วันพระราชทานนาม 131 ปี ม.มหิดล

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กระทรวงใหม่กับการขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ในงานการเสวนา 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวตอนหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นมหาวิทยาลัยของไทยแห่งหนึ่งที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ปี 2431 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 5) ทรงสถาปนาโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย คือ “โรงศิริราชพยาบาล” ในอีก 12 ปีต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งเป็น “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาแพทย์ของไทย โดยพัฒนาการเรียนการสอนวิชาแพทยศาสตร์ในระดับปริญญาตรี จากนั้นได้มีการพัฒนาวิทยาการทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2512 เพื่อปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยโดยสมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ในชื่อ “มหาวิทยาลัยมหิดล” จวบจนปัจจุบัน จึงนับเป็นปีที่ 131 ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ตลอดเวลา 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล ชาวมหิดลทุกคนยังคงปณิธานในการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” (Wisdom of the Land) เพื่อประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ พร้อมนำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนคนไทยและมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยในอนาคต ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาการอุดมศึกษาร่วมกัน และสร้างกลไกบูรณาการการศึกษา วิจัย ฝึกอบรม ตลอดจนการพัฒนาวิชาชีพให้ตอบสนองความต้องการของตลาดงาน พร้อมรับกับความท้าทายที่จะต้องเผชิญในอนาคต โดยเฉพาะพลวัตโลกศตวรรษที่ 21 ที่เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้คน ทำให้มีรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานเปลี่ยนไปอย่างมาก

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า บทบาทของ “ครู” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเปิดใจยอมรับและพร้อมเผชิญความท้าทายที่เกิดจากเปลี่ยนรุ่นของคนไปสู่คนยุคใหม่ (Change of Generations: Gen Z) ซึ่งเรียนรู้แบบออนไลน์ในทุกที่ ทุกเวลา ผ่าน Platform ใหม่ ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งพยายามย้ำเสมอในทุกเวทีว่า ครูอาจารย์ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความเข้าใจลูกศิษย์ และสามารถเข้าถึงได้ เมื่อนั่นก็จะเกิดความไว้วางใจระหว่างกัน และหากสิ่งเหล่านี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดการยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจในการเรียนในสิ่งที่ถนัดหรือความชอบ จนเกิดเป็นจินตนาการนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม (Innovation) ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร สังคม และโลกต่อไป

อีกประเด็นที่มีความสอดคล้องกับการจัดงานครั้งนี้ คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของอาจารย์ระดับอุดมศึกษา เสมือนเป็นการสร้างความใฝ่รู้และวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และเมื่อบุคลากรขององค์กรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาแล้ว การจะสร้างองค์กรด้านอุดมศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และวิจัย ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ท้ายสุดนี้ ขอแสดงความยินดีในโอกาสครบ 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล และขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ช่วยสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มหาวิทยาลัยมหิดลจะพร้อมเดินหน้าไปสู่ความท้าทายในอนาคต เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางด้านสุขภาพ ศาสตร์ ศิลป์ และนวัตกรรมบนพื้นฐานของคุณธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ พร้อมมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับอยู่ใน 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกในปี 2573 (To be 1 in 100 World Class University)

Written by ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว
Photo Credit
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร