ศธ.จับมือฟินแลนด์ สานต่อความร่วมมือ พร้อมพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับนายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ห้องดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ

 width=
 width=
 width=
 width=
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยกระทรวงศึกษาธิการไทยได้มีความร่วมมือกับฟินแลนด์ในหลากหลายมิติ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนและดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดการอบรมครูออนไลน์ร่วมกับมหาวิทยาลัยในฟินแลนด์ จำนวน 3 หลักสูตร คือ 1) หลักสูตร “STEM education for early childhood and primary teachers” ของ University of Helsinki, 2) หลักสูตร “Media skills in digital learning environments” ของ University of Eastern Finland และ 3) หลักสูตร “Research-based Professional Development Courses” ของ Oulu University Teacher Training School ซึ่งได้เริ่มดำเนินการอบรม เมื่อเดือนมกราคม 2564 และมีกำหนดการเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางที่จะรับฟังความเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมอบรมดังกล่าว เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดสำหรับเตรียมการอบรมต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมมือกับสถาบันการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ในการส่งเสริมปลูกต้นไม้และสร้างพื้นที่สีเขียวในสถานศึกษา เพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา ตลอดจนขอความร่วมมือจากฟินแลนด์ในการเข้ามามีส่วนร่วมจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานด้วยการ upskill และ reskill เพราะในปัจจุบันมีคนตกงานจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หากเราสามารถ upskill และ reskill กำลังคนให้มีทักษะที่สามารถประกอบอาชีพในโลกยุคปัจจุบันได้ ก็จะช่วยให้อัตราการว่างงานในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการจะประสานความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งดำเนินการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้ทั้งสองฝ่ายสามารถดำเนินการโครงการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยและฟินแลนด์มีความร่วมมือด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยฟินแลนด์ยินดีให้ความร่วมมือและพร้อมที่จะสานต่อโครงการต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการปลูกฝังจิตสำนึก และการพัฒนาการเรียนการสอนที่อยู่ภายใต้หลักการความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์การแก้ปัญหาด้านมลพิษของโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการบริหารจัดการขยะหมุนเวียน เป็นต้น

นอกจากนี้ การประชุมออนไลน์ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งฟินแลนด์ เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการสถานศึกษาให้กับผู้บริหารสถานศึกษาของไทย ซึ่งฟินแลนด์ให้ความสำคัญและมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการสถานศึกษา รวมทั้งหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจกรรมพลศึกษาในโรงเรียน และการปฏิรูปการศึกษาในฟินแลนด์ด้วยการขยายเวลาการศึกษาภาคบังคับจาก 16 ปี เป็น 18 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษาด้วย

 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
8/3/2564