ลงพื้นที่ ครม.สัญจร

23 กรกฎาคม 2561 – ศาสตราจารย์คลินิก​ นพ.อุดม​ ค​ชิ​นทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามนโยบายรัฐบาลด้านการอุดมศึกษา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 “เจริญราชธานีศรีโสธร” (อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ)

ในช่วงเช้า ศ.คลินิก​ นพ.อุดม​ ค​ชิ​นทร รมช.ศึกษาธิการ​ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบปะและมอบนโยบายด้านอุดมศึกษา แก่ผู้บริหาร​ คณาจารย์​ และบุคลากร​มหาวิทยาลัย​อุบล​ราชธานี​ พร้อมทั้งเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนอัจฉริยะ​ ณ​ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดย รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะผู้บริหาร และนักศึกษา ให้การต้อนรับและเข้าร่วมจำนวนมาก

รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมีสมรรถนะตามมาตรฐานสากล ด้วยหลักสูตรที่ทันสมัย เน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ และทักษะจากประสบการณ์จริง ใน 3 กลุ่มสาขา ได้แก่ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีอัตราการมีงานทำของบัณฑิตระดับปริญญาตรี ในปี 2559 ร้อยละ 85.74 และมีเสียงตอบรับความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตระดับปริญญาตรี ปี 2559 สูงถึงร้อยละ 84.20, ร่วมโครงการสถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง เครือข่ายภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่ 210 โรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนได้รับประโยชน์กว่า 18,000 คน และครูกว่า 3,200 คน, กิจกรรมพัฒนาครู ด้วยกระบวนการความคิดทางคณิตศาสตร์ การวิจัยในชั้นเรียน การสอนแบบ STEM Education ร่วมพัฒนาโรงเรียนแกนนำเครือข่ายเข้มแข็ง ทั้งด้านวิชาการ ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการรู้ทันสื่อในยุคดิจิทัล

ในส่วนด้านการวิจัย พัฒนา การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้กับกลุ่มเป้าหมายนักศึกษา คณาจารย์และนักวิจัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชน ในโครงการต่าง ๆ อาทิ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ สำหรับทดสอบตัวอย่างอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, โครงการวิจัยกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แปรรูปอาหาร การแพทย์ครบวงจร การบินและโลจิสติกส์ ตลอดจนเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ, โครงการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี : โครงการฟื้นใจเมืองเขมราฐธานี เป็นต้น

นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการเรียนการสอนของคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ รวมทั้งห้องเรียนอัจฉริยะ ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงห้องเรียนอัจฉริยะ จำนวน 6 ห้อง ทั้งภายในอาคารเรียนรวม คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ที่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต


ต่อจากนั้นในช่วงบ่ายของวัน​เดียวกัน ศ.คลินิก​ นพ.อุดม​ ค​ชิ​นทร รมช.ศึกษาธิการ​ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมรับฟังผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาครูและท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ณ ห้องสุขวิช รังสิตพล ศรีพฤทธาลัยราชภัฏสัมมนาคาร มหาวิทยาลัย​ราชภัฏศรีสะเกษ​ อำเภอเมืองศรีสะเกษ พร้อมเยี่ยมชมผลการดำเนินงานด้านส่งการเสริมอาชีพ​และภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับชุมชน ทีวัดพระธาตุสุพรรณหงส์

รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 เพื่อรองรับการพัฒนาจังหวัดซึ่งมีขนาดใหญ่และมีประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะประชากรวัยเรียน แต่ยังขาดสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ที่มีความพร้อมด้านที่ดินเพื่อการก่อสร้าง

โดยในปีการศึกษา 2561 เปิดการเรียนการสอนใน 4 คณะ รวม 51 หลักสูตร ได้แก่ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ตลอดจนวิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง 1 แห่ง มีนักศึกษาจำนวน 10,340 คน และมีข้าราชการและบุคลากรมหาวิทยาลัย รวม 262 คน

