ศธ. สานต่อความร่วมมือยูนิเซฟ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับนางคิม คยองซัน (Ms. Kyungsun Kim) ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ห้องดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ
 width=
 width=
 width=
 width=
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการและองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่จะสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ครูได้มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนได้

ในส่วนของการจัดสรรวัคซีน COVID-19 นั้น ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก ที่สามารถบริหารจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างดี โดยยินดีที่จะสนับสนุนข้อคิดเห็นของยูนิเซฟ ในการส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 เนื่องจากครูเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนอยู่เสมอ

“กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับ UNRC, ITU, UNICEF และ UNESCO จัดทำงานวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในสถานศึกษา ซึ่งได้ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนนำร่อง จำนวน 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านใหม่ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และโรงเรียนบ้านแก่งจอ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ตลอดจนร่วมกันดูแลและให้ความช่วยเหลือเด็กตกหล่นหรือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา จึงถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญที่ได้ดำเนินการร่วมกับยูนิเซฟด้วย” คุณหญิงกัลยา กล่าว

นางคิม คยองซัน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมจึงเป็นสิ่งที่ยูนิเซฟให้ความสำคัญเสมอมา ซึ่งขณะนี้ยูนิเซฟกำลังรวบรวมรายละเอียดข้อมูลโครงการต่าง ๆ ให้มีความเป็นเอกภาพในการประสานงาน และมีความพร้อมในการดำเนินงานกับทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม โดยจะประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสานต่อและดำเนินความร่วมมือโครงการต่าง ๆ ร่วมกันต่อไป ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญ ยูนิเซฟให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาในช่วงวิกฤต COVID-19

ทั้งนี้ ประเทศไทยและยูนิเซฟได้ดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาในหลากหลายมิติ อาทิ การเรียนรู้ด้านดิจิทัลและการจัดการศึกษาด้านเทคโนโลยีด้วยความเสมอภาค, การศึกษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานและการศึกษาแบบพหุภาษา, การให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารและเด็กข้ามชาติ, การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล, การส่งเสริมการอ่านและการรู้หนังสือในประเทศไทย, การส่งเสริมความปลอดภัยในโรงเรียนและสุขภาพจิตเพื่อสนับสนุนประสิทธิผลทางการเรียนรู้, การผลิตเอกสารคู่มือครูในการส่งเสริมความรู้ด้าน COVID-19 เป็นต้น

 width=
 width=
 width=
 width=
.
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
22/3/2564