สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนสิริพัฒนา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน

เมื่ออังคารวันที่ 17 มีนาคม 2563 เวลา 09.02 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เฝ้ารับเสด็จฯ และกราบบังคมทูลถวายรายงาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนสิริพัฒนา ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนน่านปัญญานุกูล และตรวจความพร้อมเตรียมการรับเสด็จฯ ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดน่าน โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายวุฒิศักดิ์ เหล็กคำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา ประชาชน และนักเรียน ร่วมเฝ้ารับเสด็จ

 width=

 width=

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช. ศึกษาธิการ กราบบังคมทูลถวายรายงานตอนหนึ่งว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 เดิมชื่อ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์น่าน เป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส มีลักษณะเป็นโรงเรียนประจำสหศึกษา โดยรัฐจัดงบประมาณเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานทั้งหมด ในด้านจัดบริการหอพัก อาหาร การรักษาพยาบาล เครื่องแต่งกายตลอดจนอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยผู้ปกครองไม่เสียค่าใช้จ่าย

“อาคารสิริพัฒนา” หลังนี้ ได้รับงบประมาณการก่อสร้างจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ประโยชน์ สำหรับเป็นห้องเรียน เป็นห้องประชุม และห้องสำนักงาน โดยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม “อาคารสิริพัฒนา” หมายถึงอาคารซึ่งเป็นแหล่งความเจริญและเป็นมงคล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 width=

ทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณรับพระราชทานเข็มที่ระลึก จำนวน 120 ราย

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดแพรคลุมป้ายอาคาร “สิริพัฒนา” และทอดพระเนตรโครงการพัฒนาวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพระหว่างเรียน อาทิ งานผ้าปักกองหลวง งานทอผ้าซาโอริ งานผ้าปักมือที่ประยุกต์ลวดลายล้านนามาเขียนลาย และปักบนผ้าพื้นเมือง การทำผ้าเขียนเทียน ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง การนวดแผนไทย หลักสูตรวิชาชีพช่างไฟฟ้า (ทวิศึกษา) และเครื่องยนต์

 width=

 width=

นอกจากนี้ ทรงทอดพระเนตรการจัดทำเพจจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน ในชื่อ “ปั้นดอย 56” , ศูนย์จัดการเรียนรู้ช่างเครื่องเงิน, ผลงานของนักกีฬารักบี้ฟุตบอลหญิง, โครงการพจนานุกรมภาษาชนเผ่า ทั้งยังพระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียนทุนพระราชทาน โครงการบัณฑิตคืนถิ่นหลักสูตรปริญญาตรีการศึกษาบัณฑิตวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 14 คน เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินสมทบทุนโครงการบัณฑิตคืนถิ่นฯ

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 โดยมีนายอภัย จันทรวิมล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2517 โดยรับนักเรียนจากเขตพื้นที่บริการจังหวัดน่าน และแพร่ จัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กด้อยโอกาส แบบพักนอนประจำ ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ นักเรียนส่วนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา และกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น เม้ง มลาบรี ขมุ และเมี่ย

 width=

 width=

 width=

เวลา 11.00 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช. ศึกษาธิการ ได้เดินทางไปโรงเรียนน่านปัญญานุกูล เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสิตปัญญาและบกพร่องทางการได้ยิน ในระดับปฐมวัย ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประเภทนักเรียนประจำ และ ไป – กลับ รับนักเรียนจากเขตพื้นที่บริการจังหวัดน่าน และพะเยา

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังจากการตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนว่า ขอชื่นชมและขอบคุผู้อำนวยการ ครู และบุคลากร ทุกคนที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่น ทุ่มเท แรงกายแรงใจ ร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและบกพร่องทางด้านการได้ยิน ให้มีทักษะความรู้ ความสามารถในแต่ละด้านที่ถนัด เช่น การอาชีพ กีฬา ศิลปะ ดนตรี ขณะเดียวกันได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งเด็กจะเก่งได้ก็เพราะมีผู้อำนวยการ ครู ที่มีความรู้ความสามารถพิเศษ มีจิตใจเมตตาเป็นกุศล เสียสละเวลาตลอด 24 ชั่วโมงในการดูแลเด็กเหล่านี้ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นลูกหลานของตนเอง

 width=

 width=

 width=

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ตนได้ผลักดันให้เด็กทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยต้องได้เรียนโค้ดดิ้ง (Coding) และได้มอบสถาบันส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พัฒนาหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว โดยโรงเรียนสามารถนำหลักสูตรดังกล่าวมาประยุกต์พัฒนาการเรียนการสอนให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและบกพร่องทางด้านการได้ยินได้ เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้ก้าวทันเทคโนโลยีและโลกยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“สำหรับการเรียน Coding ในชั้นปฐมวัยและประถมศึกษา จะเป็นการเรียนแบบ Unplug Coding คือ การเรียนโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ แต่สามารถเรียนจากการใช้เกม แผนภาพ หรือสิ่งที่มีอยู่ตามความพร้อมของโรงเรียนมาฝึกเด็กให้เกิดทักษะในการอ่าน การคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีตรรกะ มีเหตุมีผล คิดเชิงวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน กล้าตัดสินใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้” รมช. ศึกษาธิการ กล่าว

 width=

 width=

จากนั้น คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายวุฒิศักดิ์ เหล็กคำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และ ผู้บริหารสถานศึกษา ได้เดินทางไปที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดน่าน เพื่อตรวจการเตรียมความพร้อมรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิด “อาคารนันทปัญญาทร ” ในวันที่ 18 มีนาคม 2563

 width=

 width=

 width=

 

 width=

ณรีรัตน์ บุญหลัง: สรุป/เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว, ประชาสัมพันธ์โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
20/3/2563