การบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็กเยาวชนและครอบครัว
ในกระบวนการยุติธรรม : CPC
โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “กลไกกระบวนการยุติธรรมแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการแก้ไขพฤติกรรมเด็กในกระบวนการยุติธรรม” ในงานสัปดาห์กระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนสู่มิติใหม่ (Juvenile Justice Week) เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2559 จัดโดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNICEF)

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมกับการริเริ่มโครงการบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัวในกระบวนการยุติธรรม (Project on Enhancing Co-Operation in Protecting the Rights of Children in Conflict with the Law : CPC) โดยเห็นว่าการเริ่มต้นโครงการนี้แม้จะมีจิตอาสาจำนวนน้อยอยู่ก็ตาม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่กระบวนการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่เราจะสร้างระบบขึ้นมาได้อย่างครบวงจร เพราะต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรบุคคลสนับสนุนอย่างมหาศาล จึงขอให้กำลังใจกับผู้ทำงานทุกคน ที่จะเดินหน้าต่อไปเพื่อไปสู่เป้าหมาย คือ “ให้การดูแลเด็กเป็นหน้าที่ของทุกคนโดยอัตโนมัติได้จริง”
นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงนโยบายในการช่วยเหลือเด็กที่กระทำความผิดด้วยว่า การจะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ต้องคำนึงถึงทรัพยากรและศักยภาพ เช่น การจะขอให้มีนักสหวิชาชีพเพิ่มขึ้นทั้งประเทศทันที คงจะไม่มีวันเป็นไปได้ แต่สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ต่อจากนี้คือ กรณีที่เด็กถูกศาลตัดสินว่ากระทำความผิดอย่างรุนแรง ผู้อำนวยการโรงเรียนควรจะต้องจัดประชุมร่วมกับนักสหวิชาชีพก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องใดๆ ลงไป เพราะแต่เดิมเมื่อเด็กมีปัญหาเกิดขึ้น โรงเรียนจะตัดสินใจโดยการไล่เด็กออก
ดังนั้น จากนี้ไปขอให้ทุกกรณีการกระทำความผิดของเด็กที่มีความรุนแรงและผ่านระบบศาลมาแล้ว ต้องเริ่มต้นด้วยการประชุมสหวิชาชีพ บุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มีการตัดสินใจโดยพลการ และเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่
นอกจากนี้ ในระดับจังหวัดยังมีกลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ควรจัดให้มีระบบติดตามคำสั่งของศาล พร้อมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและข้อมูลการกระทำผิดของเด็กในพื้นที่ที่เข้าสู่กระบวนการ CPC ด้วย เพื่อช่วยสร้างความรับผิดชอบในการช่วยเหลือเด็กแต่ละพื้นที่ได้ และหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง จะเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการทำงานด้านยุติธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเกิดทรัพยากรเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นนโยบายได้ในที่สุด จึงขอให้กระทรวงยุติธรรมรับแนวทางการประชุมสหวิชาชีพดังกล่าว ไปหารือร่วมกับผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“สัปดาห์กระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนสู่มิติใหม่
เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ
บูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและครอบครัวในกระบวนการยุติธรรม
(Project on Enhancing Co-Operation
in Protecting the Rights of Children in Conflict with the Law : CPC)
เพื่อสร้างระบบช่วยเหลือเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้สามารถหลุดจากปัญหา
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีความสุข
โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาได้มีจิตอาสาจากหลายฝ่ายและหลายหน่วยงานร่วมดำเนินการ
ช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคลแล้ว จำนวน 51 กรณี”
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น : ถ่ายภาพ
16/9/2559