ศธ. ต่อยอดการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย “สัมฤทธิผล ก้าวไกล ในระดับนานาชาติ”

เมื่อวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพิธีเปิดงาน “10 ปี การพัฒนาต่อยอดโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตามอุดมการณ์” โดยมี H.E. Mr. NASHIDA Kazuya เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, H.E. Mr. Taha Macpherson เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย, นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ ห้อง Jupiter โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดี กรุงเทพมหานคร



รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ สร้างเยาวชนที่มีคุณภาพให้ประเทศ ทั้งในเรื่องของความสำเร็จในการประเมินคุณภาพการศึกษานานาชาติ PISA, การเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ, ผลงานโครงการของนักเรียนที่จดอนุสิทธิบัตร เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จึงขอให้สานต่อการดำเนินงานและยกระดับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงเตรียมแนวทางการพัฒนาเด็กนักเรียนที่มีความเป็นเลิศ เพื่อให้เด็กเหล่านี้เข้ามีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในอนาคต
“โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สามารถเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่น ๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ หากเราสามารถนำต้นแบบนี้ไปพัฒนาสถานศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ หรือสนับสนุนให้สถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศ ดูแลและให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งแบ่งปันทรัพยากรด้านการศึกษา ตลอดจนสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนต่าง ๆ ร่วมกันกับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง ก็จะส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่นั้น มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ ขอขอบคุณหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาการศึกษา สร้างเยาวชนที่มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำที่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู สนับสนุนให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งทักษะด้านวิชาการ ดนตรี และกีฬา ส่งผลให้เด็กมีความสามารถรอบด้าน และมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันด้านต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการกระตุ้นและทำให้เด็กเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ นอกจากนี้ นักเรียนได้นำปัญหาของท้องถิ่นมาทำการวิจัย และช่วยแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่ จึงเป็นการต่อยอดการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในทุกด้าน
“เด็กไทยมีความรู้ความสามารถ รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับสากล โดยกระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางที่จะขยายผลความร่วมมือระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ผ่านโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อสร้างพื้นฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ปัจจุบัน โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ตามภูมิภาคของประเทศไทย จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล










อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว, ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
25/11/2563