วิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษา

พล.อ.สุรเชษฐ์​ ชัย​วงศ์​ รัฐมนตรีช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษา Big Data System เพื่อวางแผนจัดการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรของอาชีวศึกษา (ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ วรวนา หัวหิน โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พล.อ.สุรเชษฐ์​ ชัย​วงศ์​ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการพัฒนาแผนจัดการศึกษาสู่การปฏิบัติ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สถานประกอบการ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ทั้งระดับกลุ่มจังหวัด ระดับภาค และในระดับประเทศ ซึ่งครั้งนี้เป็นการดำเนินการของภาคกลาง ที่จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับภาคอื่น ๆ ของประเทศต่อไป

การจัดประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงแรงงาน วางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ในระยะแรก ได้มีการวางแผนและขยายผลสู่ความสำเร็จในพื้นที่ EEC พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก” เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงาน (Demand Side) การวางแผนการจัดการเรียนการสอน เน้นมีทักษะฝีมือตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน มีงานทำหลังจบการศึกษา และมีอาชีพสู่มาตรฐานสากล เมื่อปรากฏภาพความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ขยายผลการจัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ ไปสู่ภาคอื่น

ในปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานฯ ประกอบด้วย 1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภูมิภาค และ 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด พร้อมนำระบบรวบรวมข้อมูล Big Data System มาใช้เพื่อเก็บข้อมูลความต้องการกำลังคนไว้ในที่เดียวกัน ทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชา จำนวนความต้องการ จำนวนผู้จบการศึกษาแต่ละสาขา เป็นต้น โดยมีการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลระหว่างสถานศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนด้านทรัพยากร ด้านวิชาการ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลจะถูกต้องแม่นยำเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ในการเก็บและนำข้อมูลเข้าสู่ระบบให้ทันต่อการนำไปใช้วางแผนหรือไม่ ซึ่ง ศธ.ได้วางเป้าหมายเร่งจัดทำข้อมูล Big Data System ให้แล้วเสร็จทันต่อการวางแผนจัดการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรของอาชีวศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำการทำงานด้วยเอกภาพแห่งความพยายาม (Unity of Effort) กล่าวคือ “ให้ทำงานร่วมกันเป็นทีม อย่างมีเป้าหมาย บนฐานความเข้าใจในเรื่องเดียวกัน และถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง” ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของงาน และเชื่อมั่นว่า “การอาชีวศึกษา” จะเป็นแบบอย่างที่ดีด้านการพัฒนาข้อมูลกำลังคนสายอาชีพ ที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้หรือสถานประกอบการ โดยคาดว่าปีการศึกษา 2562 จะมีผู้เลือกเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 เนื่องจากอาชีวะมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมอาชีวะอาสาช่วยเหลือบริการประชาชนในทุกพื้นที่ ทั้งในช่วงเทศกาลและช่วงสภาวะวิกฤตในเรื่องต่าง ๆ กำลังคนอาชีวะที่มีทักษะฝีมือและทักษะการดำรงชีวิต เพื่อช่วยพัฒนาประเทศ

อีกทั้งการพัฒนาด้านวิชาการอาชีวศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญ และการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ โดยในปีที่ผ่านมาได้นำนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ได้มูลค่าถึง 141 ล้านบาท อีกทั้งสถานศึกษาอาชีวศึกษามีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ผ่านการประกวดมากกว่า 1,000 ชิ้น ถือเป็นผลงานเชิงประจักษ์ทั้งสิ้น

Written by อรพรรณ​ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit ยุทธพงศ์​ เลือก​กลั่น​ดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Graphic/Editor
บัลลังก์ โรหิตเสถียร