มหาวิทยาลัย​ราชภัฏศรีสะเกษ มีความมุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในคุณค่าในวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างเสริมความเข้มแข็งของวิชาชีพครูและชุมชน ตลอดจนศึกษาวิจัยและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญหลายประการ อาทิ การรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษาจาก สมศ.ในระดับดี โดยในปีการศึกษา 2559 ได้มีผลการประเมินรวม 4.00 และมีตัวบ่งชี้ที่มีคะแนนสูงสุด ได้แก่ 1) การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม คะแนน 5.00 2) การวิจัย คะแนน 4.63 และ 3) การบริการวิชาการ คะแนน 4.00 ตามลำดับ, พัฒนานักศึกษาให้มีทักษะเป็นเลิศ “เก่งงาน เก่งคน เก่งคิด เก่งวิชาการ” ให้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม และมีคุณธรรมจริยธรรม ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยจากการได้รับรางวัลต่าง ๆ อาทิ นายอดิศักดิ์ สนับสนุน รางวัลเยาวชนดีเด่น สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2559 น.ส.รสสุคนธ์ สารทอง รางวัลพระราชทานระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2560 วงผกาลำดวน รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทเซิ้ง การประกวดดนตรีพื้นบ้านชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2556 เป็นต้น, การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญพิเศษ แก่ข้าราชการครูฯ กว่า 3,000 คน, การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2559 เป็นอันดับ 2 (คะแนน 89.07) จากสถาบันอุดมศึกษา 77 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาท้องถิ่น มรภ.ศรีสะเกษ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาท้องถิ่น โดยน้อมนำแนวพระราชดำริในการส่งเสริมการผลิต พัฒนา และแปรรูป ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ทรงให้ความสนพระทัยและห่วงใยการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เป็นอย่างมาก ในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการอุดมศึกษา ได้น้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษา เพื่อถ่ายทอดสู่การขับเคลื่อนงานการอุดมศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลิตกำลังคนในสาขาขาดแคลน ตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน สังคม และประเทศด้วย

ดังนั้น ในการเดินทางมาครั้งนี้ จึงตั้งใจมาเยี่ยมเยียนและติดตามการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ซึ่งต้องถือว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่ทั้งรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ และคาดหวังให้เป็นที่พึ่งพิงในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม สอดคล้องกับมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ที่กำหนด “ให้มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้เชิดชูปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชนฯ”

นอกจากนี้ ขอฝากให้ตระหนักถึงรากเหง้าของความเป็น มรภ.ที่พัฒนามาจากความเป็นครูด้วย อาทิ วิทยาลัยครู เป็นต้น โดยให้ความสำคัญกับคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ เพื่อผลิตและพัฒนาแม่พิมพ์ของครูคือ “ครูของครู” เชื่อมโยงไปสู่การสร้างครูที่มีบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ 20 ปี ต่อไป สิ่งสำคัญคือการผลิตบัณฑิตออกมาเป็นครูที่มีคุณภาพ และจุดเน้นที่ตรงกับความเชี่ยวชาญของ มรภ.แต่ละแห่ง พร้อมช่วยกันดำเนินงานไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยจะต้องเหลียวหลังกลับไปทบทวนบทบาทและความถนัดของตนเอง เพื่อเป็นการตั้งหลักก่อนจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าตามบทบาทภารกิจและยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันถึงเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญกับทุกมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใด อยู่ใกล้หรือไกล หรือจะเด่นดังเพียงใด โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมีภารกิจมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในยุคดิจิทัล (4.0) ตามยุทธศาสตร์ประเทศในการสร้างกำลังคน และในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลและพัฒนาท้องถิ่นในหลาย ๆ ด้านให้มีคุณภาพ และตราบใดที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ยินดีที่จะสนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตครูคู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างเต็มที่ พร้อมเป็นกำลังใจในการทำงานและแสดงฝีมือของชาวมหาวิทยาลัยที่สร้างผลกระทบ (Impact) ต่อผู้เรียน ชุมชน และประเทศโดยรวม

ในโอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมวิถีแห่งการพัฒนาท้องถิ่น ราชภัฏกับชุมชนบ้านหว้าน ในโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม รอยพ่ออย่างพอเพียง ตลอดจนการสาธิตอาชีพส่งเสริมภูมิปัญญา อาทิ การทอผ้าลายขิด การแปรรูปอาหาร การจักสานผลิตภัณฑ์ต้นกก เป็นต้น


Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit อิทธิพล​ รุ่ง​ก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร