เป็นต้น
4) หลักสูตรประกาศนียบัตรนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการเกษตรสู่ Smart Farming เพื่อพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจ ด้านธุรกิจระบบเกษตรและการจัดการฟาร์มด้วยระบบอัจฉริยะ โดยจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี การปฏิบัติจริง และการศึกษาดูงาน พร้อมมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อบูรณาการความรู้แก่ผู้เรียน ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ กล่าวด้วยว่า แนวทางการดำเนินโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมบัณฑิต เพื่อให้มีทักษะและสมรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ โดยโครงการทั้งหมดมีความสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำลังเร่งขับเคลื่อนในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ส่วนแนวโน้มจำนวนนิสิตนักศึกษาที่ลดลงนั้น สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งก็ประสบปัญหาเช่นนี้ สิ่งที่ควรทำคือ การปรับตัวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยและหลากหลายอาชีพ อาทิ เปิดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะแก่ผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี เมื่อจบหลักสูตรแล้วสามารถทำงานได้ทันที หรืออาจส่งเสริมให้คนเหล่านี้ค้นพบแนวทางการประกอบอาชีพของตนเองได้
Photo Credit
Editor