ศูนย์ผลิตพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC

จังหวัดชลบุรี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ศูนย์ย่อย) จังหวัดชลบุรี (EEC TVET Career Center : CHONBURI) ของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2560

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า การเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อต้องการมารับฟังผลการดำเนินงาน ข้อเสนอแนะ และปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดชลบุรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนตามศักยภาพ บริบท จุดแข็ง และโอกาสในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับการประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 20 ปี พร้อมทั้งเป็นหน่วยงานหลักทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสำรวจการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับแผนงานของรัฐบาล เพื่อเตรียมกำลังคนให้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ด้วย

ซึ่งจากการรับฟังรายงานการดำเนินงานของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ในฐานะเป็นศูนย์ย่อย ถือว่าการดำเนินงานมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งการจัดการศึกษาในสาขาวิชากลุ่ม Local Need พร้อมเปิดหลักสูตรในสาขาวิชารองรับ 10 อุตสาหกรรมหลักภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ พร้อมสำรวจความต้องการแรงงานอาชีวศึกษาในกลุ่มอุตสาหกรรม First S-Curve และ New S-Curve เพื่อวางแผนจัดการศึกษาและเชื่อมโยงระบบส่งต่อผู้เรียนร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดชลบุรี เพื่อเติมเต็มความรู้และทักษะให้ครบถ้วนตามหลักสูตร พร้อมที่จะส่งกำลังคนเข้าสู่โลกของการทำงานตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี ยังได้เปิดหลักสูตรวิชาชีพสมรรถนะ (E to E) และหลักสูตรรองรับอุตสาหกรรมหลักในด้านต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการยกระดับขีดความสามารถกำลังคนเพื่อไปพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่

จึงขอย้ำถึงความสำคัญในการดำเนินงานประการหนึ่งว่า ศูนย์ประสานงานฯ ต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งเป็นบทบาทหลักอยู่แล้ว ในส่วนของการทำงานให้ประสบความสำเร็จ จะต้องเน้นความเชื่อมโยงบูรณาการตลอดจนประสานงานอย่างแน่นแฟ้น ระหว่างสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดและสำนักงาน กศน.จังหวัด เพื่อส่งต่อและเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ควรมีการทบทวนความต้องการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ เพื่อปรับและจัดการดำเนินงานการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด และสิ่งที่ย้ำอยู่เสมอก็คือ การสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เพราะเรามิได้ทำงานเพียงลำพัง แต่ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ทั้งองค์กรหลัก หน่วยงานในกำกับ โรงเรียน สถานศึกษา กระทรวงต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน และประชาสังคม จึงควรที่จะต้องสร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของภาครัฐ รัฐบาล และตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์การทำงาน ก็คือเรียนอาชีวะจบแล้ว มีงานทำ มีรายได้ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ในอนาคตจะต้องเตรียมปรับแผนการทำงานให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ระดับภาค ที่มีลักษณะการพัฒนาเป็นกลุ่มจังหวัด ซึ่งรวมการผลิตกำลังคนด้านอาชีวะไว้ด้วยแล้ว แต่จะมีมิติการทำงานกว้างกว่างานด้านเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดของ EEC เท่านั้น แต่ก็ยังใช้ขั้นตอนและกระบวนการทำงานของ EEC เป็นต้นแบบขยายการทำงานในระดับภาคต่อไปได้


กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี ศธ.
6 พฤศจิกายน 2560