วอศ.เทคโนโลยีฐานวิทย์ฯ (ชลบุรี)
หมออุดม ลงพื้นที่ชลบุรี เร่งพัฒนาหลักสูตรอาชีวะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ จ.ชลบุรี เพื่อเชื่อมโยงสู่การเรียนต่อสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา ตอบโจทย์การผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.จันทบุรี
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีทุกคนลงพื้นที่ เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชน ว่าเป็นอย่างไรและมีข้อขัดข้องอะไรบ้าง รัฐบาลและกระทรวงจะได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนได้อย่างเหมาะสมต่อไป
สำหรับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนและบุคลากรในระดับดี เป็นที่น่าพึงพอใจ หากครูอาจารย์จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นทักษะคิดวิเคราะห์ ก็จะนำไปสู่การคิดค้นและสร้างนวัตกรรมของตนเองได้โดยง่าย
ในส่วนการสร้างอาชีวศึกษาพันธุ์ใหม่ กระทรวงศึกษาธิการได้วางเป้าหมายผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ มีทักษะมืออาชีพและมีศักยภาพสูง สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ตลอดจนเชื่อมโยงสู่การเรียนต่อสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างนวัตกรรมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ โดยหวังให้เกิดขึ้นในสถาบันอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ โดยริเริ่มจากฐานคิดสำคัญของผู้บริหารทุกระดับว่า การอาชีวศึกษาคือพื้นฐานสำคัญของประเทศ และกำลังคนสายวิชาชีพก็จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ สู่เศรษฐกิจระดับภาคและประเทศในที่สุด
ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้น ด้วยผลงาน รางวัลความภาคภูมิใจ ตลอดจนนวัตกรรมต่าง ๆ ที่สร้างชื่อเสียงแก่สถาบัน ครอบครัว และสังคม อาทิ อาชีวะจิตอาสาช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์, รางวัลจากการประกวดแกะสลักน้ำแข็งนานาชาติ เป็นต้น เพื่อสร้างความไว้วางใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคม ที่จะเป็นการเพิ่มผู้เรียนสายวิชาชีพให้เพียงพอต่อการพัฒนาพื้นที่และประเทศ
นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า การพัฒนาด้านอาชีวศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 เขต คือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) และพื้นที่โดยรอบเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีความต้องการกำลังแรงงาน ทั้งในอุตสาหกรรม First S-Curve และ New S-Curve จำนวนกว่า 1.7 แสนคน
โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ปฏิรูปการอาชีวศึกษามุ่งเน้นหลักสูตรเทคโนโลยีและแนวคิดเชิงวิศวกรรมศาสตร์ใน 7 สาขาวิชา คือ ระบบขนส่งทางราง, ช่างซ่อมอากาศยาน, แมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์, หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม, เทคนิคพลังงาน, เทคโนโลยีการท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ เพื่อตอบโจทย์ยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 อีกทั้งส่งเสริมทักษะวิชาชีพตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิวิชาชีพอาเซียน และระดับสากล
นอกจากนี้ สอศ. เตรียมที่จะขยายผลการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตร KOSEN ไปยังสถาบันอาชีวะอื่น ๆ เน้นการวิเคราะห์ การทำงานแบบบูรณาการ ผลิตกำลังคนตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต ตลอดจนร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบทวิภาคีมากขึ้น ให้ทันเปิดทำการเรียนการสอนในปีการศึกษาต่อไป ทั้งการพัฒนาหลักสูตร, กระบวนการจัดการเรียนการสอน, การวัด/ประเมินผล, การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ เป็นต้น
นายภวัต เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีมีแนวทางในการพัฒนาจังหวัดในหลากหลายมิติ ทั้งอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ การขนส่ง ในส่วนการพัฒนาด้านการศึกษา ได้สร้าง “ชลบุรีโมเดล” โดยสอดแทรกเนื้อหาความรู้พื้นฐานด้านการอาชีวศึกษาในทุกระดับการศึกษา ทุกชั้นเรียน และทุกสถานศึกษามาตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และทำให้เด็กพบความถนัด/ความชอบของตนเองด้วย พร้อมจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Project-based Learning ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาฐานวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน, วิทยาลัยเทคนิคพังงา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี)
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
5/2/2561