
เมื่อวันพุธที่ 7 ตุลาคม 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมงาน “อาชีวศึกษายกกำลังสอง” ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินงาน และส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนการสอนในโลกยุคปัจจุบัน มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม การเรียนอาชีวศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การมุ่งเน้นการฝึกประสบการณ์ และการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จากสถานที่ปฏิบัติงานจริง เพราะการเรียนรู้จากการทำงานจริงจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และฝึกฝนตนเองให้สามารถปรับตัว ปรับความคิดและวิสัยทัศน์ พร้อมสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ๆ ให้กับประเทศ
การศึกษามีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ โดยทุนมนุษย์ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ จึงจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้ง รัฐบาลมีแนวทางที่จะพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงมีแผนในการเชื่อมโยงท่าอากาศยาน และท่าเรือระหว่างภูมิภาคทั้ง 6 ภาค เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ของอาเซียน
ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางดังกล่าว จำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ การศึกษาจึงเป็นฐานรากของการผลิตกำลังคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อันจะส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีอาชีพที่มั่นคง ในขณะเดียวกันตลาดแรงงานก็ได้กำลังคนที่สามารถสนับสนุนการทำงานในสาขาต่าง ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาไทย พร้อมยกระดับและขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศ ในการผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ ด้วยการ “ปลดล็อก” การเรียนรูปแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์การทำงาน ทำให้เกิดช่องว่างทางทักษะ (Skill Gap) ที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง พร้อม “ปรับเปลี่ยน” เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่จำเป็นเข้าสู่ระบบการศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และ “เปิดกว้าง” ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านอาชีวศึกษา
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีแนวทางที่จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) อันจะส่งผลต่อการยกระดับศักยภาพกำลังคนอาชีวศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการ จำนวน 32 แห่ง ในการร่วมพัฒนาหลักสูตรในรูปแบบ “1 เอกชน ต่อ 1 วิทยาลัย” ใน 7 สายงานหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี (Petrochemical), เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology), หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics), เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry), อุตสาหกรรมระบบราง (Railway Industry) และยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive), ธุรกิจโรงแรมและบริการ (Hospitality Industry)
ซึ่ง สอศ. ตั้งเป้าหมายจัดตั้งศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา จำนวน 50 แห่ง ภายในปี 2563 และคาดว่าจะจัดตั้งครบ 100 แห่ง ในปี 2564 โดยมุ่งเน้นการเพิ่มพูนทักษะและเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริง พัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญในการทำงาน (Hard Skills) และทักษะความคิดและอารมณ์ (Soft Skills) ที่สอดคล้องกับโลกของการทำงาน โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนอาชีวศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต
สำหรับการจัดงาน “อาชีวศึกษายกกำลังสอง” ในครั้งนี้ มีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและผู้แทนสถานประกอบการชั้นนำ เข้าร่วมงาน อาทิ นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา, บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด, บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท แอลดี ไดแด็คติค (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เมนเทล จำกัด, บริษัท ยูบีเทค โรโบติกส์ คอร์ป จำกัด, บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีสะแก้ว, อิทธิพล รุ่งก่อน, ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
7/10/2563